สาเหตุของกลิ่นปาก และวิธีดูแลช่องปากให้สะอาด ปากไม่เหม็น

กลิ่นปากเป็นปัญหาที่ลดความมั่นใจในการพูดคุยกับคู่สนทนาได้ไม่น้อย คงไม่มีใครอยากเห็นคู่สนทนาต้องเบือนหน้าหนี เพราะกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่สุดแสนจะอบอวลทุกครั้งที่อ้าปาก การดูแลช่องปากให้ลมหายใจสะอาดจะเพิ่มความมั่นใจในการสื่อสารได้อย่างเต็มที่ และปัญหากลิ่นปากแก้ไขได้ไม่ยากด้วยตัวเอง 

สาเหตุของกลิ่นปาก และวิธีดูแลช่องปากให้สะอาด ปากไม่เหม็น

ตัวการของกลิ่นปากมาจากไหน

กลิ่นปากเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ทางลมหายใจที่ทำให้คนรอบข้างได้กลิ่นเมื่อพูดหรือหายใจออกมา ต้นตอของกลิ่นปากมาจากหลายสาเหตุ ดังนี้

ไม่รักษาสุขอนามัยภายในช่องปาก

การรักษาความสะอาดความสะอาดในช่องปากที่ไม่ดีพอ เช่น แปรงฟันไม่เกลี้ยง ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคที่เรียที่ก่อตัวขึ้นบนฟันและซอกฟัน ลิ้น หรือเหงือก เมื่อรวมกับคราบเศษอาหารที่ตกค้างภายในช่องปากจากการรับประทานก็สามารถเกิดก๊าซเหม็นที่เป็นที่มาของกลิ่นปากได้

รับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง

อาหารที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม พริก เครื่องดื่มอย่างกาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นออกมาจากทางปาก และลมหายใจได้เช่นกัน เนื่องจากสารเหล่านั้นได้ซึมเข้าสู่กระแสเลือด

ไม่ได้รับประทานอาหารเป็นเวลานาน

การงดอาหารที่มีพลังงานสูงทันทีทันใดในช่วงเวลาหนึ่งอาจก่อให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน เพราะร่างกายขาดไขมันที่เป็นตัวผลิตสารที่ชื่อว่าคีโตน (Ketones) ซึ่งเป็นตัวการของกลิ่น

ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายน้อยลง

อาการปากแห้งจากต่อมน้ำลายที่ผลิตน้ำลายน้อยลงกว่าปกติ ทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดีพอ จนอาจเกิดการตกค้างของเศษอาหาร เมื่อรวมกับเชื้อแบคทีเรียภายในปากก็สามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้

การสูบบุหรี่ 

นอกจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนสูบและคนรอบข้าง ก่อให้เกิดโรคเหงือกและฟันแล้ว การสูบบุหรี่หรือใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบต่าง ๆ ทำให้กลิ่นของบุหรี่ผสมกับกลิ่นอื่นภายในปากขึ้นได้

ปัญหาสุขภาพ 

ปัญหากลิ่นปากในบางครั้งอาจเป็นสัญญาณความรุนแรงของโรคที่มากขึ้น เช่น โรคประจำตัวที่เกี่ยวกับช่องปาก จมูก ลำคอ การติดเชื้อ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคตับ รวมไปถึงการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มไนเตรท (Nitrate) ที่ช่วยลดอาการเจ็บ แน่นหน้าอก หรือยาเคมีบำบัดบางประเภท

เคล็ดลับง่าย ๆ ในรับมือกับกลิ่นปาก 

สิ่งสำคัญในขจัดกลิ่นปากคือการดูแลความสะอาดภายในช่องปากอย่างถูกสุขอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปรงฟันและการทำความสะอาดซอกฟัน รวมไปถึงหาสาเหตุการเกิดของกลิ่นที่แท้จริงถึงจะช่วยให้กลิ่นปากหายไปอย่างถาวร คำแนะนำเหล่านี้จะช่วยให้คุณรับมือกับกลิ่นปากได้ง่ายขึ้น 

หลีกเลี่ยงอาหารกลิ่นแรง 

ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทที่มีกลิ่นแรง เช่น หัวหอม กระเทียม หรือเครื่องเทศต่าง ๆ ที่ผสมอยู่ในอาหาร เพราะสามารถก่อให้เกิดกลิ่นปากได้หลังรับประทานอาหาร โดยสารเหล่านี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและผ่านไปยังปอด ก่อให้เกิดเป็นลมหายใจที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาได้ การรับประทานอาหารจึงควรมีการจำกัดปริมาณไม่ให้มากเกินไป หรืออาจแปรงฟันหลังรับประทานอาหารก็สามารถช่วยได้

