การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) เป็นการตรวจพื้นฐานที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ โดยแพทย์จะใช้ร่วมกับประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย อาการแพ้ที่เกิด การตรวจร่างกายและการตรวจวิธีอื่น
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเป็นวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นาน และทำได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ตามดุลยพินิจของแพทย์ จึงเป็นอีกทางเลือกของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืด ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ แพ้ยากลุ่มเพนนิซิลิน หรืออาการแพ้จากแมลงต่อย
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังมีประโยชน์อย่างไร
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังช่วยให้ผู้ป่วยทราบได้ว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด และเลี่ยงต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นได้ถูก เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง ขนสัตว์หรือสะเก็ดรังแคสัตว์ (Animal Dander) ไรฝุ่น หรือแม้แต่ยาบางชนิด
แพทย์จะใช้การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังหากผู้ป่วยมีกลุ่มอาการแพ้ เช่น คันตาหรือน้ำตาไหล จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอเรื้อรัง ริมฝีปาก ลิ้นหรือหน้าบวม หายใจเป็นเสียงหวีดหรือหายใจไม่อิ่ม มีผื่นลมพิษ คันตามผิว ปวดท้อง อาเจียน หรือท้องเสีย
อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่แนะนำให้ตรวจหากผู้ป่วยเป็นโรคผิวหนังบางชนิด อย่างโรคสะเก็ดเงินหรือโรคผิวหนังอักเสบ และผู้ที่เคยมีอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เพราะสารทดสอบอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ที่เป็นอันตราย เช่นเดียวกับผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษากรดไหลย้อน ยาต้านเศร้า ยาต้านฮีสตามีน ซึ่งอาจทำให้ผลการทดสอบคาดเคลื่อน
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังทำได้อย่างไรบ้าง
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังส่วนมากมักทดสอบกับผิวด้านในของแขนท่อนล่าง โดยก่อนเริ่มทดสอบจะต้องเช็ดทำความสะอาดผิว และทำสัญลักษณ์บริเวณผิวหนังที่จะทำการทดสอบ หลัก ๆ แล้วการทดสอบจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ
- การขูดผิว (Scratch Test หรือ Prick Test) เป็นการใช้เครื่องมือคล้ายปากกาสะกิดผิวเพียงเบา ๆ ก่อนจะหยดสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ ลงไป และทิ้งไว้ประมาณ 15–20 นาทีก่อนจะตรวจดูผล
- การแปะแผ่นชุบสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิว (Patch Test) เป็นการใช้แผ่นชุบสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่ต้องการทดสอบแปะลงบนผิวหนัง ทิ้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมง และดูผลหลังแกะแผ่นแปะออกในระยะเวลา 15 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลการทดสอบที่แม่นยำมากที่สุด
- การฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าทางผิวหนัง (Intradermal Test) เป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปใต้ผิวหนังในปริมาณเล็กน้อย และทิ้งไว้ 20 นาทีก่อนจะตรวจดูผลทดสอบ
หลังจากการทดสอบ หากผิวหนังบริเวณที่ทดสอบเป็นตุ่มบวมแดงมาก จะแสดงให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของอาการแพ้ต่อสารดังกล่าว และผู้ป่วยอาจรู้สึกคันบริเวณนั้นด้วยเช่นกัน
ผลจากการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
หากผลที่ได้จากการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเป็นลบ หมายถึงร่างกายของผู้ทำการทดสอบไม่มีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ที่ใช้ทดสอบ แต่หากผลการทดสอบเป็นบวก จะหมายถึงร่างกายของผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่ใช้ทำการทดสอบ
เมื่อผลการทดสอบเป็นบวก แพทย์อาจรักษาอาการแพ้ด้วยการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดอาการคัดจมูก การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ยังควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ในที่อยู่อาศัยหรือสภาพแวดล้อมเช่น กำจัดไรฝุ่นในห้องนอน ลดการสัมผัสตัวสัตว์เลี้ยง สวมแว่นตาและหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการได้รับละอองเกสรดอกไม้ แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อาจป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อสารก่อภูมิแพ้น้อยลง
อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้จากการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังอาจเกิดความคลาดเคลื่อน หากเกิดความสงสัยหรือไม่แน่ใจในอาการแพ้ของตนเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทดลองจำกัดหรือรับประทานอาหารชนิดที่คาดว่าแพ้ หรือเพิ่มการตรวจเลือดควบคู่ไปกับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วย