BHA หรือกรดเบต้าไฮดรอกซี (Beta Hydroxy Acids) เป็นสารที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า โดยมีคุณสมบัติหลักในการกำจัดเซลล์ผิวเก่าบริเวณผิวชั้นนอกสุุด จึงช่วยให้ผิวหน้าเรียบเนียน ริ้วรอย รอยด่างดำจากสิวและการถูกทำลายจากแสงแดดจางลง และยังช่วยขจัดความมันส่วนเกินบนใบหน้าได้อีกด้วย
สารในกลุ่ม BHA มีหลายชนิด เช่น กรดเบตาไฮดรอกซีบูทาโนอิก (Beta Hydroxybutanoic Acid) กรดโทรปิค (Tropic acid) กรดเทรโธคานิก (Trethocanic Acid) และกรดซาลิไซลิก ซึ่งเป็น BHA ชนิดที่นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมากที่สุด บทความนี้จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักการทำงานของ BHA และวิธีใช้อย่างไรให้ปลอดภัยต่อผิวกัน
รู้จัก BHA และหลักการทำงานต่อผิว
BHA เป็นสารในกลุ่มกรดไฮดรอกซี (Hydroxy Acids) ที่ใช้รักษาปัญหาผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคหูด เซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) และสิว นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดริ้วรอยตื้นและริ้วรอยลึก ผิวที่ถูกทำร้ายจากแสงแดด และลดรอยแดงจากโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea)
ตัวอย่างสารในกลุ่ม BHA ที่หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อจากผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบ่อย ๆ ทั้งโฟมล้างหน้า โทนเนอร์ และมอยส์เจอร์ไรเซอร์คือ กรดซาลิไซลิก โดยเหมาะกับผู้ที่มีผิวผสมและผิวมัน เพราะมีคุณสมบัติละลายได้ในไขมัน จึงช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมันส่วนเกินที่ตกค้างอยู่ในรูขุมขน และช่วยละลายสิวอุดตัน อย่างสิวหัวดำและสิวหัวขาวได้
ใช้ BHA อย่างไรให้ปลอดภัยต่อผิว
ก่อนซื้อ BHA มาใช้ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังหรือเภสัชกรก่อนเสมอ โดยกระทรวงสาธารณสุขของไทยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่วางขายทั่วไปมีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิกที่ระดับความเข้มข้นไม่เกิน 2% ในกรณีที่ใช้ BHA รักษาปัญหาผิว อย่างเซบเดิม สิวอุดตัน และรอยสิว ด้วยการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peel) จะใช้ BHA ที่มีความเข้มข้นระหว่าง 10–20% ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ BHA มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
- ใช้ผลิตภัณฑ์ตามที่ระบุไว้บนฉลากอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ BHA ปริมาณมากเกินไป ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้บ่อยกว่าที่กำหนด
- ทดสอบอาการแพ้ BHA ก่อนนำมาทาผิวหน้า โดยทา BHA บริเวณข้อพับหรือหลังใบหูเล็กน้อย หากมีอาการแพ้ เช่น รู้สึกแสบ มีผื่นแดง และคัน ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ผิวหนัง
- ไม่ควรใช้ BHA ใกล้ดวงตา จมูก ปาก และบริเวณที่มีผื่นแดง ผิวแตก หรือมีแผล
- ควรล้างหน้าด้วยสบู่ล้างหน้าสูตรอ่อนโยนและเช็ดหน้าให้แห้งก่อนทา BHA บนผิวหน้า
- ล้างมือทั้งก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ BHA
- ควรทาครีมกันแดดหลังจากใช้ BHA เพื่อป้องกันผิวถูกทำลายจากแสงแดด
โดยทั่วไป สามารถใช้ BHA ที่มีความเข้มข้นไม่เกิน 2% ได้ทุกวัน แต่การใช้ BHA ติดต่อกันในช่วงแรกอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้ จึงควรเริ่มจากการใช้สัปดาห์ละ 1–2 ครั้ง เมื่อผิวหน้าปรับสภาพได้แล้วจึงเพิ่มความถี่ในการใช้
ผลข้างเคียงและข้อควรระวังก่อนใช้ BHA
การใช้ BHA ในปริมาณมาก ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าที่กำหนด หรือใช้ในบริเวณที่มีบาดแผล อาจทำให้ผิวแห้งลอก แดง แสบร้อน และอาการระคายเคืองผิวอื่น ๆ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ BHA ร่วมกับผลิตภัณฑ์และยาต่อไปนี้
- ยารักษาผิวหนังที่มีส่วนผสมของเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เรตินอยด์ (Retinoid) และอนุพันธ์วิตามินดี (Calcipotriol)
- ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- สบู่และผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่ทำให้ผิวแห้ง มีส่วนประกอบของสารเคมีรุนแรง หรือมีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิว เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิว
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต โรคผิวหนังอย่างโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) มีบาดแผลและติดเชื้อที่ผิวหนัง รวมทั้งผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ BHA
การใช้ BHA เป็นวิธีที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาผิว อย่างริ้วรอย สิว และสีผิวไม่สม่ำเสมอได้ดี หากใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม BHA มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผิว อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการใช้ BHA เสมอ และหากใช้ BHA แล้วมีอาการระคายเคืองผิวโดยที่อาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที