โรคซึมเศร้าหลังแท้งบุตรเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นได้หลังจากเสียลูกน้อยในครรภ์ไป การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่นี้อาจเป็นเรื่องยากต่อการทำใจสำหรับคู่สามีภรรยา ดังนั้น การเรียนรู้วิธีรับมือกับสถานการณ์นี้จึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งต่อผู้หญิงที่แท้งบุตรและคนในครอบครัว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถข้ามผ่านความโศกเศร้าและกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง
โรคซึมเศร้าหลังแท้งบุตรเป็นอย่างไร ?
ภาวะแท้งบุตรสามารถสร้างผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ที่ตั้งครรภ์ พ่อเด็ก รวมถึงคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้ โดยอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะทำใจได้ และอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าซึ่งเป็นภาวะโศกเศร้าเสียใจอย่างรุนแรงและยาวนาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง นอกจากนี้ การแท้งบุตรอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของหญิงตั้งครรภ์จนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ด้วยเช่นกัน
โรคซึมเศร้าหลังแท้งบุตรมีอาการอย่างไร ?
สายสัมพันธ์ระหว่างแม่และเด็กนั้นสามารถก่อตัวขึ้นได้อย่างแน่นแฟ้นแม้ในช่วงการตั้งครรภ์เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ผู้หญิงที่ผ่านการแท้งบุตรจึงอาจต้องเผชิญกับภาวะอารมณ์แปรปรวนและสับสนอย่างหนักเนื่องจากความเสียใจ โดยอาจสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกโกรธ ซึมเศร้า หรือรู้สึกผิดและโทษตัวเองว่าหากไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็อาจไม่แท้งบุตร ซึ่งจริง ๆ แล้วการแท้งบุตรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติและไม่อาจป้องกันได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของคุณแม่แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ผลกระทบทางอารมณ์และทางจิตใจอาจส่งผลให้ผู้หญิงที่แท้งบุตรมีอาการทางร่างกายเกิดขึ้นได้ด้วย เช่น
- มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น
- ร้องไห้บ่อย
- อ่อนเพลีย
- ไม่มีสมาธิ
- ความอยากอาหารลดลง
- มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดอย่างครอบครัวหรือเพื่อน
- คิดทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนหลังการแท้งบุตรอาจทำให้อาการข้างต้นยิ่งรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น บุคคลรอบข้างควรเฝ้าดูแลและคอยให้กำลังใจผู้ที่แท้งบุตรอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะสามีและคนในครอบครัว ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพและเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้
การแท้งบุตรส่งผลกระทบกับฝ่ายสามีด้วยหรือไม่ ?
การสูญเสียทารกในครรภ์ไม่เพียงส่งผลต่อผู้หญิงที่แท้งบุตร แต่ยังกระทบต่อฝ่ายสามีได้ด้วยเช่นกัน โดยมีการศึกษาพบว่ามีผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังภรรยาแท้งบุตร แต่ผู้ชายจะทำใจได้เร็วกว่าผู้หญิง ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าสายสัมพันธ์ระหว่างทารกกับพ่อและแม่มีความแตกต่างกัน โดยผู้หญิงจะรู้สึกผูกพันมากกว่า เนื่องจากทารกอยู่ภายในครรภ์และมักเริ่มเกิดความรู้สึกผูกพันตั้งแต่ทราบว่าตนตั้งครรภ์ ส่วนผู้ชายมักเกิดความผูกพันอย่างเด่นชัดหลังทารกคลอดออกมาแล้ว เมื่อภรรยาเกิดการแท้งบุตร สามีจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางจิตใจน้อยกว่า ซึ่งในบางกรณีความโศกเศร้าที่ต่างกันก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตคู่ได้เช่นกัน
วิธีรับมือโรคซึมเศร้าหลังแท้งบุตร
ผู้หญิงที่เผชิญความสูญเสียจากการแท้งบุตรอาจต้องใช้เวลานานในการพักฟื้นจิตใจ และหากมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ รวมถึงสามีของผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ด้วย โดยแนวทางการรักษาภาวะซึมเศร้าและการดูแลตนเองในระหว่างนี้ ได้แก่
การรักษาจากแพทย์
- การใช้ยาต้านเศร้า เป็นยาที่มีฤทธิ์ช่วยปรับสารเคมีในสมองที่ส่งผลให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้า
- การทำจิตบำบัด เป็นการรักษาโดยการพูดคุยและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีจัดการอารมณ์และความรู้สึก ปรับความคิดและมุมมองต่อปัญหา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับความโศกเศร้าได้ดียิ่งขึ้น
- การรักษาด้วยไฟฟ้า แพทย์อาจใช้กระแสไฟอ่อน ๆ กระตุ้นสมองของผู้ป่วย ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
การดูแลตนเอง
ในระหว่างที่รักษาโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีเรี่ยวแรง และส่งผลให้อาการป่วยดีขึ้นได้ เช่น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การดูแลคู่ครอง
กำลังใจจากสามีก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผูู้ป่วยรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังแท้งบุตรได้ และทั้งคู่ควรทำความเข้าใจว่าผู้หญิงและผู้ชายมีการแสดงออกถึงความเศร้าเสียใจและการรับมือกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน แม้สามีจะไม่ได้แสดงออกมากนักก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เสียใจ ส่วนสามีก็ควรพยายามเข้าใจและปลอบใจจนกระทั่งภรรยาทำใจได้ ทั้งคู่ควรสื่อสารและบอกเล่าแบ่งปันความรู้สึกของกันและกัน เพราะการเผชิญหน้ากับความโศกเศร้าเสียใจจะช่วยให้ทำใจยอมรับการสูญเสียได้ดีกว่าการเก็บความรู้สึกไว้ เพื่อให้ทั้งคู่สามารถข้ามผ่านความสูญเสียครั้งนี้ไปด้วยกันได้ในที่สุด
ใช้เวลานานเพียงใดจึงจะหายจากโรคซึมเศร้าหลังแท้งบุตร ?
โรคซึมเศร้าที่เกิดกับผู้หญิงแท้งบุตรจะค่อย ๆ เริ่มดีขึ้นภายในเวลาประมาณ 1 ปีหลังการสูญเสีย โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้อาการดีขึ้น คือ การรักษาทางการแพทย์ และการเอาใจใส่จากบุคคลใกล้ชิด ซึ่งหลังจากรักษาจนหายดีแล้ว ผู้หญิงที่เคยแท้งบุตรส่วนใหญ่จะสามารถตั้งครรภ์และมีบุตรได้สมความตั้งใจในครั้งต่อไป มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเกิดการแท้งซ้ำอีก