เล่านิทาน กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการและความสัมพันธ์ในครอบครัว

การเล่านิทานเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่ทำร่วมกับลูกๆ ได้ง่ายที่บ้าน เพื่อช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่เพียงเท่านั้น การเล่านิทานยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในหลายด้าน โดยเฉพาะจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

หากอ้างอิงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การเล่านิทานนอกจากจะเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังช่วยพัฒนาจิตใจ อารมณ์ การสื่อสาร และทักษะทางภาษาได้ด้วย หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนสนใจที่จะอ่านนิทานให้ลูกฟัง บทความนี้อาจช่วยให้เข้าใจถึงประโยชน์จากการเล่านิทานมากขึ้น ทั้งยังมีเคล็ดลับในการเล่านิทานให้อีกด้วย

เล่านิทาน กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการและความสัมพันธ์ในครอบครัว

ประโยชน์ของการเล่านิทาน

เราอาจได้ยินประโยชน์ของการเล่านิทานในภาพรวมกันมาบ้าง แต่อาจไม่รู้ถึงรายละเอียดของประโยชน์เหล่านั้น มาดูกันว่าการเล่าหรืออ่านนิทานให้เด็ก ๆ ฟังส่งผลดีอย่างไรบ้าง

1. เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ

เทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวนไม่น้อยที่มีพื้นฐานมาจากความคิดนอกกรอบ สังคมในปัจจุบันจึงให้คุณค่ากับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เด็กกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มักเป็นของคู่กัน

ดังนั้นในโลกยุคใหม่ การเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่ยังเล็กเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ

การศึกษาชิ้นหนึ่งที่ศึกษาความสัมพันธ์ของการเล่านิทานในรูปแบบดิจิทัลและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย  พบว่า การฟังนิทานจะนำเด็ก ๆ ไปสู่ภาวะอารมณ์ในทางบวก เช่น ความสบายใจ ความคิดที่ปลอดโปร่ง ความมั่นใจ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้

การศึกษาชิ้นเดียวกันนี้ชี้ว่า เด็กที่มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งสามารถนำเรื่องราวที่เขาได้ฟังแสดงออกมาทางรูปวาดและนำเรื่องราวเหล่านั้นมาดัดแปลงและต่อยอดเป็นเรื่องราวของเขาเอง อีกทั้งเด็กยังอาจเกิดทักษะในการเล่าเรื่องอย่างมีโครงสร้างที่มีจุดเริ่มต้น จุดกึ่งกลาง และจุดจบของเรื่อง

ดังนั้นการเล่านิทานจึงเป็นวิธีที่ช่วยปูพื้นฐานด้านความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่ช่วยให้เด็กมีความคิดนอกกรอบ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

2. เพิ่มขีดจำกัดในการเรียนรู้

การอ่านและการฟังนิทานเป็นหนึ่งในเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก ๆ ซึ่งเรื่องราวจากนิทานจะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ทางภาษา ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ ไวยากรณ์ การออกเสียง วิธีการสื่อสารและการฝึกพูด อีกทั้งการเล่านิทานยังเป็นวิธีที่ช่วยให้เด็กเริ่มรู้จักการทำความเข้าใจและการรับข้อมูลต่าง ๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในเด็กได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อเด็กเริ่มเข้าไปอยู่ในชั้นเรียนอาจต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะจากเพื่อนร่วมชั้นหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งแน่นอนว่าความเครียดส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้

ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะวิธีง่าย ๆ ในการแก้ไขปัญหานี้ เพียงคุณพ่อหรือคุณแม่โอบกอดลูกไว้ในอ้อมแขนพร้อมกับเล่านิทานให้ฟัง ก็จะช่วยลดระดับของฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียดซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ ด้วยเหตุนี้นิทานจึงไม่ได้เป็นตัวช่วยในการเสริมทักษะเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยลดปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ได้ด้วย

3. พัฒนาอารมณ์และทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

การเตรียมความพร้อมให้กับลูกน้อยสำหรับการเรียนรู้ที่จะอยู่และปรับตัวในสังคมใหม่ที่มีคนอื่น ๆ นอกจากคนในครอบครัวเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้เรียนรู้ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน การเล่านิทานเป็นเครื่องมือที่ไม่เพียงช่วยส่งเสริมทักษะทางความคิด การศึกษา แต่ยังพัฒนาทักษะทางด้านสังคมด้วย