ดื่มน้ำบ่อย ๆ 

การดื่มน้ำเปล่าหลังมื้ออาหารจะช่วยชะล้างแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดกลิ่นและขจัดเศษอาหารที่ตกค้างระหว่างซอกฟัน รวมไปถึงป้องกันอาการปากแห้ง หากเร่งรีบหรือไม่มีเวลาแปรงฟันหลังการรับประทานอาหารควรดื่มน้ำมาก ๆ  

ลดการดื่มแอลกอฮอล์ 

การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์ เบียร์ ในปริมาณมากเกินจะยิ่งเป็นตัวการทำให้เกิดอาการปากแห้ง และเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดลมหายใจที่มีกลิ่นเหม็นได้ยาวนาน 8–10 ชั่วโมง หลังจากการดื่ม 

เลิกสูบบุหรี่ 

บุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นอีกตัวการทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ภายในช่องปาก และมีแนวโน้มนำไปสู่โรคเกี่ยวกับเหงือกได้ง่ายขึ้น การเลิกสูบบุหรี่และหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาความสะอาดของช่องปาก หรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาล อาจจะช่วยให้กลิ่นปากลดลงได้ และยังทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย

แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง 

ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังตื่นนอนและก่อนนอน โดยเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม หัวแปรงเรียวเล็กที่สามารถเข้าทำความสะอาดได้ทุกซอกมุมภายในช่องปาก และยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 

นอกจากนี้ควรแปรงให้ทั่วถึงทั้งด้านใน ด้านนอก โคนฟันของแต่ละซี่ และลิ้น ซึ่งก็เป็นแหล่งที่สะสมของแบคทีเรียได้เช่นกัน การแปรงฟันควรแปรงอย่างน้อย 2 นาที ไม่ควรรีบร้อนจนเกินไป เพราะจะทำให้แปรงได้ไม่ทั่วถึง  

เปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3–4 เดือน 

การใช้แปรงสีฟันอันเดิมติดต่อกันหลายเดือนโดยไม่ยอมเปลี่ยนจะยิ่งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียมากยิ่งขึ้น เมื่อนำแปรงสีฟันอันเดิมไปใช้ครั้งแล้วครั้งเล่าจะเป็นการกระจายเชื้อที่มีอยู่ในแปรงให้เข้าไปอยู่ในช่องปากได้ง่าย รวมไปถึงขนแปรงที่เกิดเปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิมจะทำให้การทำความสะอาดฟันทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงควรเปลี่ยนแปรงสีฟันใหม่ทุก 3–4 เดือน

ใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟัน 

นอกจากการแปรงฟันบ่อย ๆ ก็ควรทำความสะอาดซอกฟันด้วยเช่นกัน เพราะเศษอาหารหลังการเคี้ยวอาจไปติดอยู่ ใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันที่มีขายทั่วไปหลังการแปรงฟันเป็นประจำ เพื่อช่วยขจัดคราบแบคทีเรียและเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟัน ซึ่งเป็นจุดที่แปรงสีฟันไม่สามารถซอกซอนเข้าถึงได้ 

รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณน้อย 

จำกัดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะขนมหวาน ๆ เพราะอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเป็นแหล่งอาหารโปรดของเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก ทำให้เพิ่มจำนวนแบคทีเรียอย่างรวดเร็วและยังเกิดการสร้างกรดที่เป็นสาเหตุของฟันผุ ซึ่งสามารถทำให้เกิดกลิ่นได้เช่นกัน

ตรวจสุขภาพของช่องปากประจำปี 

ควรตรวจสุขภาพในช่องปากเป็นประจำทุกปี เพื่อขจัดคราบฟันหรือหินปูนที่สะสมบนฟันให้หลุดออก รวมไปถึงหากตรวจพบโรคเกี่ยวกับฟันหรือเหงือกได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสหายขาดได้มากเท่านั้น 

รักษาโรคที่เป็นต้นตอให้เกิดกลิ่น 

บางครั้งกลิ่นปากอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือปัญหาทางสุขภาพ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร โรคกรดไหลย้อน โรคไต โรคเบาหวาน จึงควรพบแพทย์เพื่อหาว่าเป็นสัญญาณของโรคที่ซ่อนอยู่หรือไม่ 

นอกจากนี้การรับประทานยาบางประเภทอาจมีผลต่อการเกิดกลิ่นได้ เช่น ยาแก้แพ้หรือยาแอนติฮิสตามีน ยาพวกไนเตรทอย่างยาอมใต้ลิ้นในผู้ป่วยโรคหัวใจหรือยาเคมีบำบัดบางประเภท ผู้ที่กังวลอาจลองปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงจากการรับประทานยา