ในวันที่เราต้องเผชิญแสงแดดหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หลายคนมีตัวช่วยเป็นครีมกันแดดหลากยี่ห้อ แต่รู้หรือไม่ว่า ตัวช่วยปกป้องผิวกายที่ปลอดภัยและง่ายยิ่งกว่าอีกอย่างก็คือ เสื้อกัน UV ซึ่งนอกเหนือจากประสิทธิภาพในการกันแดดแล้ว เสื้อผ้ากันแดดหรือที่หลายคนเรียก UV Protection ยังถูกออกแบบให้สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้สะดวกสบาย แถมยังไม่เหนอะหนะผิวเหมือนกับครีมกันแดดและไม่ต้องคอยทาซ้ำ ๆ วันละหลายครั้ง
รังสียูวีหรือรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Radiation: UV) เป็นรังสีชนิดหนึ่งที่อยู่ในแสงแดด ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า และเป็นอันตรายต่อสุขภาพผิวหนังค่อนข้างมาก โดยรังสี UV ที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเรานั้นสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด ตามช่วงความยาวของคลื่น ดังนี้
- รังสียูวีเอ (Ultraviolet A: UV-A) สามารถทะลุผ่านผิวหนังได้จนถึงชั้นหนังแท้และจะไปทำลายเนื้อเยื่อและเซลล์ผิวหนังภายใน ส่งผลให้ผิวคล้ำแดด ผิวหนังเสื่อมสภาพ เหี่ยวย่น และดูแก่กว่าวัย แต่จะไม่ก่อให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบ
- รังสียูวีบี (Ultraviolet B: UV-B) สามารถทะลุผ่านผิวหนังได้ถึงชั้นหนังกำพร้า ส่งผลให้ผิวหนังอักเสบ และมีอาการของผิวหนังไหม้แดดอย่างผิวหนังบวมแดง พอง และผิวลอก ผู้ที่ได้รับรังสีชนิดนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจพัฒนาไปสู่มะเร็งผิวหนังได้
เสื้อผ้าแบบไหนช่วยป้องกันรังสี UV
โดยปกติ เสื้อผ้ากันแดดจะผลิตจากผ้าที่มีคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV ซึ่งต้องมีค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีของสิ่งทอ (UPF: Ultraviolet Protection Factor) อย่างน้อย UPF 15 โดยวัดจากรังสียูวีทั้งหมดที่ทะลุผ่านเสื้อผ้าเข้าสู่ผิวหนัง จึงจะผ่านมาตรฐานการผลิตและถือว่าป้องกัน UV ได้จริง เสื้อผ้าที่มีค่า UPF สูงก็จะช่วยป้องกันรังสียูวีเข้าสู่ผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น โดยมีเกณฑ์วัดดังนี้
- ค่า UPF 15-20 จะแสดงถึงคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวีที่ดี
- ค่า UPF 25-35 จะแสดงถึงคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวีที่ดีปานกลาง
- ค่า UPF 40-50 ขึ้นไป จะแสดงถึงคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวีที่ดีมาก
หลายคนอาจสงสัยว่าค่า UPF และค่า SPF (Sun-Protection Factor: SPF) นั้นเหมือนกันหรือไม่ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าค่า UPF นั้นใช้ในการวัดประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีทั้ง UV-A และ UV-B ของเสื้อผ้า ในขณะที่ค่า SPF จะเป็นการวัดประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UV-B ของครีมกันแดดและเครื่องสำอาง แต่จะไม่สามารถวัดรังสี UV-A ได้ โดยจะมีตัวเลขกำกับอย่างเช่น SPF 15 หรือ SPF 30 เพื่อบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด
