แว่นตา ชนิด หลักการเลือกใช้ และประโยชน์ต่อสายตา

การใส่แว่นตาหรือแว่นสายตาเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่ช่วยให้ผู้มีปัญหาสายตากลับมามองเห็นภาพต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีการผลิตเลนส์แว่นตาออกมาให้เลือกมากมายหลายชนิด ดังนั้น ผู้ที่มีสายตาผิดปกติควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแว่นตา เลนส์ประเภทต่าง ๆ ประโยชน์จากแว่นตา รวมถึงการดูแลรักษาแว่นตาก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ เพื่อให้ได้แว่นตาที่เหมาะสม ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และคงสภาพดีตลอดอายุการใช้งาน

Eyeglasses

แว่นตามีกี่ชนิด ?  

แว่นตามีเลนส์ 2 ชนิด คือ

  • เลนส์ชั้นเดียว (Single Vision) เป็นเลนส์ที่ใช้แก้ปัญหาสายตาระยะใดระยะหนึ่ง
  • เลนส์มัลติโฟคอล (Multifocal) เป็นเลนส์ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นได้หลายระยะ ทั้งระยะใกล้และระยะไกล โดยเลนส์ด้านบนจะช่วยให้มองเห็นภาพระยะไกลได้ชัดเจนขึ้น และเลนส์ด้านล่างจะช่วยในการมองวัตถุใกล้ ๆ เช่น การอ่านหนังสือ หรือการเย็บผ้า

แว่นตาเลนส์มัลติโฟคอลใช้เพื่อปรับระดับสายตาของผู้ที่มีปัญหาสายตายาวตามอายุ ซึ่งมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ไม่ชัด โดยแบ่งเป็นเลนส์หลายประเภทที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป ดังนี้   

  • เลนส์สองชั้น (Bifocals) ประกอบด้วยส่วนที่สามารถมองในระยะใกล้ได้ ซึ่งอยู่ด้านล่างของเลนส์ และส่วนที่สามารถมองในระยะไกลได้ ซึ่งอยู่ด้านบนของเลนส์ นอกจากนี้ ยังมีเลนส์สองชั้นชนิดพิเศษที่มีรอยต่อด้านบน สำหรับผู้ที่ต้องใช้สายตามองวัตถุในระยะใกล้หรือระยะกลางในมุมสูงด้วย
  • เลนส์สามชั้น (Trifocals) เป็นเลนส์ที่มีสามระยะในเลนส์เดียว คือ ระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้
  • เลนส์โปรเกรสซีฟ (Progressive) มีคุณสมบัติคล้ายเลนส์สองชั้นและเลนส์สามชั้น แต่ผู้ใช้สามารถมองเห็นวัตถุจากระยะไกลถึงระยะใกล้ได้อย่างต่อเนื่องไร้รอยต่อ โดยบริเวณจุดรวมแสงของเลนส์ชนิดนี้ค่อนข้างเล็ก เนื่องจากพื้นที่ของเลนส์ส่วนใหญ่ถูกใช้เชื่อมพื้นที่ในการมองเห็น แต่เลนส์โปรเกรสซีฟอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตา และเวียนศีรษะขณะสวมใส่ได้มากกว่าเลนส์ชนิดอื่น เลนส์นี้จึงเป็นชนิดที่คนนิยมนำมาใช้งานน้อย

เมื่อไรควรใส่แว่นตา ?

หากพบว่าการมองเห็นเลือนราง มองวัตถุต่าง ๆ ไม่ชัดเจนอย่างที่เคย มีอาการปวดตา หรือปวดศีรษะขณะอ่านหนังสือ เย็บผ้า หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ แสดงว่าอาจเริ่มมีปัญหาด้านสายตา ควรไปพบจักษุแพทย์และนักทัศนมาตรเพื่อตรวจวัดสายตาและตัดแว่น

แต่หากไม่ต้องการตัดแว่นเพื่อปรับระดับสายตา อาจเลือกซื้อแว่นตาอ่านหนังสือได้ตามร้านขายแว่นทั่วไป โดยเลือกแว่นตาที่เหมาะสมกับค่าสายตาของตนเองด้วยการถือหนังสือให้ห่างจากตัวประมาณ 14-16 นิ้ว แล้วทดลองดูว่าสามารถมองเห็นตัวหนังสือชัดและรู้สึกสบายตาหรือไม่ หรืออาจปรึกษาจักษุแพทย์สำหรับทางเลือกอื่น ๆ เช่น การใส่คอนแทคเลนส์ และการผ่าตัดแก้ไขสายตา

อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาการมองเห็นพร้อมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น ระคายเคืองตา เห็นจุดดำลอยไปมา เห็นภาพแค่บางส่วน เห็นแสงวาบในลูกตา เจ็บตา หรือตาแดงฉับพลัน ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที

วัสดุที่ใช้ทำเลนส์แว่นตา

แต่เดิมวัสดุที่ใช้ทำแว่นตาเป็นเลนส์แก้ว แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้พลาสติกซึ่งมีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นได้ แตกหักยาก และสามารถป้องกันรังสียูวีได้ด้วย นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ทำเลนส์ยังมีคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้เลือกตามความเหมาะสมของการใช้งาน ดังนี้

พลาสติกไฮอินเด็กซ์ (High-Index Plastic) เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ และจำเป็นต้องตัดแว่นตา เพราะเลนส์ชนิดนี้มีคุณสมบัติบางและเบา ลดปัญหาเลนส์หนาจนสวมใส่แล้วรู้สึกไม่สะดวกสบาย