การเล่านิทานช่วยสอนทักษะทางการสื่อสารให้กับเด็กได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งคำพูด ท่าทาง และการแสดงออกทางอารมณ์ ซึ่งอาจช่วยให้เกิดการตอบสนองเมื่อต้องพูดคุย ทำกิจกรรม หรือมีส่วนร่วมกับเพื่อนใหม่ในชั้นเรียน

จินตนาการจากการฟังนิทานอาจช่วยขยายขอบเขตทางความคิดของเด็กจึงช่วยให้เขาเกิดความเข้าใจในตนเองและคนอื่นมากขึ้น ด้วยทักษะทางภาษาและการสื่อสารนี้จึงทำให้เด็กสามารถพูดคุยกับเพื่อนใหม่หรือครู และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมหรือสังคมใหม่ ๆ ได้

งานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าการเล่านิทานให้เด็กที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดฟังอาจช่วยลดความเครียดและความผิดปกติทางพฤติกรรม (Behavioral Disorders) ในช่วงหลังจากการผ่าตัดได้

นอกจากนี้การเล่านิทานก่อนนอนจะช่วยปรับอารมณ์ของเด็กให้นิ่งและผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้ง่ายขึ้น

4. สร้างความสัมพันธ์ที่ดี

การเล่านิทานอาจช่วยเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างคุณพ่อ คุณแม่ และลูกน้อย เพราะเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน แม้เจ้าตัวน้อยจะเริ่มก้าวเข้าสู่วัยเด็กเล็ก แต่การเล่านิทานยังคงเป็นช่องทางที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ร่วมกับลูกได้ นอกจากนี้การเล่านิทานจะช่วยให้เด็กจดจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้ไวขึ้น โดยอาจเริ่มเล่านิทานให้เขาฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์

วิธีเล่านิทานเพื่อเสริมพัฒนาการลูกน้อย

ต่อไปนี้คือเคล็ดลับการเล่านิทานที่อาจช่วยเพิ่มหรือกระตุ้นให้เด็กได้ประโยชน์จากการฟังนิทานมากขึ้น 

  • เริ่มอ่านนิทานให้เด็กฟังตั้งแต่ตั้งท้องหรือแรกเกิด แม้ว่าทารกจะฟังไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจความหมาย แต่มีข้อมูลชี้ว่าการเล่านิทานตั้งแต่ทารกอยู่ในท้องอาจเพิ่มประสิทธิภาพพัฒนาการทางภาษาได้มากกว่าการเริ่มเล่านิทานเมื่อเขาโตขึ้น
  • เลือกหนังสือให้เหมาะกับช่วงวัย เด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน การเลือกเนื้อหาหรือรูปแบบให้เหมาะสมกับช่วงวัยจึงช่วยกระตุ้นพัฒนาการตามช่วงวัยได้มากกว่า
  • อ่านซ้ำ แม้ว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ไว แต่การอ่านนิทานเรื่องเดิมซ้ำ ๆ จะช่วยให้เขาจดจำคำหรือประโยคได้แม่นยำขึ้น
  • ใช้โทนเสียงหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา คำพูด บทสนทนา ไปจนถึงการเลียนเสียงสัตว์ตามเนื้อหาในนิทานจะช่วยกระตุ้นความเข้าใจ การเรียนรู้ และจินตนาการของเด็กได้
  • เสริมด้วยตัวช่วย เช่น หนังสือนิทานที่มีภาพประกอบและฉากป๊อปอัป ตุ๊กตานิ้ว ถุงมือสำหรับเล่านิทาน เพลง เสียงดนตรี หรือกิจกรรมควบคู่ไปกับการเล่านิทาน
  • ถามคำถาม เพื่อกระตุ้นกระบวนการคิด การจดจำ การสื่อสาร และยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยด้วย

แม้ว่าคนไทยมักไม่คุ้นเคยกับการเล่านิทานให้ลูกฟัง แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับถึงประโยชน์ ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะให้เขาเติบโตได้อย่างมีความรู้ มีจินตนาการ และเป็นเด็กที่ร่าเริงได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรลองเปิดใจ หาหนังสือที่มีภาพประกอบน่ารัก ๆ สักเล่ม เพื่อเปลี่ยนช่วงเวลาธรรมดาให้เป็นคืนเล่านิทานและกิจกรรมแสนสนุกภายในครอบครัว สุดท้ายนี้อย่าลืมหมั่นเล่านิทานให้เขาฟังอยู่เป็นประจำเพื่อให้ลูกน้อยได้ประโยชน์จากการเล่านิทานอย่างเต็มที่