แผลติดเชื้อ

ความหมาย แผลติดเชื้อ

แผลติดเชื้อ (Wound Infection) คือ แผลแตกที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังทำให้มีอาการต่าง ๆ บริเวณบาดแผล และอาจมีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยการติดเชื้ออาจเกิดบริเวณชั้นผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่ลึกลงไป หรืออาจลามไปยังอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับแผล

แผลติดเชื้อ

อาการแผลติดเชื้อ

อาการของแผลติดเชื้ออาจปรากฏ 2-3 วันหลังจากเกิดแผล หรืออาจไม่พบอาการใด ๆ เป็นเวลา 1 หรือ 2 เดือนหลังเกิดบาดแผล โดยอาการทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นหลังแผลติดเชื้อ ได้แก่

  • รู้สึกอุ่น ผิวหนังใกล้ ๆ บาดแผลมีรอยแดง เจ็บ หรือบวม
  • รู้สึกเจ็บบริเวณบาดแผลมากขึ้น
  • บาดแผลมีกลิ่นเหม็น
  • บาดแผล มีเลือดหรือหนอง

หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์

  • มีไข้ หรือหนาวสั่น
  • รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น หรือมีอาการบวมแดงเพิ่มมากขึ้นบริเวณที่มีบาดแผล
  • รู้สึกชาที่ผิวหนังบริเวณบาดแผล
  • อาการไม่ดีขึ้นแม้เวลาผ่านไป
  • สงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น

อาการที่ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

  • หายใจไม่อิ่ม
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • ซึมลง หรือรู้สึกสับสน
  • มีเลือดซึมออกมาจากบาดแผล
  • แผลแตกออก หรือรู้สึกว่าแผลกำลังฉีกขาด
  • รู้สึกเจ็บปวดจากบาดแผลมาก
  • มีเส้นสีแดงออกมาจากบริเวณแผลติดเชื้อ

สาเหตุของแผลติดเชื้อ
แผลติดเชื้อเกิดจากการสะสม และการเพิ่มจำนวนของเชื้อจุลินทรีย์ที่เข้าสู่บาดแผลจากหลายกรณี เช่น

  • การปนเปื้อนเชื้อด้วยตัวผู้ป่วยเอง อาจมีเชื้ออยู่บนผิวหนัง มือ เยื่อเมือก แล้วเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลที่เกิดขึ้น หรือเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหารที่เข้าสู่แผลผ่าตัดจนเกิดการติดเชื้อ
  • เชื้อแพร่กระจายอยู่ในอากาศหรือในสิ่งแวดล้อม แล้วสะสมที่บาดแผลจนเกิดการติดเชื้อ
  • มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในอุปกรณ์ที่ใช้กับแผล เช่น ผ้าพันแผล ผ้าก๊อซ
  • การสัมผัสโดยตรง เช่น ได้รับเชื้อจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ มือของศัลยแพทย์ หรือพยาบาลที่มีเชื้อโรคติดอยู่ เชื้อจุลินทรีย์ที่มักทำให้เกิดแผลติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) เชื้อสเตรปโตคอคคัส พัยโอจีเนส (Streptococcus Pyogenes) เชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas Aeruginosa) 

ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้แผลติดเชื้อ ได้แก่

  • ลักษณะของบาดแผล หากแผลกว้าง ลึก หรือเป็นแผลถูกกัด จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • มีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในแผล เช่น โลหะ หรือแก้ว
  • เป็นโรคประจำตัวที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น โรคเบาหวาน ติดเชื้อเอชไอวี หรือมะเร็ง
  • เลือดไหลเวียนสู่บาดแผลลดลง ซึ่งอาจเกิดจากความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบ หรือมีการอุดตันในเเส้นเลือด
  • ใช้ยารักษาโรคที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น ยาสเตียรอยด์
  • เป็นผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยการฉายรังสี เคมีบำบัด
  • มีโภชนาการที่ไม่ดี
  • มีน้ำหนักตัวเกิน
  • เป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เพราะผิวหนังจะสมานตัวได้ช้าลง
  • เป็นผู้ที่สูบบุหรี่

การวินิจฉัยแผลติดเชื้อ

แพทย์อาจวินิจฉัยตามวิธีดังต่อไปนี้

  • ซักประวัติและตรวจร่างกาแพทย์จะตรวจดูลักษณะบาดแผลของผู้ป่วย และอาจสอบถามว่าบาดแผลเกิดจากอะไร เป็นมานานเพียงใด มีอาการอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ เป็นต้น
  • ตรวจเลือดหาการติดเชื้อ ะเก็บตัวอ เพื่อชื้
  • ตรวจด้วยการเพาะเชื้อ แพทย์จะนำตัวอย่างของหนอง หรือเนื้อเยื่อจากบาดแผลไปเพาะเชื้อ แล้วนำไปตรวจในห้องปฎิบัติการเพื่อทดสอบหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ ซีที สแกน (Computerized Tomography: CT)  เพื่อตรวจหาการติดเชื้อในเนื้อเยื่อชั้นที่ลึกลงไป หรือตรวจหาสิ่งแปลกปลอมในบาดแผล นอกจากนั้น แพทย์อาจใช้สารย้อมสี เพื่อช่วยให้เห็นภาพฉายบริเวณที่ต้องการตรวจได้ชัดเจนขึ้น ดังนั้น หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้สารย้อมสี ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ

