แผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer)

ความหมาย แผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer)

แผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer) คือ แผลที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุของกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น อาการที่พบได้บ่อยคือปวดหรือแสบท้อง แสบร้อนกลางอก ซึ่งมักทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เบื่ออาหาร ซึ่งอาการปวดท้องอาจทำให้ตื่นกลางดึกได้ 

แผลในกระเพาะอาหารมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร การใช้ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เป็นเวลานาน รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการ แผลในกระเพาะอาหารพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หากปล่อยไว้แล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

568 Peptic UlcerRe

สาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร

ในระบบทางเดินอาหารจะมีชั้นเมือก (Mucus) เคลือบอยู่ หากปริมาณของน้ำเมือกและกรดไม่สมดุลกัน จะทำให้เกิดแผลที่เยื่อบุของกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นได้ โรคแผลในกระเพาะอาหารมีหลายสาเหตุดังต่อไปนี้

การติดเชื้อแบคทีเรีย

เชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori) จะอาศัยอยู่ในเยื่อบุกระเพาะอาหาร เป็นสาเหตุให้เกิดการระคายเคืองและเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเสียหายจากกรดในกระเพาะอาหาร ติดเชื้อได้กับทุกวัย แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดผู้ป่วยบางรายจึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรได้มากกว่าผู้ป่วยรายอื่น ๆ

การใช้ยากลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs) เป็นเวลานาน

การรับประทานยาแก้ปวดต้านการอักเสบในกลุ่มยาเอ็นเสด เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) นาพร็อกเซน (Naproxen) เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่ใช้ยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม 

รวมถึงการใช้ยาแก้ปวดต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสดร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ ได้แก่

  • ยาสเตียรอยด์ (Steroids)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น เฮพาริน (Heparin) วาร์ฟาริน (Warfarin)
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRIs) เช่น ไซตาโลแพรม (Citalopram) ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline)
  • ยารักษาโรคกระดูกพรุน เช่น อะเลนโดรเนท (Alendronate) ไรซีโรเนต (Risedronate)

สาเหตุอื่น ๆ

พฤติกรรมและปัจจัยสุขภาพของผู้ป่วยอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ เช่น

  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • การรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • ผู้ที่มีระดับแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)

อาการของแผลในกระเพาะอาหาร

อาการสำคัญของโรคแผลในกระเพาะอาหารคือ ปวดท้องหรือแสบที่กระเพาะอาหาร มักมีอาการตอนท้องว่างหรือประมาณ 2–3 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร อาจตื่นกลางดึกจากอาการปวดหรือแสบท้อง อาการจะดีขึ้นเมื่อรับประทานอาหารหรือยาลดกรด และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้

อาการของแผลในกระเพาะอาหารที่ควรไปพบแพทย์

ควรไปพบแพทย์หากรับประทานยาลดกรดแล้วยังมีอาการปวดท้อง หรืออาการต่าง ๆ แย่ลง ทั้งนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน หากมีอาการอาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด รู้สึกเจ็บแปลบที่ท้อง 

การวินิจฉัยแผลในกระเพาะอาหาร

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติการใช้ยาแก้ปวดต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสดและยาอื่น ๆ รวมถึงตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรค หรือทำการทดสอบต่าง ๆ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

การทดสอบการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร

การทดสอบนี้ทำได้หลายแบบ เช่น ทางลมหายใจ ทางอุจจาระ หรือทางเลือด โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้

  • การทดสอบเอนไซม์ยูรีเอส (Urease Test) เป็นวิธีที่ใช้ทดสอบมากที่สุดในประเทศไทย ผู้ที่จะเข้ารับการทดสอบควรหยุดยา Proton Pump Inhibitor: PPI ก่อนการทดสอบอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อนได้
  • การตรวจหาแบคทีเรียจากอุจจาระ (Stool Antigen Test) โดยใช้ตัวอย่างอุจจาระในผู้ป่วยไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ
  • การตรวจหาแบคทีเรียจากการตรวจเลือด (Blood Test) เพื่อหาสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ต่อเชื้อแบคทีเรีย

การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy) 

การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร คือการใส่ท่อขนาดเล็กติดกล้องที่ส่วนปลาย (Endoscope) ผ่านทางปากลงไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น หรืออาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปทดสอบการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรร่วมด้วย

การตรวจกระเพาะอาหารด้วยการกลืนแป้ง (Upper GI Series) 

วิธีนี้เป็นการจำลองภาพของระบบทางเดินอาหารด้วยการเอกซเรย์ร่วมกับการกลืนของเหลวสีขาวที่มีส่วนผสมของแบเรียม ทำให้เห็นภาพของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นชัดเจนขึ้น

การรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

การรักษาทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น การใช้ยา หรือการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง วิธีการรักษามีรายละเอียดแตกต่างกันดังต่อไปนี้

1. การใช้ยา

การใช้ยารักษาผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร มีดังนี้

ยาปฏิชีวนะ 

ในการรักษาแผลในกระเพาะที่เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียเอชไพโลไร อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายตัวรักษาอาการ เช่น 

ยา Proton pump inhibitors: PPIs 

ยากลุ่ม PPIs จะช่วยยับยั้งการสร้างกรดและรักษาแผลในกระเพาะอาหารเช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) แลนโซพราโซล (Lansoprazole) ราบีพราโซล (Rabeprazole) อีโซเมปราโซล (Esomeprazole) แพนโทพราโซล (Pantoprazole) 

หากใช้ยาในปริมาณมากและเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ หรือกระดูกสะโพกหักได้

ยา H2-Receptor Antagonists 

ยา H2-Receptor Antagonists เช่น แรนิทิดีน (Ranitidine) ฟาโมทิดีน (Famotidine) ไซเมทิดีน (Cimetidine) เป็นต้น เพื่อยับยั้งการสร้างกรดและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

ยาเคลือบกระเพาะอาหาร 

ยาเคลือบกระเพาะ เช่น ซูคราลเฟต (Sucralfate) ไมโซพรอสทอล (Misoprostol) จะช่วยปกป้องเยื่อบุในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กจากการทำลายของกรด

ยาอื่นทดแทนการใช้ยาเอ็นเสด

การปรับการใช้ยาในผู้ป่วยแผลในกระเพาะอาหารที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาเอ็ดเสด (NSAIDs) อาจเปลี่ยนเป็นพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสดอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้น้อยกว่า เช่น เซเลโคซิบ (Celecoxib) ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม COX-2 Inhibitor เป็นต้น

2. การผ่าตัด

การผ่าตัดกระเพาะอาหารมักใช้ในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารแล้วไม่เข้ารับการรักษา มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กฉีกขาด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นแผลในกระเพาะอาหารชนิดที่รักษาไม่หาย (Refractory Ulcers) ซึ่งอาจเกิดจาก

  • การไม่รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ กรณีที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
  • ใช้ยาบรรเทาอาการปวดกลุ่มเอ็นเสดที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่
  • มีภาวะผิดปกติในร่างกายหรือโรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคโครห์น (Crohn's Disease) กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome) หรือมีการติดเชื้อนอกเหนือจากเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร

ภาวะแทรกซ้อนของแผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหาร หากปล่อยไว้แล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ดังต่อไปนี้

  • เลือดออกภายในช่องท้อง เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มาก อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี ในกรณีที่เลือดออกช้าและเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย หายใจหอบ ผิวซีด หัวใจเต้นแรงจนสังเกตได้ วิงเวียนศีรษะ อุจจาระเป็นเลือดหรือมีสีดำ อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น
  • อวัยวะภายในช่องท้องทะลุ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ยาก แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในเยื่อบุกระเพาะอาหารเล็ดลอดออกไป ทำให้เกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) ติดเชื้อในกระแสเลือด การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายล้มเหลว หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิต
  • ทางเดินอาหารอุดตัน จากอาการบวมหรือแผลที่เป็นผลมาจากแผลในกระเพาะอาหารทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านได้ยากขึ้น ผู้ป่วยจะอาเจียนเป็นอาหารที่ยังไม่ผ่านการย่อยในปริมาณมาก ท้องอืด รู้สึกอิ่มมากหลังการรับประทานอาหารมื้อเล็ก หรือน้ำหนักลดลง

การป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตบางอย่างอาจป้องกันหรือบรรเทาอาการของแผลในกระเพาะอาหาร โดยปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินเอและวิตามินซี รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิต (Probiotics) เช่น โยเกิร์ต
  • หลีกเลี่ยงการดื่มนม เพราะจะเพิ่มปริมาณของกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น
  • หากใช้ยาบรรเทาอาการปวดเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาบรรเทาอาการปวดอื่น ๆ ทดแทน เช่น เลือกใช้พาราเซตามอล เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • จัดการหรือรับมือกับความเครียดด้วยการออกกำลังกาย ใช้เวลากับเพื่อน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชื่นชอบ เพราะหากความเครียดลงกระเพาะอาจทำให้อาการของแผลในกระเพาะอาหารแย่ลงได้
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำปริมาณกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร
  • ลดปริมาณหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะไปกัดชั้นเมือกในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นสาเหตุให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ และไม่ควรรับประทานยาพร้อมกับการดื่มแอลกอฮอล์
  • ล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วงก่อนนอน