ความหมาย โรคลักปิดลักเปิด
โรคลักปิดลักเปิด เป็นภาวะที่ร่างกายขาดวิตามินซีขั้นรุนแรงและเรื้อรัง ทั้งจากการรับประทานอาหารที่ไม่มีวิตามินซี หรือรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานาน จนทำให้มีอาการต่าง ๆ อย่างเลือดออกตามไรฟัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้ร่างกายขาดวิตามินซีอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ฟันโยก ตาโปน หรือเลือดออกใต้ผิวหนัง เป็นต้น
อาการของโรคลักปิดลักเปิด
เนื่องจากวิตามินซีเป็นวิตามินที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกายหลายระบบ การขาดวิตามินซีจึงอาจทำให้เกิดอาการได้อย่างหลากหลาย ซึ่งอาการแรกเริ่มจะปรากฏหลังจากการขาดวิตามินซีรุนแรงอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และหากร่างกายยังคงอยู่ในภาวะขาดวิตามินซีไปเรื่อย ๆ หลังจากนั้นอีก 3 เดือนจะปรากฏอาการของโรคลักปิดลักเปิดที่รุนแรงขึ้น
โดยอาการของโรคลักปิดลักเปิด มีดังนี้
อาการในระยะแรก
ในช่วงแรกนั้นอาจยังไม่มีอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคลักปิดลักเปิดอย่างเด่นชัด โดยอาการต่าง ๆ อาจคล้ายกับอาการอื่นที่ไม่รุนแรงทั่วไป เช่น
- รู้สึกไม่ค่อยสบาย หรือรู้สึกผิดแปลกไปจากปกติ
- ความอยากอาหารลดลง หรือไม่อยากอาหาร
- อารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิด โกรธง่าย
- หมดแรง เหนื่อยล้า หรือรู้สึกอ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ
- คลื่นไส้
- ท้องเสีย
- เป็นไข้
- ปวดขา เจ็บปวดตามข้อต่อกระดูกหรือกล้ามเนื้อต่าง ๆ
- เลือดออกตามรูขุมขนที่ผิวหนังเป็นจุดเล็ก ๆ ขนาดเท่าปลายเข็ม
อาการในระยะหลัง
หลังจากขาดวิตามินรุนแรงเป็นเวลา 3 เดือน อาการต่าง ๆ ของโรคลักปิดลักเปิดจะเริ่มรุนแรงขึ้น และมีลักษณะเฉพาะมากขึ้น ดังนี้
- เหงือกบอบบางหรือมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีสีออกม่วง และมีเลือดออกได้ง่าย
- ฟันโยก ฟันผุ
- ตาโปน ตาไวต่อแสง เห็นภาพไม่ชัด
- ผิวแห้ง ผิวเป็นเกล็ดสีออกน้ำตาล
- ขนแห้ง หยิก และแตกปลาย หรือขนแตกใกล้บริเวณโคนขน
- แผลหายช้า และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานช้าลง
- มีเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือมีรอยช้ำสีออกแดง ม่วง หรือดำขนาดใหญ่บริเวณขาหรือแขน
- เลือดออกภายในข้อต่อหรือกล้ามเนื้อต่าง ๆ จนทำให้ขาหรือแขนในบริเวณดังกล่าวบวม หรือข้อต่อบวม
- เกิดภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น เป็นโรคโลหิตจาง หรือโรคเหงือกอักเสบ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากปรากฏอาการ ดังต่อไปนี้
- เหงือกบวม มีเลือดออก และอาจฟันร่วงด้วยในบางกรณี
- ผิวช้ำง่าย หรือมีรอยช้ำสีแดงม่วงตามผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นบริเวณหน้าแข้ง
- รู้สึกเหนื่อย และหมดแรงตลอดเวลา
- รู้สึกไม่ค่อยสบาย และเศร้าตลอดเวลา
- ปวดข้อต่อ หรือปวดขารุนแรง
สาเหตุของโรคลักปิดลักเปิด
โรคลักปิดลักเปิดเกิดจากร่างกายขาดวิตามินซีเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน และเนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีขึ้นมาเองได้ การขาดวิตามินซีจึงอาจเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารที่ไม่มีวิตามินซี มีวิตามินซีน้อย หรือไม่รับประทานผักผลไม้ซึ่งเป็นแหล่งวิตามินซี
โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้ อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคลักปิดลักเปิดได้มากขึ้น
- ติดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์ และมีสุขภาพร่างกายไม่ดี หรือรับประทานอาหารไม่ครบทุกหมู่
- สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ส่งผลกระทบต่อการดูดซึมวิตามินซี ซึ่งทำให้ร่างกายใช้วิตามินซีเร็วกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่
- ตั้งครรภ์ และกำลังให้นมบุตร เพราะร่างกายต้องการวิตามินซีปริมาณมากในช่วงเวลาดังกล่าว
- ทารกในครรภ์ที่มีมารดาประสบภาวะทุพโภชนาการ
- เด็กแรกเกิดที่ถูกเลี้ยงด้วยนมข้นหวานหรือนมต้ม และเด็กที่ร่างกายมีปัญหาในการดูดซึมสารอาหาร
- ผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารในปริมาณน้อยและไม่หลากหลาย หรือมีอายุมากจนส่งผลให้ปรุงอาหารเองหรือรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ได้ยากลำบาก
- ควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก โดยรับประทานอาหารที่มีสารอาหารและวิตามินซีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- รับประทานอาหารปริมาณน้อย ซึ่งอาจเกิดจากการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่อยากอาหาร เช่น โรคการกินผิดปกติอย่างโรคคลั่งผอมอะนอเร็กเซีย (Anorexia) เป็นต้น
- กำลังได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด
- เป็นโรคไต หรือกำลังอยู่ในช่วงฟอกไต
- มีอาการเจ็บป่วยที่ทำให้ร่างกายป้องกันการดูดซึมสารอาหารหรือไม่สามารถดูดซึมวิตามินซีได้ เช่น โรคโครห์น โรคการดูดซึมอาหารผิดปกติ โรคลำไส้อักเสบ หรืออาหารไม่ย่อยอย่างรุนแรง เป็นต้น
- มีรายได้น้อย จึงไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายสำหรับอาหารที่มีวิตามินซีสูง
- อยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถหาผักหรือผลไม้ที่มีวิตามินซีมารับประทานได้
การวินิจฉัยโรคลักปิดลักเปิด
แพทย์อาจวินิจฉัยโรคลักปิดลักเปิดโดยการซักถามเกี่ยวกับอาหารต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานในช่วงที่ผ่านมา และตรวจร่างกายรวมถึงตรวจประวัติทางการแพทย์ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูระดับวิตามินซีในเลือด และการเอกซเรย์กระดูกหรือข้อต่อต่าง ๆ เข่า ข้อมือ และกระดูกซี่โครง เพื่อสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงที่บ่งบอกว่าขาดวิตามินซีอย่างกระดูกบางลง เป็นต้น
การรักษาโรคลักปิดลักเปิด
แม้โรคลักปิดลักเปิดเป็นโรคที่อาจแสดงอาการค่อนข้างรุนแรงแต่กลับรักษาได้ไม่ยาก เพียงบริโภควิตามินซีให้เพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งทำได้โดยรับประทานผักหรือผลไม้วันละ 5 หน่วยบริโภค หรืออาจมีวิธีรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
- ผู้ใหญ่ รับประทานวิตามินซีปริมาณ 800-1000 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- เด็ก รับประทานวิตามินซีปริมาณ 150-300 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 1 เดือน
หลังจากร่างกายได้รับวิตามินซี อาการเลือดออกตามไรฟันและอาการทางผิวหนังต่าง ๆ มักดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนอาการอื่น ๆ มักดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายดีภายใน 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม หากอาการต่าง ๆ ไม่ทุเลาลง หรือปรากฏอาการที่รุนแรงขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อปรับปริมาณการรับวิตามินซีให้เหมาะสม เนื่องจากการรักษาโรคลักปิดลักเปิดไม่มีปริมาณการให้วิตามินซีที่แน่ชัด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานวิตามินซีในปริมาณมากติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือนานกว่านั้นตามแต่กรณี โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากการบริโภควิตามินซีมากเกินไปอาจลดประสิทธิภาพการทำงานของยาบางชนิดที่ใช้ หรืออาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ทำให้คลื่นไส้ ท้องเสีย หรือทำให้ผู้ที่เป็นโรคไตเกิดนิ่วในไต เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคลักปิดลักเปิด
หากมีอาการของโรคลักปิดลักเปิดมาเป็นเวลานานและไม่รีบรับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยอาจปรากฏภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- เผชิญภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง
- กระดูกหยุดงอกก่อนวัยอันควรในเด็กหรือทารก
- หัวใจวาย
- หมดสติ
- เสียชีวิต
การป้องกันโรคลักปิดลักเปิด
โรคลักปิดลักเปิดสามารถป้องกันได้โดยการรับประทานวิตามินซีให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจรับประทานผลไม้วิตามินซีสูง เช่น ส้ม มะละกอ สับปะรด มะม่วง ฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี่ แคนตาลูป และเมล่อน เป็นต้น หรืออาจเลือกรับประทานอาหารเสริมวิตามินซีภายใต้คำแนะนำของแพทย์
โดยปริมาณวิตามินซีที่ควรบริโภคต่อวันโดยประมาณ มีดังนี้
- อายุ 1-10 ปี ปริมาณ 30 มิลลิกรัม/วัน
- อายุ 11-14 ปี ปริมาณ 35 มิลลิกรัม/วัน
- อายุ 15 ปีขึ้นไป ปริมาณ 40 มิลลิกรัม/วัน
ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินซีที่ควรบริโภคต่อวันสำหรับแต่ละบุคคลอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย อย่างเพศหรือภาวะต่าง ๆ เนื่องจากผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรอาจต้องบริโภควิตามินซีมากกว่าปริมาณทั่วไปที่แนะนำในบริโภคต่อวัน ดังนั้น ผู้ที่ไม่แน่ใจหรือกำลังอยู่ในภาวะต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมก่อนบริโภควิตามินซีเสมอ