ความหมาย แก้วหูทะลุ (Ruptured Eardrum)
แก้วหูทะลุ (Ruptured Eardrum) เป็นโรคที่เกิดจากการที่แก้วหูฉีกขาดหรือเป็นรู โดยโรคนี้อาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อและบาดเจ็บภายในหูชั้นกลางตามมาได้ หรือในบางรายที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรได้
แก้วหูหรือเยื่อแก้วหูเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่กั้นระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง โดยจะมีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยรับแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงเข้าสู่ประสาทหูส่วนในและส่งไปยังสมองเพื่อแปลงให้เป็นเสียง และช่วยป้องกันหูชั้นกลางจากสิ่งสกปรกและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ หากแก้วหูเกิดการฉีกขาดก็อาจทำให้แบคทีเรียเข้าสู่หูชั้นกลางจนก่อให้เกิดการอักเสบ (Otitis Media) ได้
สาเหตุของแก้วหูทะลุ
แก้วหูทะลุสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การติดเชื้อในหูชั้นกลาง เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อย เมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้นที่หูชั้นกลางจะทำให้การไหลเวียนของเหลวผิดปกติ ส่งผลให้เกิดแรงดันจากของเหลวมากขึ้นจนอาจทำให้แก้วหูฉีกขาดหรือได้รับความเสียหาย
- การบาดเจ็บจากแรงกระแทกหรือแรงดัน (Barotrauma) เป็นการเปลี่ยนแปลงของแรงดันภายในหูชั้นกลางและสภาพแวดล้อมภายนอกไม่สมดุล ทำให้แรงดันจากภายนอกหูและภายในหูไม่เท่ากัน ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในขณะเดินทางด้วยเครื่องบิน ดำน้ำ หรือเป็นการบาดเจ็บจากแรงกระแทกเข้าที่หู
- เสียงดังมากอย่างฉับพลัน การได้ยินเสียงดังจากวัตถุระเบิด เสียงปืน เสียงเพลง หรือเสียงในรูปแบบอื่นที่ดังมากในระยะเวลาสั้น ๆ อาจส่งผลให้แก้วหูเกิดการฉีกขาดได้
- สิ่งแปลกปลอมในหู การล้วง แคะ หรือแหย่สิ่งของขนาดเล็กเข้าไปในช่องหู เช่น สำลีพันก้าน กิ๊บดำ อาจเสี่ยงต่อการทำให้แก้วหูฉีกขาดหรือเกิดความเสียหาย
- การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง การได้รับการทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่บริเวณกะโหลกศีรษะอาจทำให้โครงสร้างภายในหูชั้นในและชั้นกลางเกิดการเคลื่อนที่หรือเสียหาย รวมไปถึงเกิดการฉีกขาดของแก้วหู
อาการของแก้วหูทะลุ
ผู้ที่แก้วหูทะลุแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงของการฉีดขาดหรือขนาดของรูที่เกิดบนแก้วหู โดยอาจการที่อาจพบก็เช่น
- รู้สึกปวดหูหรือเจ็บหูทันทีหลังเกิดการฉีกขาดของแก้วหู
- มีของเหลวไหลออกมาจากช่องหู อาจมีลักษณะเป็นน้ำใส ๆ เป็นหนอง หรือมีเลือดปนออกมา
- ได้ยินเสียงดังในหู หูอื้อ
- การได้ยินลดลงหรือสูญเสียการได้ยินบางส่วน
- รู้สึกเหมือนมีลมออกจากหูเมื่อมีการเบ่ง เช่น การสั่งน้ำมูก เนื่องมาจากแรงดันในหูชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น
- ไข้ขึ้นสูง
- ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจทำให้ใบหน้าเบี้ยว มึนหัว คลื่นไส้ อาเจียน
สัญญาณสำคัญของโรคแก้วหูทะลุที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เมื่อพบว่ามีอาการของแก้วหูทะลุที่กล่าวมาข้างต้น เพราะหูชั้นกลางและหูชั้นในประกอบด้วยกลไกที่ละเอียดอ่อนและไวต่อการบาดเจ็บหรือโรคต่าง ๆ การรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสมจะช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและลดโอกาสการสูญเสียการได้ยินที่อาจเกิดได้ในอนาคต
การวินิจฉัยแก้วหูทะลุ
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้หลายวิธี ในขั้นแรกจะเป็นซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกายทั่วไป จากนั้นจะเป็น การตรวจทางหู คอ จมูก ด้วยเครื่องตรวจหูโดยเฉพาะ (Otoscope) เพื่อส่องดูโครงสร้างภายในหู ทำให้ทราบได้ว่าแก้วหูเกิดการฉีกขาดหรือเป็นรูหรือไม่ ในบางรายที่มีของเหลวไหลหรือขี้หูปริมาณมาก แพทย์อาจทำความสะอาดหรือใช้ยาหยอดหู เพื่อช่วยให้มองเห็นได้ง่าย
จากนั้น แพทย์จะพิจารณาการตรวจอื่นเพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุและความเสียหายของแก้วหู เช่น
- การตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanometry) แพทย์จะใส่เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า Tympanometer เข้าไปในช่องหู เพื่อดูการตอบสนองของเสียงและความดัน จากนั้นจะประเมินผลจากรูปแบบของผลการตรวจที่ออกมา