แอสเฟียริก (Aspheric) เป็นเลนส์ที่มีองศาความโค้งหลายระดับ จึงมีผิวโค้งแบนและบางกว่าเลนส์ทั่วไป ทำให้มีพื้นที่ด้านหน้าของเลนส์มากขึ้น  

โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) เลนส์ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เล่นกีฬาและผู้ที่ทำแว่นตาหักหรือทำเลนส์แตกบ่อย ๆ เนื่องจากเป็นเลนส์ที่ทนทานต่อแรงกระแทกและรอยขีดข่วน นอกจากนี้ ตัวเลนส์ยังสามารถป้องกันรังสียูวีได้อีกด้วย

โพลาไรซ์ (Polarized) มีคุณสมบัติช่วยลดแสงจ้าที่สะท้อนจากพื้นผิวได้ เลนส์ชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับการเล่นกีฬาและการขับขี่รถยนต์ แต่ตัวเลนส์อาจทำให้มองเห็นจอภาพบนแผงหน้าปัดรถยนต์ได้ไม่ชัดเจนนัก

โฟโตโครมิก (Photochromic) มีคุณสมบัติเปลี่ยนสีได้ และสามารถป้องกันรังสียูวีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเลนส์จะทำปฏิกิริยาต่อแสงยูวี ทำให้เลนส์เปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นเมื่ออยู่กลางแจ้ง และจะกลับมาใสเหมือนเดิมเมื่ออยู่ในที่ร่ม จึงไม่จำเป็นต้องใส่แว่นตากันแดด แต่เลนส์จะไม่เปลี่ยนสีขณะอยู่ในรถ เนื่องจากกระจกหน้าของรถส่วนใหญ่ช่วยป้องกันรังสียูวีได้อยู่แล้ว  

หลังตัดแว่นตา ต้องวัดสายตาอีกหรือไม่ ?

ผู้ที่สวมแว่นตาควรไปพบจักษุแพทย์และตรวจวัดสายตาใหม่ทุก ๆ 2 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าแว่นตาที่ใส่อยู่เหมาะสมกับค่าสายตาในปัจจุบัน ส่วนผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี อาจต้องวัดสายตาตัดแว่นตาใหม่เป็นระยะ เนื่องจากกระจกตาเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้สายตาเกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้มองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน

นอกจากนี้ ควรตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อป้องกันโรคและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับดวงตา เช่น ต้อเบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง หลอดเลือดโป่งพอง และการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นต้น เนื่องจากสัญญาณของโรคอาจปรากฏบนดวงตา รอบดวงตา หรือเกิดขึ้นในรูปของปัญหาการมองเห็นได้ ก่อนอาการของโรคจะแสดงออกมาอย่างชัดเจน

แว่นตาสามารถป้องกันแสงสีฟ้าได้หรือไม่ ?

แสงสีฟ้าเป็นแสงที่มีอยู่ในอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ซึ่งผู้ที่ใช้สายตาจ้องมองหน้าจอนาน ๆ อาจรู้สึกปวดตา ตาแห้ง กะพริบตาน้อยลง หรือมีอาการตาล้าได้ แสงสีฟ้าอาจมีผลต่อระบบนาฬิกาชีวิตของร่างกายมนุษย์ โดยช่วยกระตุ้นให้ตื่นในตอนเช้า แต่การได้รับแสงนี้มากเกินไปในเวลากลางคืน อาจส่งผลให้นอนหลับได้ยากขึ้น

แม้ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในการผลิตเลนส์แว่นตาชนิดต่าง ๆ แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันว่ามีแว่นสายตาชนิดใดสามารถช่วยกรองแสงสีฟ้าได้ มีแต่เพียงรายงานที่ว่า ผู้ที่ใส่แว่นตาป้องกันรังสีคลื่นสั้นเป็นเวลา 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอนต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์ มีระดับสารเมลาโทนิน (Melatonin) เพิ่มมากขึ้นถึง 58 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสารนี้เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมเหนือสมอง (Pineal Gland) และมีส่วนช่วยในการนอนหลับ โดยทำให้นอนหลับได้เร็วและสบายขึ้น

แว่นตาช่วยรักษาสายตาที่ผิดปกติให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ?

การใส่แว่นตาช่วยให้ผู้มีปัญหาสายตาผิดปกติมองเห็นได้ชัดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถช่วยรักษาให้ค่าสายตากลับมาเป็นปกติตามเดิมได้ ส่วนการใส่แว่นตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตา แม้ไม่ทำให้สายตาแย่ลง แต่จะทำให้มองเห็นภาพหรือวัตถุได้ไม่ชัด นอกจากนี้ การบริหารดวงตาหรือการรับประทานยาต่าง ๆ ก็ไม่สามารถช่วยให้หายจากภาวะสายตาสั้นหรือยาวได้ และสายตาคนเราย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงควรถนอมสายตาด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้สายตามีปัญหาก่อนเวลาอันควร

วิธีดูแลรักษาแว่นตา  

  • ล้างทำความสะอาดแว่นตาอยู่เสมอด้วยน้ำเปล่าและผ้าทำความสะอาดที่ไม่มีขน เพื่อล้างฝุ่นและคราบต่าง ๆ บนแว่นตาและเลนส์ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นขณะสวมใส่
  • เก็บแว่นตาให้ห่างจากความชื้น หรือถอดเก็บไว้ในกล่องหากไม่ได้ใส่แว่นตา
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงเกิดการปะทะหรือได้รับแรงกระแทก เช่น การเล่นกีฬาบางชนิด หรือถอดเก็บแว่นตาหากต้องทำกิจกรรมดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้แว่นตาชำรุดเสียหาย หรือเกิดรอยขีดข่วนบนเลนส์