การรักษาแผลติดเชื้อ

การรักษาแผลติดเชื้อขึ้นอยู่กับความรุนแรง ตำแหน่งของแผล บริเวณอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ สุขภาพของผู้ป่วย และระยะเวลาที่เกิดแผล โดยอาจมีวิธีรักษาดังต่อไปนี้

  • การทำแผล เป็นการทำความสะอาดแผล ดูแลให้แผลแห้งและสะอาดเพื่อที่แผลจะได้หายเร็วขึ้น โดยแพทย์อาจใช้ผ้าพันแผล หรือที่ปิดแผลแบบสุญญากาศปิดแผลเอาไว้
  • การใช้ยารักษา แพทย์อาจจ่ายยาบรรเทาอาการเจ็บปวดและบวมแดง และให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น เมโทรไนดาโซล (Metronidazole) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ฟลูคลอกซาซิลลิน (Flucloxacillin) เป็นต้น
  • การรักษาด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ (Hyperbaric Oxygen Therapy: HBO) เป็นการใช้เครื่องออกซิเจนความดันสูงช่วยให้เนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนมากขึ้น โดยผู้ป่วยจะนั่งอยู่ในห้องที่มีออกซิเจนความดันสูง เพื่อช่วยฟื้นฟูบาดแผล
  • การผ่าตัด ในบางกรณี แพทย์อาจต้องผ่าตัดล้างแผลให้สะอาด นำส่วนที่มีการติดเชื้อและเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกไป หรือนำสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในบาดแผลออกมา เพื่อรักษาการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนของแผลติดเชื้อ

หากแผลติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที หรือรักษาไม่หาย อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย และเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น

  • ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ แผลบวมแดง เจ็บปวด และแผลฟื้นฟูได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • อาจทำให้เกิดฝี ซึ่งจะเป็นก้อนบวมนูน และมีอาการเจ็บปวด
  • เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคพุพอง (Impetigo)
  • เกิดการติดเชื้อจนกลายเป็นบาดทะยัก 
  • เกิดการติดเชื้อจนทำให้เป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้อ (Necrotizing Fasciitis) ซึ่งเป็นภาวะที่ผิวหนังเกิดความเสียหาย เกิดเยื่อตาย และเกิดอาการเจ็บปวดมาก
  • การติดเชื้ออาจแพร่กระจายสู่เนื้อเยื่อส่วนที่ลึกลงไปใต้ผิวหนัง จนเกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)
  • การติดเชื้ออาจแพร่กระจายสู่กระแสเลือดได้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบาย มีไข้ และอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ซึ่งเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันแผลติดเชื้อ

วิธีป้องกันการเกิดแผลติดเชื้อ และการดูแลตนเองเพื่อให้แผลฟื้นฟูได้เร็วขึ้น ได้แก่

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไปพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษา หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรไปปรึกษาและเข้ารับการตรวจประเมินโดยแพทย์
  • ทำความสะอาดแผลด้วยสบู่ น้ำสะอาด และยาล้างแผล หมั่นเปลี่ยนผ้าปิดแผลอยู่เสมอ โดยควรรีบเปลี่ยนผ้าใหม่ทันที หากผ้าพันแผลเดิมเปียกหรือสกปรก
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเวลาทำแผล และปิดแผลป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกเข้าสู่บาดแผล
  • ดูแลให้แผลแห้งอยู่เสมอ ไม่ให้แผลเปียกน้ำ โดยเฉพาะเวลาอาบน้ำ
  • รักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่อาจทำให้แผลหายช้าลง เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ขนมปังธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่ว ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพราะอาหารที่มีประโยชน์ อาจช่วยให้แผลฟื้นฟูได้เร็วขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่พราะนิโคตินและสารเคมีอื่น ๆ ที่อยู่ในบุหรี่ ทำให้แผลหายช้าลงได้ หากต้องการคำแนะนำ ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญสำหรับการเลิกบุหรี่ได้
  • บางกรณี แพทย์อาจฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อบาดทะยักด้วย ผู้ป่วยควรแจ้งประวัติการฉีดวัคซีนกันบาดทะยักให้แพทย์ทราบ เพื่อการวางแผนรักษาที่เหมาะสมต่อไป