เอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain's Disease) เป็นอาการที่ส่งผลให้ปวด ตึง หรือบวมบริเวณโคนนิ้วโป้งมือ โดยเฉพาะเมื่อขยับมือหรือหยิบจับสิ่งของ อาจมีอาการชาบริเวณหลังนิ้วโป้งไปถึงนิ้วชี้ เมื่อขยับนิ้วโป้ง มือหรือข้อมือจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นหรือมีอาการเจ็บร้าวไปยังแขน
เอ็นข้อมืออักเสบเกิดจากการบวมและอักเสบของเส้นเอ็นข้อมือใกล้กับโคนนิ้วหัวแม่มือ มักมีสาเหตุมาจากการใช้งานข้อมือหรือนิ้วโป้งมืออย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมทั้งอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ข้อมือหรือเอ็นข้อมือโดยตรง หรือกลุ่มโรคข้ออักเสบอย่างโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) ซึ่งหากปล่อยอาการทิ้งไว้โดยไม่รักษา อาการเจ็บปวดจากเอ็นข้อมืออักเสบอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
วิธีบรรเทาเอ็นข้อมืออักเสบด้วยตนเอง
คนที่มีอาการเอ็นข้อมืออักเสบอาจลองทำตามคำแนะนำเบื้องต้นต่อไปนี้
พักการใช้งานข้อมือ
หากรู้สึกเจ็บบริเวณข้อมือหรือนิ้วโป้ง ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวในบริเวณดังกล่าวหรือการทำกิจกรรมที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเจ็บ ชาหรือบวม นอกจากนี้ สามารถประคบน้ำแข็งเพื่อลดการอักเสบ หรืออาจสวมอุปกรณ์พยุงข้อมือเพื่อลดการเคลื่อนไหว
การบริหารข้อมือ มือ และแขน
การออกกำลังกายบางรูปแบบอาจช่วยบรรเทาการอักเสบ ช่วยให้เคลื่อนไหวมือ นิ้วหรือข้อมือได้มากขึ้น และอาจป้องกันการเกิดอาการซ้ำได้ โดยตัวอย่างการออกกำลังกายที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยเอ็นข้อมืออักเสบ เช่น
- ท่ายกนิ้วโป้ง เริ่มจากการหงายมือวางราบลงบนโต๊ะ กางนิ้วออกทั้งหมดและยกนิ้วโป้งขึ้นมาแตะโคนนิ้วก้อยจนรู้สึกตึงหลังนิ้วโป้ง ค้างไว้ 6 วินาทีก่อนจะกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำข้างละ 8–12 ครั้ง
- ท่ายกนิ้วโป้งแตะนิ้วก้อย ให้หงายมือวางราบลงบนโต๊ะ ยกนิ้วโป้งและนิ้วก้อยขึ้นมาให้ปลายทั้ง 2 นิ้วแตะกันจนรู้สึกตึงบริเวณโคนนิ้วโป้ง ค้างไว้ 6 วินาทีก่อนจะกลับสู่ท่าเริ่มต้นและทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง
- ท่าบริหารข้อมือ วางแขนท่อนปลายหงายราบลงกับโต๊ะ กำดัมเบลหรืออุปกรณ์ที่มีน้ำหนักไม่มากไว้ในมือ และกระดกข้อมือเข้าหาตนเองช้า ๆ ทำซ้ำข้างละ 2 ชุด ชุดละ 15 ครั้ง
- ท่าบีบมือ กำลูกบอลบีบมือขนาดพอดีมือค้างไว้ 5 วินาทีก่อนจะคลายมือออก ทำซ้ำข้างละ 2 ชุด ชุดละ 15 ครั้ง
การใช้ยา
ผู้ที่มีอาการเอ็นข้อมืออักเสบไม่รุนแรงอาจรับประทานยาแก้ปวด ที่ขายตามร้านขายยาทั่วไป อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้น
เอ็นข้อมืออักเสบกับอาการที่ควรไปพบแพทย์
หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตนเอง อาการปวดหรือบวมบริเวณโคนนิ้วโป้งยังคงอยู่ ขยับนิ้วหรือข้อมือได้ลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยให้เกิดอาการเอ็นข้อมืออักเสบโดยไม่รักษา อาจส่งผลให้ผู้ป่วยใช้งานข้อมือได้อย่างจำกัดหรืออาการปวดลุกลามไปยังบริเวณอื่นของแขนจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้
แพทย์จะวินิจฉัยเอ็นข้อมืออักเสบจากการสอบถามอาการและตรวจการใช้ข้อมือในเบื้องต้นก่อนเลือกวิธีรักษาให้เหมาะกับสาเหตุและอาการในแต่ละคน ในเบื้องต้นแพทย์อาจฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid) บริเวณปลอกหุ้มเอ็น เพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม
ในรายที่มีอาการเอ็นข้อมืออักเสบรุนแรงและไม่ดีขึ้นหลังได้รับการฉีดสเตียรอยด์ อาจจำเป็นจะต้องเข้ารับการผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อลดความดันภายในปลอกหุ้มเอ็น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวมือได้มากขึ้น โดยหลังจากการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลรักษาและการฟื้นฟูร่างกายอย่างเหมาะสม และผู้ป่วยอาจต้องทำกายภาพบำบัดเป็นเวลา 6–8 สัปดาห์หลังจากตัดไหมแล้ว
แม้ว่าเอ็นข้อมืออักเสบเป็นอาการที่ไม่รุนแรง และอาการมักดีขึ้นหรือหายไปหลังการดูแลตนเอง แต่ก็ควรดูแลสุขภาพของข้อมืออยู่เสมอ โดยให้หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือมากจนเกินไป เมื่อต้องทำงานหรือกิจกรรมใดเป็นเวลานานควรหยุดพักการใช้งานมือและข้อมือเป็นระยะ เพื่อป้องกันการอักเสบหรือได้รับบาดเจ็บที่เอ็นข้อมือ