ความหมาย โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม
Avm (Cerebral arteriovenous malformation) หรือโรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม เป็นโรคที่พบได้ยาก อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา โรคนี้เกิดจากการเชื่อมต่อที่ผิดปกติระหว่างหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงในสมองที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติ อย่างอาการปวดศีรษะ สับสน ชัก มีปัญหาในการมองเห็น หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยอาการเหล่านี้อาจปรากฏขึ้นในภายหลัง ส่วนวิธีรักษานั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดหลอดเลือดที่ผิดปกติ อาการ ลักษณะของผู้ป่วย รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
อาการของ AVM
ภาวะเลือดออกในสมองเป็นอาการที่มักพบกว่าครึ่งหนึ่งในระยะแรกของโรค AVM ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น สับสน ได้ยินเสียงหวี่ภายในหู ปวดศีรษะข้างเดียวลักษณะคล้ายไมเกรนแต่ก็อาจปวดได้หลายจุดเช่นกัน มีปัญหาในการเดิน ชัก เป็นต้น แต่ผู้ที่ไม่มีเลือดออกในสมองอาจมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ชัก และอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
นอกจากนี้ ความผิดปกติของโรค AVM ยังอาจทำให้เกิดความดันสูงในสมอง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ มีปัญหาในการมองเห็น กล้ามเนื้ออ่อนแรงตามร่างกายหรือใบหน้า รวมทั้งมีอาการชาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ตำแหน่งของ AVM นั้นเกี่ยวข้องกับลักษณะอาการทางประสาทที่รุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาต สูญเสียการมองเห็น พูดติดขัด สับสน ไม่สามารถเข้าใจการสื่อสารจากคนอื่นได้ และเสียการทรงตัว เป็นต้น นอกจากนี้ โรค AVM ยังมีอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว คือ อาการหลอดเลือดดำเกเลน (Vein of Galen) บกพร่องที่อาจส่งผลให้สมองบวม เส้นเลือดบนศีรษะปูดบวมจนสามารถเห็นได้ เกิดอาการชัก หยุดการเจริญเติบโต และหัวใจวายได้
สาเหตุของ AVM
โดยปกติแล้วหลอดเลือดแดงนั้นมีหน้าที่ในการลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนไปสู่สมอง โดยเลือดในหลอดเลือดแดงจะไหลเวียนอย่างช้า ๆ ผ่านกลุ่มหลอดเลือดฝอยจำนวนมาก และจะค่อย ๆ เข้าสู่ผนังที่มีรูขนาดเล็กรอบเนื้อเยื่อสมองอย่างช้า ๆ เพื่อเติมออกซิเจนและสารอาหารให้กับเนื้อเยื่อสมอง จากนั้นเลือดจะไหลเวียนเข้าตามเส้นเลือดฝอยและกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำที่มีหน้าที่ลำเลียงเลือดกลับสู่หัวใจและปอดเพื่อเติมออกซิเจน
แต่ในผู้ที่เป็นโรค AVM กลุ่มหลอดเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงนั้นเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้เลือดจากหลอดเลือดแดงไหลเวียนตรงสู่หลอดเลือดดำเร็วกว่าปกติโดยไม่ผ่านกลุ่มหลอดเลือดฝอย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยและแพทย์ยังไม่พบสาเหตุหลักของโรคนี้ แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาที่บกพร่องตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์ที่ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้น นอกจากนี้ โรค AVM ยังอาจส่งผ่านทางพันธุกรรมได้อีกด้วย
การวินิจฉัย AVM
แพทย์อาจเริ่มต้นการวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกาย และสอบถามอาการ โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาท นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการตรวจสอบ ดังนี้
- ตรวจเส้นเลือดสมองด้วยการฉีดสี (Cerebral arteriography) เป็นการตรวจสอบลักษณะและตำแหน่งของหลอดเลือดที่เกิดความผิดปกติ เพื่อนำมาวางแผนในการรักษา
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อแสดงรายละเอียดภายในสมอง ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจฉีดสีเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อที่จะได้รายละเอียดของส่วนที่ผิดปกติชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เป็นการประมวลผลคลื่นไฟฟ้าภายในเซลล์สมองซึ่งจะแสดงผลออกมาในรูปแบบของกราฟ ที่อาจบอกได้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในสมอง
- ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการใช้แม่เหล็กแรงสูงและคลื่นวิทยุเพื่อแสดงภาพในสมอง โดย MRI อาจสามารถบอกได้ถึงตำแหน่งของ AVM ได้และยังสามารถแสดงรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อสมองได้ด้วย
การรักษา AVM
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็มมักมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง ร่วมถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยแพทย์อาจเลือกวิธีในการรักษาแตกต่างกันไปตามลักษณะของผู้ป่วยแต่ละคน อย่างอายุ ปัญหาสุขภาพ การตั้งครรภ์ อาการ รวมถึงตำแหน่ง และขนาดของ AVM ซึ่งวิธีที่แพทย์ใช้รักษาโรค AVM อาจมีดังนี้
- การอุดเส้นเลือด (Endovascular embolization) แพทย์จะสอดท่อที่มีขนาดเล็ก บาง และยาวเข้าไปตามหลอดเลือด เมื่อไปถึงตำแหน่งที่พบปัญหาแพทย์จะใช้อุปกรณ์ อย่างลวดขนาดเล็ก กาว หรือบอลลูนไปอุดในหลอดเลือดเพื่อลดการไหลเวียนเลือดในส่วนนั้น โดยแพทย์อาจใช้เพียงวิธีนี้ในการรักษา หรือใช้วิธีนี้เพื่อลดความของภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาในรูปแบบอื่นด้วย
- การผ่าตัด (Surgical removal) เพื่อนำหลอดเลือดบริเวณที่ผิดปกติออก แพทย์มักจะนำวิธีมาใช้ ในกรณีที่ AVM นั้นอยู่ไม่ลึกมากและมีความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในสมองหรืออาการชักอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งความเสี่ยงนั้นจะสูงขึ้นตามระดับความลึกของบริเวณที่เป็นปัญหา
- รังสีศัลยกรรม (Stereotactic radiosurgery) เป็นการใช้รังสีในการรักษาด้วยวิธีการฉายรังสีพลังงานสูงไปยังบริเวณหลอดเลือดเพื่อทำลายส่วนที่มีปัญหา โดยระดับพลังงานของรังสีนั้นอาจขึ้นอยู่กับอาการผิดปกติ มักใช้ในกรณีที่ AVM นั้นมีขนาดเล็กและอยู่ลึกเข้าไปในสมอง หรือสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเลือดออกที่รุนแรง
ภาวะแทรกซ้อนของ AVM
ภาวะแทรกซ้อนจาก AVM อาจแบ่งออกเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรค และจากการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ดังนี้
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรค อาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น มีปัญหาในการมองเห็นและการสื่อสาร ปวดศีรษะเป็นเวลานาน สมองได้รับความเสียหาย ภาวะเลือดออกในสมอง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage) ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) หลอดเลือดฉีกขาดง่าย อาการชาตามร่างกายและใบหน้า กล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ อ่อนแรง และอาจทำให้เกิดอาการชัก เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลังจากการรักษา เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง สมองบวม ชัก และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
การป้องกัน AVM
โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็มนั้นเป็นที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นโรคอาจเกิดมาจากพันธุกรรมที่มักเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารหรือเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับโรค AVM คือการหมั่นสังเกตอาการผิดปกที่เกิดขึ้น ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด