แท้ง

ความหมาย แท้ง

แท้ง (Miscarriage) เป็นการสูญเสียตัวอ่อนภายในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติหรือไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น การแท้งมักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงก่อนที่ประจำเดือนจะหยุดไปหรือยังไม่ทันที่จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ โดยสัญญาณอาการที่มักเกิดขึ้น เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องหรือหลังส่วนล่าง

การแท้งเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับหลายคน เพียงแต่สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่นั้นก็อาจยากที่จะทำใจยอมรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากทราบถึงสาเหตุ ลักษณะอาการที่อาจเป็นสัญญาณของอาการแท้ง ก็อาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแท้งได้ นอกจากนั้น กรณีที่การแท้งเกิดขึ้นแล้ว หากทราบแนวทางรักษาและดูแลตัวเองก็จะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ในการดูแลสุขภาพกายและใจต่อไป

แท้ง

อาการแท้ง

สัญญาณของการแท้งบุตรที่พบได้บ่อยคือมีเลือดออกทางช่องคลอ โดยอาจไหลออกมาเพียงเล็กน้อยเป็นหยด ๆ สีน้ำตาลหรือสีแดงสด ซึ่งอาการเลือดออกนี้อาจเป็น ๆ หาย ๆ อยู่หลายวัน

อย่างไรก็ตาม การมีเลือดไหลทางช่องคลอดยังเป็นอาการที่พบได้ทั่วไประหว่างการตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก การมีเลือดออกจึงไม่ได้หมายความว่ามีการแท้งเกิดขึ้นเสมอไป ทั้งนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการที่อาจแสดงถึงการแท้งต่อไปนี้เกิดขึ้น

  • มีเลือดออกจากช่องคลอด โดยจากที่ออกแต่น้อยจะค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้น
  • มีเนื้อเยื่อถูกขับออกมาทางช่องคลอด
  • มีเมือกขาวอมชมพูออกจากช่องคลอด
  • เกิดตะคริวอย่างรุนแรง
  • ปวดเกร็งช่องท้องส่วนล่าง
  • ปวดหลัง 
  • อ่อนล้า ไม่มีแรง
  • มีไข้
  • ไม่มีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือเต้านมฟกช้ำอีกต่อไป

สาเหตุการแท้ง

การแท้งอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

การแท้งในช่วงไตรมาสแรก

ในช่วงไตรมาสแรก สาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดการแท้งมีดังต่อไปนี้

โครโมโซมทารกผิดปกติ
โครโมโซมทารกผิดปกติเป็นสาเหตุของการแท้งในช่วง 3 เดือนแรกที่พบได้บ่อยที่สุด โดยโครโมโซมนี้เป็นการจัดเรียงตัวกันของดีเอ็นเอ ซึ่งจะควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ตั้งแต่พัฒนาการของเซลล์ในร่างกาย หรือแม้แต่สีตาของทารก ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจเป็นการมีจำนวนโครโมโซมมากเกินปกติหรือมีจำนวนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทารกไม่สามารถพัฒนาได้อย่างปกติและมีการแท้งเกิดขึ้นได้ในที่สุด 

โดยการแท้งจากโครโมโซมที่ผิดปกติในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นี้มีอัตราถึง 2 ใน 3 แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดการแท้งจากสาเหตุนี้ขึ้นอีกครั้ง ส่วนสาเหตุความผิดปกติของโครโมโซมที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด และส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากปัญหาในโครโมโซมของบิดาหรือมารดาแต่อย่างใด

ปัญหาจากรก
รกมีหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างมารดากับทารกเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ ดังนั้นปัญหาที่ส่งผลต่อการพัฒนาของรกจึงสามารถนำไปสู่การแท้งบุตรได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงจากมารดา
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแท้งซึ่งเกิดจากมารดามีดังต่อไป

  • โรคอ้วน
  • การสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยในชา 1 แก้วจะมีคาเฟอีนประมาณ 75 มิลลิกรัม ส่วนในกาแฟสำเร็จรูปมักมีคาเฟอีน 100 มิลลิกรัมต่อแก้ว นอกจากนี้คาเฟอีนยังพบได้ในในเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีรสซ่า รวมถึงช็อกโกแลตแท่งได้เช่นกัน
  • การใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์
  • อายุที่มากเกินขณะตั้งครรภ์ ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ที่ทารกมีโครโมโซมผิดปกติ โดยหญิงตั้งครรภ์อายุ 40 ปี มีความเสี่ยงกว่าหญิงอายุ 20 ปีเป็นสองเท่า และความเสี่ยงนี้ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
  • มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน หญิงที่เคยแท้งตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปจะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงแท้งบุตรอีกครั้ง

การแท้งในช่วงไตรมาสที่ 2

สาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดการแท้งในช่วงไตรมาสที่  2 มีดังต่อไปนี้

ปัจจัยเสี่ยงจากมารดา
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแท้งซึ่งเกิดจากมารดามีดังต่อไป

  • ปัญหาสุขภาพระยะยาว โรคเรื้อรังที่มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งช่วงอายุครรภ์ 3–6 เดือน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงรุนแรง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคไต โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ และไฮโปไทรอยด์  
  • การติดเชื้อต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ หัดเยอรมัน เอชไอวี ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส มาลาเรีย และเชื้อไวรัสซีเอ็มวี
  • อาหารเป็นพิษ การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนทั้งหลายเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงต่อการแท้งได้เช่นกัน เช่น อาหารจากนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ อาหารดิบ หรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะเนื้อหมู รวมถึงไข่ดิบหรือไข่ที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • การใช้ยาบางชนิด ได้แก่ ยาเคมีบำบัด ยาเมโธเทรกเซตและไมโซพรอสทอลที่มักใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ยาเรตินอยด์สำหรับรักษาสิวและโรคผื่นผิวหนังอักเสบ และกลุ่มยาลดการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน

นอกจากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น การแท้งบุตรในช่วงไตรมาสที่ 2 ยังอาจเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของมดลูกหรือระบบสืบพันธุ์ของผู้เป็นแม่ ดังนี้

  • ปัญหาจากโครงสร้างมดลูกที่อาจเกิดจาก มีเนื้องอกมดลูกเติบโตขึ้นในครรภ์ หรือครรภ์ที่เกิดขึ้นมีรูปร่างผิดปกติ
  • ปากมดลูกไม่แข็งแรง กล้ามเนื้อปากมดลูกที่อ่อนแอกว่าปกติอาจเกิดจากเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณนี้มาก่อน และเป็นสาเหตุให้ปากมดลูกเปิดตัวก่อนกำหนดจนเกิดการแท้งตามมาได้
  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) ภาวะที่รังไข่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในรังไข่ สาเหตุของการมีบุตรยากเนื่องจากจะไปทำให้การผลิตไข่น้อยลง ภาวะนี้อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งของหญิงที่มีบุตรยาก แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ยืนยันได้แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเชื่อหลายประการที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสาเหตุของการแท้ง ทั้งที่ปัจจัยต่อไปนี้ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงใด ๆ ต่อการแท้ง

  • อารมณ์ของหญิงตั้งครรภ์ การตกใจหรือสะเทือนใจขณะตั้งครรภ์
  • การออกกำลังกาย สามารถออกได้ และควรปรึกษาแพทย์ถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • การยกของหนักหรือการทำงานขณะตั้งครรภ์อย่างงานที่ต้องนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
  • การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ 
  • การเดินทางโดยเครื่องบิน
  • การรับประทานอาหารรสเผ็ด

การวินิจฉัยการแท้ง

ผู้ป่วยที่มีเลือดไหลออกทางช่องคลอดหรืออาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกการแท้งควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยแพทย์อาจใช้การวินิจฉัยต่อไปนี้

  • การตรวจภายใน เป็นการตรวจดูบริเวณช่องคลอดว่าปากมดลูกเริ่มมีการบีบตัวให้ครรภ์ที่แท้งถูกขับออกมาหรือไม่
  • การตรวจอัลตราซาวด์ วิธีนี้ใช้เพื่อตรวจอัตราการเต้นหัวใจของทารก เพื่อดูว่าตัวอ่อนมีพัฒนาการเป็นปกติหรือไม่ปกติ และหากการตรวจครั้งนั้นยังไม่อาจช่วยวินิจฉัยได้ แพทย์ก็อาจให้ผู้ป่วยรับการวินิจฉัยด้วยการอัลตราซาวด์อีกครั้งในอีกประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมา
  • การตรวจเลือด แพทย์อาจตรวจวัดระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์ ได้แก่ ฮอร์โมน HCG ในเลือด และนำมาเปรียบเทียบกับการวัดครั้งก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงของระดับของฮอร์โมน HCG ที่ผิดปกติอาจบ่งบอกได้ว่าครรภ์มีปัญหา นอกจากนี้ยังอาจตรวจภาวะโลหิตจาง ซึ่งจะสามารถบ่งบอกว่าผู้ป่วยมีการเสียเลือดมากร่วมด้วย
  • การตรวจเนื้อเยื่อรก ผู้ป่วยที่มีการขับเนื้อเยื่อออกจากช่องคลอด แพทย์อาจส่งเนื้อเยื่อดังกล่าวไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจดูว่าเนื้อเยื่อนั้นมาจากการแท้งหรือเป็นความผิดปกติอื่น ๆ
  • การตรวจโครโมโซม กรณีที่ผู้ป่วยเคยแท้งบุตรมาแล้วมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป อาจให้มีการส่งตรวจเลือดของคู่สามีภรรยาเพื่อดูว่าโครโมโซมของทั้งคู่มีความเสี่ยงให้เกิดการแท้งหรือไม่ แต่ทั้งนี้สาเหตุที่เกิดจากโครโมโซมที่ผิดปกติของพ่อแม่ก็พบได้น้อยมาก

การตรวจหาสาเหตุของการแท้งต่อเนื่องยังอาจรวมถึงการตรวจภายในด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อดูโครงสร้างของมดลูกว่ามีความผิดปกติหรือไม่ แพทย์อาจใช้เครื่องอัลตราซาวด์แบบ 3D เพื่อตรวจดูช่องท้องล่วนล่างและบริเวณเชิงกรานได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจความแข็งแรงปากมดลูก โดยจะอัลตราซาวด์เมื่อมีการตั้งครรภ์ขึ้นอีกครั้งหลังจากการแท้งครั้งก่อน ในช่วงที่อายุครรภ์อยู่ระหว่าง 10–12 เดือน

การตรวจเลือดวัดระดับของแอนไทฟอสฟอไลปิด (Antiphospholipid Antibody) และสารต้านการเกาะลิ่มเลือด (Lupus Anticoagulant) ก็ถือเป็นการวินิจฉัยสาเหตุอีกวิธีหนึ่ง เนื่องจากแอนไทฟอสฟอไลปิดที่มีมากจะยิ่งเพิ่มโอกาสของการเกิดลิ่มเลือดและเปลี่ยนการยึดตัวของรก ส่งผลให้เลือดที่ไปเลี้ยงทารกลดน้อยลง นำไปสู่การแท้งบุตรได้ การตรวจชนิดนี้ควรจะทำทั้งหมด 2 ครั้ง ขณะที่ยังไม่มีการตั้งครรภ์ และแต่ละครั้งเว้นระยะห่าง 6 เดือน

การรักษาการแท้ง

หญิงตั้งครรภ์ที่แท้งบุตรและเนื้อเยื่อจากการตั้งครรภ์ถูกขับออกไปหมดแล้วนั้นไม่จำเป็นต้องรับการรักษาอีก แต่สำหรับรายที่ยังมีเนื้อเยื่อจากการตั้งครรภ์อยู่ภายในมดลูก แพทย์จะมีวิธีการรักษาต่อไปนี้

การเฝ้าระวังดูอาการ

แพทย์อาจรอให้การแท้งดำเนินไปโดยธรรมชาติ ซึ่งมักจะใช้เวลาภายใน 2 สัปดาห์จึงจะรู้ได้ว่าตัวอ่อนยังอยู่หรือไม่ หรือเป็นไปได้ว่าจะใช้เวลานานถึง 3–4 สัปดาห์ สำหรับหญิงตั้งครรภ์จึงอาจเป็นช่วงเวลายากลำบากและส่งผลต่อจิตใจ ทั้งนี้ครรภ์ที่แท้งและไม่สามารถขับออกมาได้เอง แพทย์จะใช้ยาหรือกระบวนการทางแพทย์เข้าช่วย

การใช้ยารักษา

เมื่อวินิจฉัยพบแน่แล้วว่ามีการแท้งเกิดขึ้น ผู้ป่วยอาจได้รับยาเพื่อช่วยขับเอาเนื้อเยื่อจากการตั้งครรภ์และรกออกมาได้เร็วยิ่งขึ้น โดยมีทั้งยาชนิดรับประทานหรือยาสอดเข้าไปที่ช่องคลอด ทั้งนี้แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาแบบสอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและยังเป็นการลดผลข้างเคียงอย่างอาการคลื่นไส้และท้องเสียไปในตัว

การรักษาชนิดนี้จะช่วยขับเนื้อเยื่อออกมาได้ภายใน 24 ชั่วโมง และใช้ได้ผลกับหญิงแท้งบุตรถึงประมาณ 70–90 เปอร์เซ็นต์