- การตรวจการได้ยิน เป็นการตรวจดูความผิดปกติของการได้ยินด้วยส้อมเสียง ซึ่งทำให้ทราบได้ว่าผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินจากส่วนที่รับแรงสั่นสะเทือนของแก้วหูและหูชั้นใน หรือเป็นความเสียหายของประสาทหูและเส้นประสาท หรือบางรายอาจเกิดได้ทั้ง 2 ส่วน
- การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory Tests) เป็นการเก็บตัวอย่างของเหลวที่ไหลออกจากหูส่งตรวจหรือเพาะเชื้อในห้องแล็บ เพื่อดูการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจเกิดขึ้นภายในหูของผู้ป่วย
หากผลตรวจออกมายังไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจด้วยเครื่องตรวจการได้ยิน (Audiology Exam) ซึ่งมีความละเอียดในการตรวจมากกว่าการใช้ส้อมเสียง โดยวัดความสามารถในการฟังของผู้ป่วยจากระดับความดังและความถี่ของเสียงที่แตกต่างกัน
การรักษาแก้วหูทะลุ
โรคแก้วทะลุส่วนใหญ่สามารถหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์หรือภายใน 3 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุ บางรายที่มีอาการปวดอาจรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลาง แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือชนิดหยอดหู และช่วยลดโอกาสการติดเชื้อหากแก้วหูทะลุเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ในระหว่างนี้ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อและหลีกเลี่ยงไม่ให้บริเวณหูโดนน้ำตามคำแนะนำ ดังนี้
- ห้ามว่ายน้ำหรือขับรถจนกว่าแพทย์จะตรวจดูที่แก้วหูว่าปิดสนิทเป็นปกติ
- ก่อนการอาบน้ำควรอุดหูด้วยปิโตรเลียม เจลลี่ (Petroleum Jelly) อาจใช้หมวกอาบน้ำคลุมผมโดยปิดให้ถึงรูหู และระมัดระวังน้ำที่หลงเหลืออยู่ภายนอกไม่ให้เข้าภายในหู
- ไม่ควรใช้ยาชนิดใดที่บริเวณหู ยกเว้นได้รับอนุญาตจากแพทย์
- รับประทานหรือหยอดยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
- ปกป้องบริเวณหูไม่ให้สัมผัสกับอากาศเย็น
- หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ ในขณะที่แก้วหูยังไม่หายสนิท
แต่หากการฉีกขาดที่แก้วหูไม่ดีขึ้นหรือแผลไม่สามารถปิดได้เอง แพทย์อาจมีการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น
- การปลูกเยื่อแก้วหู (Eardrum Patch) แพทย์จะใช้สารเคมีจี้ไปที่ขอบรอยฉีกขาดบนแก้วหู เพื่อกระตุ้นให้เนื้อเยื่อแก้วหูงอกขึ้นมาใหม่ จากนั้นจึงปะด้วยกระดาษแบบพิเศษบริเวณที่รอยฉีกขาด โดยต้องมีการทำซ้ำอีกหลายครั้งจนกว่าแก้วหูจะปิดสนิท
- การผ่าตัดปะแก้วหู (Tympanoplasty) เป็นการรักษาในกรณีที่แก้วหูไม่สามารถปิดได้เอง การปลูกเยื่อแก้วหูไม่ได้ผล รอยฉีกมีขนาดใหญ่ หรือเป็นรอยที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดโดยนำเนื้อเยื่อในส่วนอื่นของผู้ป่วยที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อแก้วหูมาปิดบริเวณที่แก้วหูทะลุทดแทน
ภาวะแทรกซ้อนของแก้วหูทะลุ
ในระหว่างที่แก้วหูกำลังฟื้นฟูให้ปิดได้สนิทเองหรือการรักษาบางวิธีไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยินชั่วคราว ซึ่งการฉีกขาดหรือรูบนแก้วหูจะมีผลกระทบต่อระดับการได้ยินโดยตรง แต่เมื่อแก้วหูปิดสนิทก็จะกลับมาได้ยินเป็นปกติอีกครั้ง
บางรายอาจเกิด การอักเสบของหูชั้นกลางจากการที่เชื้อแบคทีเรีย โดยผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาสามารถสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร รวมไปถึงอาจมีโอกาสเกิดก้อนเนื้อในหูชั้นกลาง หรือโรคที่เรียกว่า Cholesteatoma จากการที่ถุงน้ำ เซลล์ผิวหนัง หรือสิ่งสกปรกหลุดเข้าไปในหูชั้นกลางแทนที่จะถูกกำจัดออกมากลายเป็นขี้หู และเกิดเป็นแหล่งเพาะเชื้อขึ้น
การป้องกันแก้วหูทะลุ
ในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดแก้วหูทะลุควรหลีกเลี่ยงการนำสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งอื่น ๆ สอดเข้าไปในหูโดยไม่จำเป็น รวมไปถึงการทำความสะอาดเช่นเดียวกัน เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้แก้วหูฉีกขาดหรือทะลุเมื่อสอดเข้าไปลึกมากจนเกินไป
ในกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหู ควรไปพบแพทย์เพื่อให้นำสิ่งแปลกปลอมออกให้แทนการพยายามนำออกด้วยตนเอง นอกจากนี้ เมื่อพบอาการผิดปกติหรือคาดว่าน่าจะเกิดการติดเชื้อภายในหูควรรีบรักษาให้หายขาด