โปรตีนรั่ว (Proteinuria) หรือภาวะที่ปัสสาวะมีโปรตีนปนอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในบางครั้งอาจเป็นเพียงสาเหตุที่เกิดขึ้นชั่วคราว อย่างการขาดน้ำ หรือการออกกำลังกายหนัก แต่ในบางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของโรคที่เกี่ยวกับไต การเรียนรู้วิธีสังเกตตัวเองเอาไว้จึงสำคัญ
โปรตีนเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกายในหลาย ๆ ด้าน โดยไตจะเป็นอวัยวะสำคัญที่จะช่วยกรองของเสียในเลือดและป้องกันโปรตีนปนออกมากับปัสสาวะ การตรวจพบโปรตีนรั่วหรือระดับโปรตีนในปัสสาวะสูงจึงอาจเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างของร่างกายได้
สาเหตุของภาวะโปรตีนรั่ว
โปรตีนรั่ว หรือภาวะที่ร่างกายขับโปรตีนอัลบูมิน (Albumin) ออกมากับปัสสาวะในปริมาณมาก เป็นภาวะที่สามารถเกิดได้กับทุกคน แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจจะมีโอกาสเกิดมากกว่า เช่น ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคไต หรือเบาหวาน
ส่วนสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็มีตั้งแต่สาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดโปรตีนรั่วชั่วคราว ไปจนถึงสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด โดยสาเหตุที่อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวก็เช่น การออกกำลังกายอย่างหนัก ความเครียด ภาวะขาดน้ำ ภาวะความดันโลหิตต่ำ
ส่วนด้านโรคที่อาจเป็นสาเหตุก็เช่น
- โรคไตเรื้อรัง
- ภาวะไตอักเสบ
- นิ่วในไต
- เนโฟรติก ซินโดรม (Nephrotic Syndrome)
- มะเร็งไต
- โรคไตจากเบาหวาน (Diabetic Nephropathy)
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ
- โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- หัวใจล้มเหลว
- เบาหวาน
- มะเร็งไต
อาการของภาวะโปรตีนรั่ว
โปรตีนรั่วเป็นภาวะที่สังเกตอาการได้ยาก เนื่องจากในช่วงแรก ผู้ที่มีภาวะนี้มักไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ทางร่างกาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่มีภาวะโปรตีนรั่วอาจพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ได้
- เกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า ท้อง เท้า และข้อเท้า
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ปัสสาวะเป็นฟอง
- เป็นตะคริวตอนกลางคืน
- เกิดอาการบวมบริเวณรอบ ๆ ดวงตา โดยเฉพาะในช่วงเช้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หายใจไม่อิ่ม
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะโปรตีนรั่ว
โดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะโปรตีนรั่วที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวมักไม่ได้ส่งผลรุนแรงใด ๆ ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ปัญหานี้อาจกำลังบ่งบอกหรือนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงได้ โดยเฉพาะเมื่อภาวะนี้เกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น เช่น บวมตามร่างกาย ปัสสาวะน้อยลง หรือเกิดในผู้ที่มีระดับยูเรีย (Urea) และครีเอตินิน (Creatinine) สูง
ดังนั้น ผู้ที่เริ่มมีอาการของภาวะโปรตีนรั่วอย่างที่ได้กล่าวไป ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากการจะตรวจดูว่า ผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะโปรตีนรั่วหรือไม่ แพทย์จำเป็นต้องส่งตรวจปัสสาวะ รวมถึงการรักษา แพทย์จำเป็นต้องเลือกวิธีตามสาเหตุที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคนอีกด้วย