กระบวนการทางการแพทย์

เป็นการดูดหรือขูดมดลูกที่จะใช้ในกรณีที่เกิดการแท้งร่วมกับมีเลือดออกมากหรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ  เริ่มจากการขยายปากมดลูกให้กว้างออกและนำเอาเนื้อเยื่อภายในมดลูกออกมา การรักษาวิธีนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือความเสียหายต่อเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่บริเวณปากมดลูกหรือผนังมดลูก แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก

ส่วนการพักฟื้นตัวจากการแท้งมักใช้เวลาภายในเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่เกิน 2 วัน ซึ่งในระหว่างนี้หากผู้ป่วยมีเลือดออกมาก เป็นไข้ หรือรู้สึกปวดผิดปกติควรต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

หลังจากนั้นร่างกายของผู้ป่วยจะสามารถผลิตไข่ออกมาใหม่ได้ภายใน 2 สัปดาห์ ทำให้กลับมามีประจำเดือนตามปกติได้ภายใน 4-6 สัปดาห์ และผู้ป่วยจะคุมกำเนิดด้วยวิธีการใด ๆ ได้ทันทีหลังการแท้งบุตร อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสอดสิ่งของใด ๆ เข้าภายในช่องคลอด เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

หญิงที่แท้งบุตรจะสามารถตั้งครรภ์ได้อีกครั้งทันที แต่คู่สามีภรรยาที่จะพยายามมีบุตรอีกครั้ง ควรมีการเตรียมความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ หรืออาจพูดคุยปรึกษากับแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์อีกครั้งเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม การแท้งมักมีโอกาสเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หญิงที่เคยแท้งบุตรมาแล้วจึงยังสามารถตั้งครรภ์และคลอดได้สำเร็จในครั้งต่อไป และมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ที่แท้งบุตรติดต่อกัน 2 ครั้ง ส่วนการแท้งอย่างต่อเนื่อง 3 ครั้งขึ้นไปนั้นมีอัตราการเกิดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ส่วนในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุของการแท้งอย่างต่อเนื่องก็อย่าเพิ่งหมดหวังในการมีบุตร เพราะประมาณ 60–80 เปอร์เซ็นต์ของหญิงที่เผชิญปัญหานี้สามารถตั้งครรภ์ที่แข็งแรงได้ในที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของการแท้ง

หญิงตั้งครรภ์ที่แท้งบุตรจากการติดเชื้ออาจส่งผลเป็นภาวะแทรกซ้อน เช่น หนาวสั่น มีไข้ ฟกช้ำที่ท้องน้อย และร่างกายมีการขับของเสียกลิ่นเหม็นออกทางช่องคลอด

นอกจากนี้ ผลกระทบทางจิตใจและความเสียใจจากการสูญเสียลูกในท้องก็เป็นสิ่งที่หลายคนต้องรับมือ จึงอาจส่งผลให้ในช่วงหลังการแท้งมีอาการไม่อยากอาหาร เหนื่อยล้า และนอนหลับยาก นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกผิด รู้สึกเศร้า หรือพาลโกรธคนรอบข้างที่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์และมีบุตร

ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละรายย่อมแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจแตกต่างกันไป บางรายต้องการให้คอยรับฟัง แต่บางรายกลับอาจไม่อยากพูดถึงเพราะรู้สึกเจ็บปวด หรือบางรายอาจรู้สึกว่าการวางแผนมีบุตรอีกครั้งเป็นเรื่องน่ากลัวและสะเทือนใจ บุคคลใกล้ชิดจึงควรคอยรับฟังและพยายามทำความเข้าใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น

การป้องกันการแท้ง

ส่วนมากการแท้งจะไม่สามารถระบุถึงสาเหตุได้ ทำให้ไม่มีการป้องกันการแท้งที่ให้ผลแน่นอนได้ หญิงตั้งครรภ์จึงทำได้เพียงรักษาสุขภาพตนเองและลูกในครรภ์ให้แข็งแรง ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงด้วยการปฏิบัติตามข้อต่อไปนี้

  • ไม่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดในขณะตั้งครรภ์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน 5 หมู่ โดยเน้นผักและผลไม้ให้มาก
  • พยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เชื้อหัดเยอรมัน 
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงทำให้ป่วยหรือเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ตามมา เช่น อาหารดิบหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีก่อนการตั้งครรภ์
  • หมั่นไปพบสูตินรีแพทย์
  • รับประทานวิตามินรวมเพื่อบำรุงให้ครรภ์แข็งแรงและ