ทั้งนี้ เสื้อกันยูวีส่วนใหญ่จะมีค่า UPF 40-50 ขึ้นไป และสามารถป้องกันรังสียูวีได้สูงราว 90 เปอร์เซ็นต์ แต่การใช้งานเป็นประจำหรือการซักทำความสะอาดเสื้อแบบไม่ระวังจนทำให้เส้นด้ายที่ใช้ถักทอนั้นยืดออกหรือหลวมก็อาจทำให้คุณสมบัติในด้านนี้ลดลง จึงควรใช้ทั้งเสื้อกันแดดและครีมกันแดดร่วมกันจึงจะช่วยดูแลผิวหนังได้ดีที่สุด
วิธีเลือกซื้อเสื้อกัน UV อย่างถูกต้อง
แม้เสื้อกัน UV หรือ UV Protection จะเป็นเกราะป้องกันผิวหนังที่ดี ปลอดภัย สะดวกและเหมาะสำหรับทุกคน แต่ไม่ใช่เสื้อผ้าทุกชนิดจะสามารถป้องกันรังสียูวีได้ และบางชนิดอาจป้องกันได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้ใช้จึงควรเลือกซื้อเสื้อกัน UV อย่างถูกวิธี ซึ่งสำหรับคนที่ต้องออกแดดเป็นเวลานานหรือไปยังสถานที่ที่มีแดดจัดเป็นประจำนอกจากการดูค่า UPF สูง ๆ ตามที่ระบุบนเสื้อแล้ว ยังสามารถพิจารณาได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้
สีย้อมผ้า
การนำสีย้อมผ้าที่มีคุณสมบัติในการป้องกัน UV มาใช้ในปริมาณเข้มข้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับรังสียูวีของเสื้อผ้าได้ดียิ่งขึ้น จึงจะเห็นได้ว่าเสื้อผ้าที่มีสีเข้มจะดูดซับแสงแดดมากกว่าเสื้อสีขาวหรือสีอ่อนถึง 5 เท่า
ชนิดของผ้า
หลายคนอาจไม่ทราบว่าผ้าบางชนิดสามารถป้องกัน UV ได้น้อยหากไม่เติมสารเคมีช่วยป้องกันรังสียูวีลงไป เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าเรยอน ผ้าลินิน เป็นต้น ผิดกับผ้าโพลีเอสเตอร์ ผ้าไนลอน และผ้าไหมที่สามารถปกป้องผิวหนังโดยสะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลตออกไปได้ดีกว่า
การถักทอ
เสื้อผ้าที่ถูกทอมาหลวมจะป้องกันแดดได้น้อยกว่าเสื้อผ้าที่ทอมาแน่นชิดกัน โดยเราอาจสังเกตง่าย ๆ จากแสงที่ทะลุผ่านเนื้อผ้า หากมีแสงทะลุผ่านมากก็แสดงว่าเสื้อถูกทอมาหลวมเกินไป จึงป้องกันแสงแดดได้น้อยลง
ความสะดวกสบายในการสวมใส่
แม้เสื้อผ้าหนา ๆ อาจจะช่วยกันแดดได้ดี แต่ก็สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่น้อย เนื่องจากมีน้ำหนักมาก หากใส่ติดต่อกันนานก็อาจทำให้รู้สึกร้อนและมีเหงื่อออก ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาการผลิตเสื้อกัน UV ให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น โดยมีเนื้อผ้าบางเบา กระชับ ไม่รัดแน่นจนเกินไป สามารถระบายเหงื่อได้ดีเพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศเขตร้อน ช่วยระงับกลิ่นไม่พึงประสงค์ และง่ายต่อการดูแล
อย่างไรก็ตาม เสื้อกัน UV หรือ UV Protection จะปกป้องผิวหนังได้เฉพาะบริเวณที่อยู่ใต้ร่มผ้าเท่านั้น การเลือกใช้เป็นเสื้อฮู้ดหรือเสื้อแขนยาวจึงมีส่วนช่วยมากกว่าเสื้อแขนสั้นหรือเสื้อยืด รวมทั้งควรทาครีมกันแดดในส่วนที่พ้นเสื้อร่วมด้วย เพื่อไม่ให้ผิวหนังส่วนนั้นได้รับผลกระทบจากแสงแดด อีกทั้งยังอาจปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างการหลีกเลี่ยงการออกแดดหรือพยายามอยู่ในที่ร่มให้ได้มากที่สุดก็อาจช่วยลดความเสี่ยงจากรังสียูวีและปัญหาสุขภาพผิวหนังได้เช่นกัน