เรื่องควรรู้ก่อนกินเมลาโทนิน เพื่อช่วยการนอนหลับ

หลายคนอาจรู้จักเมลาโทนิน (Melatonin) ในรูปแบบอาหารเสริมที่ช่วยในการนอนหลับ แต่จริง ๆ แล้วเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เองจากต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ในสมอง เพื่อควบคุมวงจรการนอนหลับตามนาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) ซึ่งเป็นวงจรช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

การหลั่งเมลาโทนินตามธรรมชาติจะสัมพันธ์กับความมืดและแสงสว่าง โดยความมืดจะกระตุ้นการหลั่งสารเมลาโทนิน ทำให้เรานอนหลับในเวลากลางคืน ในขณะที่แสงสว่างและแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ อาจยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน ทำให้นอนหลับยากขึ้น รวมทั้งผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่พบการหลั่งเมลาโทนินลดลง

เรื่องควรรู้ก่อนกินเมลาโทนิน เพื่อช่วยการนอนหลับ

เนื่องจากกฎหมายของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้หลายคนอาจพบเห็นเมลาโทนินในรูปแบบอาหารเสริมหรือรูปแบบอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยจัดให้เมลาโทนินอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ ซึ่งอนุญาตให้ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลหรือสั่งจ่ายภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น 

การใช้เมลาโทนินรักษาโรค

เมลาโทนินไม่ได้ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับโดยตรง แต่ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น จึงนำมาใช้ในผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับจากภาวะต่าง ๆ ดังนี้

เจ็ตแล็ก (Jet Lag)

เจ็ตแล็กเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวเมื่อเดินทางข้ามเขตเวลา อย่างการนั่งเครื่องบินเวลานาน ทำให้เกิดความผิดปกติด้านการนอน เช่น นอนไม่หลับตอนกลางคืน อ่อนเพลียตอนกลางวัน มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อารมณ์แปรปรวน สมาธิ ความจำ และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง 

งานวิจัยบางส่วนศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการใช้เมลาโทนินและยาหลอกในผู้ที่มีอาการเจ็ตแล็ก ผลพบว่าการใช้เมลาโทนินช่วยเพิ่มความความตื่นตัว และบรรเทาอาการง่วงนอนตอนกลางวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา (Delayed Sleep Phase Syndrome)

กลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลาเป็นความผิดปกติของการนอนที่ผู้ป่วยจะเริ่มง่วงหลังจากเวลาเข้านอนของคนทั่วไป โดยมักจะหลับช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป และไม่สามารถตื่นในตอนเช้าหรือเวลาปกติที่ควรตื่น หากถูกปลุกให้ตื่นจะรู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนมากในตอนกลางวัน โดยผลการวิจัยระบุว่าเมลาโทนินอาจช่วยให้การนอนหลับของผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ดีขึ้น โดยทำให้ง่วงเร็วขึ้น

โรคนอนไม่หลับ

เมลาโทนินอาจนำมาใช้ในการบรรเทาหรือรักษาโรคนอนไม่หลับในผู้ที่มีภาวะต่าง ๆ เช่น

  • ผู้สูงอายุที่ร่างกายหลั่งเมลาโทนินลดลง จากงานวิจัยพบว่าการใช้เมลาโทนินมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนในคนอายุมากกว่า 55 ปีที่มีอาการการนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary Insomnia) หรือนอนไม่หลับชนิดไม่ทราบสาเหตุชัดเจนได้ 
  • คนที่มีปัญหานอนไม่หลับหลังการผ่าตัด
  • คนที่มีภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder หรือ SAD)
  • คนที่ทำงานเป็นกะ โดยเข้างานในช่วงกลางคืน ทำให้มีปัญหาการนอนหลับ

เมลาโทนินชนิดสังเคราะห์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาในประเทศไทยคือ เมลาโทนินรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่นขนาด 2 มิลลิกรัม ซึ่งจะปลดปล่อยตัวยาออกมาทีละน้อย และสามารถเลียนแบบการหลั่งของเมลาโทนินตามธรรมชาติของร่างกายได้ดี 

ปริมาณและระยะเวลาการใช้เมลาโทนินขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยเป็น โดยส่วนมากแพทย์มักให้รับประทานก่อนเข้านอน เช่น การใช้รักษาอาการนอนไม่หลับปฐมภูมิระยะสั้นในผู้ป่วยอายุ 55 ปีขึ้นไป ให้รับประทานทานก่อนเข้านอนประมาณ 1 ชั่วโมง รับประทานได้ต่อเนื่องไม่เกิน 13 สัปดาห์

ข้อควรระวังในการรับประทานเมลาโทนิน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่อนุญาตให้ใช้เมลาโทนินเป็นส่วนประกอบในอาหารหรือเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร การใช้เมลาโทนินเพื่อรักษาโรคควรใช้ตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแพทย์จะพิจารณาตามอาการและความรุนแรงของโรค

การใช้เมลาโทนินในระยะยาวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม มึนงง ง่วงนอนตอนกลางวัน ปวดหรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้ มวนท้อง หงุดหงิด และเกิดภาวะซึมเศร้านระยะสั้น 

การรับประทานเมลาโทนินมีข้อห้ามและข้อควรระวัง ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้เมลาโทนินหรือยาอื่น รวมถึงมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต รูมาตอยด์โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน 
  • ไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรหลังจากรับประทานเมลาโทนิน
  • การรับประทานเมลาโทนินอาจทำให้อาการของบางโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า ภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding Disorders) และกลุ่มอาการชัก
  • ผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เมลาโทนิน 
  • เมลาโทนินอาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) ยากันชัก (Anticonvulsant) ยารักษาความดันโลหิตและโรคเบาหวาน
  • การใช้เมลาโทนินในเด็กอาจไม่ปลอดภัย เนื่องจากอาจกระทบกับฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกาย และอาจรบกวนพัฒนาการของร่างกายในช่วงที่เป็นวัยรุ่น การใช้เมลาโทนินในเด็กและวัยรุ่นจึงต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน เช่น นอนให้เป็นเวลา ไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ที่ทำให้นอนหลับยาก และไม่ควรซื้ออาหารเสริมเมลาโทนินมารับประทานเอง หากปรับพฤติกรรมแล้วยังมีอาการนอนไม่หลับ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาที่เหมาะสม