บางคนอาจเคยเกิดอาการแขนขาอ่อนแรง เช่น รู้สึกว่าขาไม่มีกำลัง หยิบของแล้วทำหลุดมือบ่อย ๆ กำมือไม่ได้ แต่คิดว่าไม่ใช่อาการร้ายแรงจึงไม่ได้กังวลเกี่ยวกับอาการที่เกิด ความจริงแล้วหากเกิดอาการแขนขาอ่อนแรงขึ้นเราไม่ควรที่จะเพิกเฉย เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพหรือนำไปสู่การเกิดโรคที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการแขนขาอ่อนแรงสามารถเกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง ซึ่งปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดแขนขาอ่อนแรงมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและกล้ามเนื้ออื่น ๆ การติดเชื้อบางอย่าง รวมไปถึงการใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิดด้วย บทความนี้จะอธิบายสาเหตุของแขนขาอ่อนแรงเพื่อให้ผู้อ่านสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม
แขนขาอ่อนแรงเกิดจากสาเหตุอะไร
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง มีดังนี้
โรคหรือหรือภาวะสุขภาพบางอย่าง
อาการแขนขาอ่อนแรงถือเป็นสัญญาณหลักของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและสามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงทีด้วย
นอกจากนี้ อาการแขนขาอ่อนแรงอาจเป็นอาการร่วมของโรคหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น
- โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้อเสื่อม โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)
- โรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Polymyositis) โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease) กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré Syndrome)
- ภาวะที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป ภาวะไฮโปไทรอยด์หรือภาวะขาดไทรอยด์
- ภาวะที่เกิดจากความไม่สมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia) ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)
ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ
แขนขาอ่อนแรงอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคซิฟิลิส (Syphilis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากการโดนเห็บกัด หรือโรคไข้รูมาติก (Rheumatic Fever) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส กรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus) ด้วย
รวมถึงการติดเชื้อไวรัส เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคไข้หวัดใหญ่ โรคพิษสุนัขบ้า โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus: EBV) รวมถึงโรคโปลิโอ (Poliomyelitis) และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่สามารถเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราบริเวณเยื่อหุ้มสมอง และส่งผลให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง
การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง
การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือกระดูกสันหลังสามารถทำให้แขนขาอ่อนแรงได้ โดยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายมากอย่างการเล่นกีฬา การทำงานที่ต้องใช้แรงมากอย่างการยกของหนัก โดยเฉพาะการยกของหนักแบบผิดท่า
เพราะอาจทำให้หมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังบาดเจ็บเสียหาย จนเกิดการกดทับเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย เรียกว่าโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc)
รวมถึงการบาดเจ็บเกี่ยวกับกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่สามารถนำไปสู่การเกิดอาการแขนขาอ่อนแรงได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคกระดูกเสื่อม โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) หรือการเกิดมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังกระดูกสันหลังหรือไขสันหลัง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน หรือผู้ป่วยที่ใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงแขนในกรณีที่แขนหัก สามารถเกิดอาการแขนขาอ่อนแรงได้เช่นกัน
การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน
ยาบางชนิดหากใช้เป็นเวลานานสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อย่างอาการแขนขาอ่อนแรงได้ หากในขณะที่ใช้ยามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตัวอย่างยาที่สามารถทำให้แขนขาอ่อนแรงเมื่อใช้เป็นเวลานาน มีดังนี้
- กลุ่มยาสแตติน (Statins) เช่น ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) รวมถึงยาลดไขมันในเส้นเลือดชนิดอื่น ๆ
- กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone)
- กลุ่มยาปฏิชีวนะซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) เช่น ยาโค-ไตรมอกซาโซล (Co-Trimoxazole: Sulfamethoxazole / Trimethoprim)
- ยาต้านไวรัสในกลุ่มเอ็นอาร์ทีไอ (NRTI) เช่น ยาลามิวูดีน (Lamivudine) ยาซิโดวูดีน (Zidovudine)
- ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen)
- ยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ยาโปรเคนเอไมด์ (Procainamide)
- ยาที่ใช้รักษาโรคเก๊าท์ เช่น ยาโคลชิซิน (Colchicine)
ผลข้างเคียงจากการใช้สารเคมีบางชนิด
ในบางกรณีแขนขาอ่อนแรงอาจเกิดจากการใช้สารเคมีบางชนิดซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหายและเกิดอาการแขนขาอ่อนแรงตามมา โดยสารเคมีในชีวิตประจำวันหลายชนิดที่หากใช้ด้วยความไม่ระมัดระวังอาจเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง และสารเคมีที่มีส่วนผสมของสารตะกั่วด้วย
แขนขาอ่อนแรงอันตรายไหม อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์
การเกิดอาการแขนขาอ่อนแรงอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้น หากมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมกับมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
- เกิดอาการแขนขาอ่อนแรงอย่างเฉียบพลับ โดยมักจะเป็นแค่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ทำให้สูญเสียความรู้สึก สูญเสียการทรงตัว และไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ยืน เดิน หรือนั่ง ได้ตามปกติ
- เกิดอาการใบหน้าอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน รวมถึงมีอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท และไม่สามารถยิ้มหรือแสดงสีหน้าได้ตามปกติด้วย
- พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ และไม่เข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูด
- มองเห็นภาพซ้อน หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน วิงเวียนศีรษะ และบ้านหมุน
- มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ซึมลง ไม่รู้สึกตัว และไม่ตอบสนอง
- ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ทำให้อาจมีปัสสาวะหรืออุจจาระออกมาอย่างกะทันหัน
- กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกอ่อนแรง ทำให้หายใจลำบาก และหมดสติ
แม้ว่าแขนขาอ่อนแรงอาจไม่ได้นำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงเสมอไป แต่ก็มีหลายกรณีที่อาการแขนขาอ่อนแรงนำไปสู่การเกิดโรคที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น แม้จะมีอาการแขนขาอ่อนแรงแค่เล็กน้อย หรือมีอาการแค่เพียงชั่วคราวและหายไป ก็ไม่ควรที่จะละเลยอย่างเด็ดขาด ควรสังเกตตัวเองและรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น