แฝดกับข้อควรรู้ในการให้นมแม่

คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงกังวลเกี่ยวกับการดูแลลูกน้อยฝาแฝดที่ถูกต้องและเหมาะสมหลังการให้กำเนิด แน่นอนว่าการเลี้ยงดูลูกแฝดจะต้องเพิ่มทั้งเวลา เงิน การฝึกดูแลลูกน้อย การดูแลสุขภาพทางด้านอารมณ์ และอีกหลายด้านมากกว่าการเลี้ยงดูทารกคนเดียวเป็นหลายเท่า และหนึ่งในสิ่งที่คุณแม่เป็นกังวลก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการให้นมแม่

นมแม่เป็นอาหารที่สำคัญสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน โดยในนมแม่ประกอบไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน โปรตีนและไขมัน และการให้นมแม่ยังช่วยเสริมสร้างความผูกพันทางด้านอารมณ์ระหว่างแม่และลูกในขณะให้นมอีกด้วย

แม้ว่าวิธีการคลอดลูกจะเหมือนกันในทั้งครรภ์เดี่ยวหรือครรภ์แฝด แต่คุณแม่ครรภ์แฝดก็ต้องการการมีส่วนร่วมที่มากขึ้นทั้งจากคุณพ่อและคนรอบข้าง ดังนั้น การวางแผนและพูดคุยถึงการให้ความช่วยเหลือ รวมไปถึงการวางแผนในการให้นมแม่ล่วงหน้าจะช่วยให้ดูแลทารกแฝดได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในบทความนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจในการให้นมลูกน้อยที่เป็นแฝดอย่างถูกต้อง 

Young,Mother,Breastfeeding,Newborn,Twins,Sitting,In,A,Chair

วิธีให้นมแม่กับลูกแฝด

ในช่วงเวลาสัปดาห์แรกหลังการคลอด คุณแม่ควรให้นมลูกตามปริมาณที่ลูกต้องการ และควรให้นมลูกทีละคนในช่วงแรกเพื่อใช้เวลาร่วมกันและได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่สามารถดูระดับความลึกในการอมหัวนมของทารกและสังเกตได้ถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น 

ในเวลาต่อมาอาจปรับเป็นการให้นมลูกพร้อมกันทั้ง 2 คนเพื่อประหยัดเวลาและช่วยให้คุณแม่ได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แต่พึงตระหนักว่าเด็กทั้ง 2 คนอาจมีความต้องการนมในปริมาณและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน คุณแม่จึงต้องยืดหยุ่นตามความเหมาะสม

ปริมาณน้ำนมของคุณแม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของเต้านมเล็กใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับความถี่ในการดูดนมของทารกและการบีบน้ำนมเก็บไว้เพื่อลดภาวะเต้าคัด โดยร่างกายของคุณแม่สามารถผลิตน้ำนมให้ทารกได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการแม้ว่าจะมีการให้นมทุกครั้งที่ทารกหิว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คุณแม่มั่นใจว่าปริมาณน้ำนมในร่างกายจะเพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย คุณแม่อาจทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • ควรให้นมแม่ทันทีหลังคลอด โดยการให้นม 8-12 ครั้งต่อวันจะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมของร่างกาย หลังจากนั้นคุณแม่ควรให้นมตามที่ร่างกายของทารกต้องการ โดยพยายามให้ปากของทารกเข้าประกบพอดีกับหัวนมคุณแม่ ซึ่งจะช่วยให้การดูดนมของลูกมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยิ่งคุณแม่ให้นมบ่อย ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมมากตามไปด้วย
  • หากทารกคลอดก่อนกำหนดและไม่สามารถดื่มนมจากเต้าได้ในทันที ควรปั๊มนมเก็บไว้ทันที โดยให้ปั๊มนมจากเต้านมทั้งสองข้างพร้อมกันเพื่อให้ได้น้ำนมในปริมาณมาก ซึ่งการปั๊มนมสามารถกระตุ้นการผลิตน้ำนมของร่างกายได้เช่นกัน 
  • คุณแม่ควรให้ทารกแต่ละคนได้รับนมจากเต้าทั้งสองข้างและสลับเต้านมตั้งแต่ช่วงแรกของการให้นมแม่ เพื่อช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคุณแม่สามารถสลับให้นมข้างละ 1 วันหรือสลับทั้งสองข้างในการให้นมแต่ละครั้งก็ได้ ซึ่งการสลับให้นมทารกระหว่างเต้าทั้งสองข้างยังช่วยกระตุ้นการทำงานดวงตาของทารกที่จะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันมากขึ้นอีกด้วย

คุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยทุกครั้งในขณะให้นมและหลังการให้นม โดยทารกจะขยับออกจากเต้านมเมื่ออิ่มแล้ว ทารกส่วนมากจะดื่มนมแม่ไปจนกว่าจะโตพอรับประทานอาหารสำหรับทารก อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำนมของร่างกายจะลดลงหากไม่มีการให้นมจากเต้าหรือปั๊มนม 8–12 ครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง และควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลหากต้องการให้ลูกน้อยรับประทานนมผงเพื่อให้เกิดพัฒนาการที่เหมาะสมต่อร่างกายของทารก

การดูแลทารกแฝดในด้านอื่น 

นอกจากการให้นมแม่ การดูแลทารกที่เป็นแฝดในด้านอื่น ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งการนอนหลับ การอาบน้ำ การเปลี่ยนผ้าอ้อม การขับถ่าย การปลอบหรือการสังเกตเมื่อทารกร้องไห้ สุขภาพของแฝดโดยรวม และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเลี้ยงดูลูกแฝดคือ การดูแลและสนับสนุนลูกแต่ละคนอย่างเจาะจง ซึ่งทำได้โดยการเรียกชื่อแทนการใช้คำว่าแฝด ให้ของเล่นแยกกัน เมื่อเด็กโตขึ้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้เด็กแต่งตัวเหมือนกัน หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบระหว่างเด็กแต่ละคนในเรื่องของทักษะและพัฒนาการอย่างการเดิน การพูด และการฝึกการขับถ่าย

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลิกสูบบุหรี่ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ควรทำทุกอย่างด้วยตนเอง ยอมรับการช่วยเหลือและพูดคุยผู้คนรอบข้าง รวมไปถึงสังเกตสภาพจิตใจของตนเอง เพื่อให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่มีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ พร้อมในการดูแลลูกแฝดได้อย่างสมบูรณ์