ความหมาย แสบจมูก (Nose Burning)
แสบจมูก (Nose Burning) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อโพรงจมูกเกิดการระคายเคืองหรืออักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกแสบหรือเจ็บในจมูก รวมถึงอาจเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คันจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล โดยอาการแสบจมูกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสูดดมควัน มลพิษ หรือสารเคมี ภูมิแพ้ การติดเชื้อต่าง ๆ
แสบจมูกมักเป็นอาการที่ไม่อันตราย แต่อาจทำให้รู้สึกรำคาญหรือไม่สบายตัวได้ ซึ่งอาการแสบจมูกเป็นอาการที่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตัวเอง ทั้งนี้ หากอาการแสบจมูกไม่ดีขึ้น หรือพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง น้ำมูกมีเลือดปน ผื่นลมพิษ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างได้
สาเหตุของแสบจมูก
แสบจมูกอาจเกิดขึ้นจากการระคายเคือง หรือเกิดจากการอักเสบภายในโพรงจมูก ซึ่งแสบจมูกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุต่าง ๆ เช่น
การอยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น
การอยู่ในห้องหรือบริเวณที่มีอากาศเย็น อย่างเช่น ห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ อาจทำให้แสบจมูกได้ เนื่องจากภายในห้องแอร์หรือบริเวณที่อากาศเย็นจัดมักมีความชื้นในอากาศน้อย จึงอาจส่งผลให้จมูกแห้ง เกิดการระคายเคือง และทำให้รู้สึกแสบจมูกได้
การสูดดมควัน ฝุ่น มลพิษ หรือสารเคมี
การสูดดมควัน ฝุ่น มลพิษ หรือสารเคมี เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ หรือสารต่าง ๆ ในน้ำยาทำความสะอาด อาจทำให้ภายในโพรงจมูกเกิดการระคายเคืองได้ โดยการสูดดมสิ่งเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกแสบจมูกได้
โรคภูมิแพ้อากาศ (Allergic rhinitis)
โรคภูมิแพ้อากาศหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ฝุ่น เข้าสู่ร่างกาย โดยร่างกายจะปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า ฮิสตามีน ซึ่งสารชนิดนี้อาจทำให้เยื่อบุจมูกเกิดการอักเสบ และส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น แสบจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้ออกจากร่างกาย
การติดเชื้อ
การติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจอาจส่งผลให้เกิดอาการแสบจมูกได้ โดยเฉพาะโรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis) ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสารคัดหลั่งหรือน้ำมูกสะสมอยู่ในบริเวณไซนัส จึงอาจทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตเกิดการติดเชื้อ และทำให้บริเวณไซนัสเกิดการอักเสบ ซึ่งอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น น้ำมูกสีเขียว คัดจมูก ร่วมกับอาการแสบจมูก
นอกจากไซนัสอักเสบแล้ว การติดเชื้ออื่น ๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการแสบจมูกได้ เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โควิด-19
การใช้ยา
การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการแสบจมูกได้ เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก โดยยาเหล่านี้จะช่วยลดน้ำมูกให้น้อยลง แต่หากใช้ยาเหล่านี้มากเกินไป อาจทำให้จมูกแห้ง ระคายเคือง และทำให้เกิดอาการแสบจมูกตามมาได้
อาการแสบจมูก
แสบจมูกเป็นอาการที่อาจส่งผลให้ผู้ที่มีอาการรู้สึกแสบหรือเจ็บภายในโพรงจมูก โดยอาการแสบจมูกมักเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุ ซึ่งอาการที่อาจพบได้ร่วมกับอาการแสบจมูกมีหลายอาการ เช่น
- คันจมูก
- จาม
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- น้ำมูกไหลลงคอ หรือมีเสมหะ
- เจ็บคอwww.pobpad.com/เจ็บคอ
- มีไข้
- ไอ
อาการแสบจมูกที่ควรไปพบแพทย์
อาการแสบจมูกมักดีขึ้นได้เอง ทั้งนี้ ควรไปพบแพทย์หากอาการแสบจมูกยังคงไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ หรือมีอาการแสบจมูกร่วมกับอาการต่าง ๆ เช่น
- มีไข้ขึ้นสูง
- รู้สึกจุกคอ หายใจลำบาก หรือหายใจไม่ออก
- ผื่นลมพิษ
- เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม หรือหมดสติ
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- น้ำมูกหรือเสมหะมีเลือดปน
โดยแพทย์อาจวินิจฉัยอาการเพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
การวินิจฉัยอาการแสบจมูก
แพทย์มักวินิจฉัยอาการแสบจมูกด้วยการซักประวัติ สอบถามอาการ และตรวจร่างกาย นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจด้วยวิธีอื่นเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น
