การเลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะสมกับเท้าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะรองเท้าที่หลวมหรือคับแน่นเกินไปอาจทำให้นักวิ่งหรือผู้ที่ชื่นชอบการวิ่งออกกำลังกายบาดเจ็บขณะวิ่งได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรละเลยการดูแลรักษารองเท้าวิ่งหลังการใช้งานด้วย โดยสามารถศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้
ส่วนประกอบหลักของรองเท้าวิ่ง
รองเท้าวิ่งนั้นประกอบไปด้วยหลายส่วนด้วยกัน ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรองเท้าวิ่งสักคู่ จึงควรคำนึงถึงส่วนประกอบสำคัญต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- Outsole เป็นส่วนของพื้นรองเท้าด้านล่างที่สัมผัสกับพื้น
- Insole เป็นส่วนของพื้นรองเท้าที่สัมผัสกับเท้า
- Midsole เป็นส่วนของรองเท้าที่อยู่ระหว่าง Outsole และ Insole
ทั้งนี้ ส่วนสำคัญที่ควรเน้นเป็นพิเศษ คือ Midsole ซึ่งช่วยควบคุมการทรงตัว ลดแรงกระแทก และป้องกันอาการบาดเจ็บต่าง ๆ จากการวิ่ง โดยรองเท้าวิ่งแต่ละยี่ห้อนั้นจะมีชนิดแตกต่างกัน และมีวัสดุในการผลิต Midsole ที่ไม่เหมือนกัน เช่น โพลียูรีเทนโฟม (Polyurethane) เอทิลีนไวนิลอะซีเตดหรืออีวีเอ (Ethylene Vinyl Acetate: EVA) แอร์ยูนิต (Air Unit) และเจลยูนิต (Gel Units) เป็นต้น ซึ่งวัสดุแต่ละชนิดนั้นจะมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างกันไป โดยโพลียูรีเทนโฟมและแอร์ยูนิตจะคงสภาพเดิมและช่วยรองรับแรงกระแทกได้ดีกว่าเอทิลีนไวนิลอะซีเตดและเจลยูนิตเมื่อวิ่งในสภาพอากาศร้อน
เลือกซื้อรองเท้าวิ่งอย่างไร ?
การใส่รองเท้าวิ่งที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดส้นเท้า และอาจทำให้เกิดแผลพุพองได้ ผู้ที่ชื่นชอบการวิ่งจึงควรเลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะกับขนาดเท้าและการใช้งาน เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
รู้จักลักษณะการวิ่งของตนเอง นักวิ่งควรสังเกตว่าตนวิ่งแบบไหน วิ่งแบบลงส้นเท้า หรือวิ่งแบบลงปลายเท้า ซึ่งผู้ที่วิ่งแบบเอาปลายเท้าลงควรเลือกรองเท้าที่มีแผ่นเสริมด้านหน้าเท้า ส่วนผู้ที่วิ่งแบบเอาส้นเท้าลงควรเลือกรองเท้าที่มีแผ่นรองรับแรงกระแทกบริเวณส้นเท้า
เลือกตามประเภทของการวิ่ง ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรองเท้าวิ่ง นักวิ่งควรคำนึงว่าการวิ่งของตนจัดอยู่ในประเภทใด เพื่อเลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง เช่น วิ่งเพื่อสุขภาพ วิ่งเพื่อแข่งขันมาราธอน วิ่งขึ้นเนิน วิ่งบนยางมะตอย วิ่งระยะใกล้ หรือวิ่งระยะไกล เป็นต้น
สังเกตลักษณะอุ้งเท้า นักวิ่งควรรู้ว่าอุ้งเท้าของตนเองมีลักษณะแบบใดก่อนตัดสินใจซื้อรองเท้าวิ่ง เพราะลักษณะอุ้งเท้าแต่ละแบบจะต้องเลือกรองเท้าที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนควรเลือกรองเท้าวิ่งที่ช่วยเพิ่มความเสถียรในการวิ่ง ส่วนผู้ที่มีอุ้งเท้าโก่งควรเลือกซื้อรองเท้าที่มีส่วนเสริมอุ้งเท้าเพื่อรองรับแรงกระแทก เป็นต้น ซึ่งสามารถทดสอบลักษณะของอุ้งเท้าได้ด้วยการใช้น้ำพรมฝ่าเท้าให้พอเปียกแล้วเหยียบลงบนทางเท้าหรือกระดาษ
เลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า รองเท้าวิ่งที่มีขนาดเหมาะสมกับเท้าต้องไม่บีบรัดเท้าเกินไป สามารถสวมใส่พอดีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยความกว้างของเท้าควรแตะขอบของรองเท้าพอดี รวมทั้งควรวัดขนาดเท้าก่อนตัดสินใจซื้อรองเท้าวิ่ง เพื่อช่วยให้ได้รองเท้าที่สวมใส่กระชับพอดีกับเท้า เพราะขนาดเท้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงวัย ขณะเดียวกันรูปเท้าก็อาจเปลี่ยนไปได้เช่นกัน โดยผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนลงอาจต้องเปลี่ยนรองเท้าที่ช่วยเสริมความมั่นคงเป็นรองเท้าที่ช่วยลดแรงกระแทกขณะวิ่ง อย่างไรก็ตาม รองเท้าวิ่งแต่ละยี่ห้ออาจมีขนาดรองเท้าแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบขนาดให้ดีก่อนซื้อเสมอ
เลือกซื้อรองเท้าในตอนเย็น ขนาดของเท้าอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละช่วงเวลาของวัน โดยเวลากลางวันและในขณะวิ่งเท้าจะขยายใหญ่ขึ้น และในช่วงเย็นจะเป็นช่วงที่เท้าขยายใหญ่ที่สุด จึงควรเลือกซื้อรองเท้าในตอนเย็น เพื่อให้ได้รองเท้าที่มีขนาดพอดีและสวมใส่สบายในตอนวิิ่ง
เทียบกับรองเท้าคู่เก่าด้วย อาจนำรองเท้าวิ่งคู่เก่าไปเป็นตัวอย่างในการเลือกซื้อคู่ใหม่ด้วย ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ขายรู้ลักษณะการวิ่งของนักวิ่ง และสามารถแนะนำรองเท้าวิ่งที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น
ลองสวมรองเท้า หลังรู้ลักษณะการวิ่งและลักษณะของอุ้งเท้าแล้ว ผู้ขายอาจแนะนำรองเท้าหลายคู่ให้เลือกใส่ ก่อนการตัดสินใจควรลองใส่รองเท้าหลาย ๆ คู่ โดยให้เลือกคู่ที่สวมใส่สบายและมีขนาดพอดีกับเท้ามากที่สุด รวมทั้งลองสวมแล้ววิ่งดูว่ารองเท้าคู่นั้นบีบรัดเท้าขณะวิ่งหรือไม่
สัญญาณเตือนที่ทำให้รู้ว่าถึงเวลาเปลี่ยนรองเท้าวิ่งคู่ใหม่
การใส่รองเท้าวิ่งที่เสื่อมสภาพอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บหน้าแข้งหรือกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ ซึ่งสัญญาณต่อไปนี้จะบอกให้รู้ว่า ถึงเวลาเลือกซื้อรองเท้าวิ่งคู่ใหม่แล้ว
- มีอาการปวดบริเวณหน้าแข้ง หัวเข่า หรือขาส่วนล่าง โดยเฉพาะผู้ที่บาดเจ็บจากการวิ่งแม้ไม่ได้เปลี่ยนแผนการวิ่งก็ตาม
- สวมรองเท้าคู่เดิมวิ่งเป็นระยะทางกว่า 480-640 กิโลเมตรแล้ว แม้รองเท้ายังมีสภาพดีอยู่ก็ตาม โดยอาจจดบันทึกหรือใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อเก็บระยะทางการวิ่ง
- รองเท้าหรือส่วนประกอบของรองเท้ามีสภาพทรุดโทรม ชำรุด หรือขาด ไม่ว่าจะเป็นพื้นรองเท้า ตัวรองเท้า หรือส่วนอื่น ๆ
วิธีการดูแลรักษารองเท้าวิ่ง
การดูแลรองเท้าวิ่งให้มีสภาพดีอยู่เสมอนั้น อาจช่วยยืดอายุการใช้งานของรองเท้าได้ โดยสามารถทำได้ ดังนี้
- ถอดรองเท้าด้วยการแก้เชือกผูกรองเท้าออก ห้ามถอดรองเท้าโดยการเหยียบส้น เพราะจะทำให้ส้นรองเท้าเสียหาย
- ใส่รองเท้าวิ่งเพื่อไปวิ่งเท่านั้น เพราะการใส่รองเท้าวิ่งไปเล่นกีฬาชนิดอื่นอาจทำให้ส่วนของรองเท้าที่ควบคุมการทรงตัวและลดแรงกระแทกเสื่อมสภาพได้
- หากมีรองเท้าวิ่งหลายคู่ ควรใช้สลับกัน แต่กรณีที่มีรองเท้าวิ่งเพียงคู่เดียว ควรปล่อยรองเท้าวิ่งทิ้งไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ส่วนที่รองรับการกระแทกของรองเท้าฟื้นตัวสู่สภาพเดิม
- หลีกเลี่ยงการวิ่งในขณะที่รองเท้าเปียก เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการรองรับแรงกระแทกของส่วน Midsole ลดน้อยลงประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์