- การส่องกล้องตรวจช่องจมูก (Nasal endoscopy) แพทย์อาจตรวจภายในช่องจมูกด้วยการส่องกล้องเพื่อสาเหตุของอาการแสบจมูก รวมไปถึงอาการต่าง ๆ เช่น อาการคัดจมูก ไซนัสอักเสบ
- การตรวจเลือด หากแพทย์สงสัยว่าอาการแสบจมูกเกิดจากโรคภูมิแพ้อากาศ แพทย์อาจให้ตรวจเลือดเพื่อทดสอบหาโรคภูมิแพ้
- การตรวจโดยการสวอป (Swab Test) หากแพทย์สงสัยว่าอาการแสบจมูกเกิดจากไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19 แพทย์อาจเก็บตัวอย่างของเนื้อเยื่อและสารคัดหลั่งภายในจมูกเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ
- การทำซีที สแกน (CT scan) แพทย์อาจใช้การตรวจชนิดนี้ตรวจดูบริเวณไซนัส เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของโรคไซนัสอักเสบที่ทำให้เกิดอาการแสบจมูก
การรักษาอาการแสบจมูก
การรักษาอาการแสบจมูกด้วยวิธีต่าง ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการแสบจมูกในเบื้องต้นได้ เช่น
- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ การล้างจมูกอาจช่วยทำความสะอาดน้ำมูก หรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ภายในโพรงจมูก ซึ่งอาจช่วยลดการระคายเคืองและแสบจมูกได้ นอกจากนี้ การล้างจมูกยังอาจช่วยรักษาความชุ่มชื้นภายในจมูก และป้องกันไม่ให้จมูกแห้งจนเกินไปอีกด้วย
- สูดดมไอน้ำร้อนหรืออาบน้ำอุ่น ความร้อนและความชื้นอาจช่วยบรรเทาอาการแสบจมูก และอาการอื่น ๆ เช่น คัดจมูก จมูกแห้ง
- เปิดประตูหรือหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ อาจช่วยบรรเทาอาการแสบจมูกเนื่องจากการสูดดมสารเคมีได้
- ใช้เครื่องทำความชื้น หากอาการแสบจมูกเกิดจากการอยู่ภายในห้องที่มีอากาศแห้งและเย็นจัด อย่างห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ การใช้เครื่องทำความชื้นอาจช่วยเพิ่มความชื้นภายในห้อง และลดอาการระคายเคืองได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติและช่วยรักษาความชุ่มชื้นภายในโพรงจมูก
นอกจากนี้ การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแสบจมูกก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งวิธีการรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรคหรือปัญหาสุขภาพนั้น ๆ เช่น หากอาการแสบจมูกเกิดจากโรคภูมิแพ้ อาจกินยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากอาการแสบจมูกเกิดจากโรคไซนัสอักเสบ และแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อที่เกิดขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนอาการแสบจมูก
อาการแสบจมูกมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แต่อาจทำให้ผู้ที่มีอาการแสบจมูกรู้สึกเจ็บ รำคาญ หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นจากโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของอาการแสบจมูก เช่น
- อาการแสบจมูกที่เกิดจากโรคภูมิแพ้อากาศ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหืด โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- อาการแสบจมูกที่เกิดจากการสูดดมฝุ่น ควัน หรือมลพิษ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคปอดอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด มะเร็งปอด
การป้องกันอาการแสบจมูก
การป้องกันอาการแสบจมูกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท ทำความสะอาดบ้านหรือชุดเครื่องนอนเป็นประจำ ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในห้องนอน และล้างมือเป็นประจำหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง
- สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดดมสารเคมี นอกจากนี้ การสวมหน้ากากอนามัยยังอาจช่วยป้องกันการสูดดมฝุ่น ควัน มลพิษ สารก่อภูมิแพ้หรือเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอีกด้วย
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดเป็นประจำ อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น วิธีนี้อาจช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรืออยู่ในบริเวณที่มีควันเยอะ เพราะควันอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและแสบจมูกได้
- รับประทานยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำเท่านั้น และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไปหรือเยอะเกินไป
อย่างไรก็ตาม อาการแสบจมูกมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรง และสามารถดูแลรักษาเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง หากพบอาการหรือสัญญาณผิดปกติต่าง ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจตามมา