ความหมาย โรคอ้วนในเด็ก (Childhood Obesity)
โรคอ้วนในเด็ก (Childhood Obesity) เป็นภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป ซึ่งส่งผลให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง กระดูกหรือข้อต่อมีปัญหา มีปัญหาด้านการหายใจ ขาดความมั่นใจในตนเอง เป็นต้น
โดยทั่วไป เด็กที่เป็นโรคอ้วนมักมีแนวโน้มที่จะมีภาวะอ้วนเรื้อรังไปจนถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ทางการแพทย์จึงอาจแนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปปรึกษาแพทย์ หากเห็นว่าบุตรหลานมีภาวะน้ำหนักเกิน เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ
อาการของโรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วนในเด็กทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ มากมาย ทั้งโรคเบาหวาน โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา โรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก หรือโรคอื่น ๆ ผู้ปกครองจึงอาจสังเกตได้จากอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น เด็กหายใจลำบาก นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ มีปัญหาด้านการเรียน หรือปวดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายที่ต้องรับน้ำหนัก อย่างสะโพก หรือหัวเข่า เป็นต้น
เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีขนาดของโครงร่างกายและการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การวัดน้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กเป็นโรคอ้วนหรือไม่ หากกังวลว่าบุตรหลานป่วยเป็นโรคอ้วน ให้พาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม โดยอาจสังเกตจากอาการในข้างต้นหรือน้ำหนักตัวของเด็กที่มากผิดปกติเมื่อเทียบกับช่วงอายุและส่วนสูงของเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งแพทย์อาจต้องวินิจฉัยจากการวัดปริมาณมวลไขมันในร่างกายของเด็กร่วมกับวิธีทางการแพทย์ต่าง ๆ
สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วนในเด็กมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายมีพลังงานหรือไขมันสะสมมากเกินความต้องการ โดยอาจเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น
- พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยมักจะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีไขมันและน้ำตาลสูงเป็นประจำ
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันหรือทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยได้ขยับตัวเป็นประจำ อย่างการนั่งดูโทรทัศน์นาน ๆ และไม่ค่อยออกกำลังกาย
- ความผิดปกติทางสภาวะจิตใจบางอย่างอาจส่งผลให้ร่างกายรู้สึกอยากอาหารมากขึ้น อย่างความเครียดหรือความเบื่อหน่าย
- พันธุกรรม ปัจจัยบางอย่างทางพันธุกรรมอาจส่งผลให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน เช่น พ่อหรือแม่ป่วยเป็นโรคอ้วน หรือป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสะสมหรือเผาผลาญไขมัน เป็นต้น
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) ยาลิเทียม (Lithium) ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ยาพาร็อกซีทีน (Paroxetine) ยากาบาเพนติน (Gabapentin) หรือยาโพรพราโนลอล (Propranolol) เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคอ้วนในเด็ก
ในการวินิจฉัยโรคอ้วนในเด็ก แพทย์จะวัดน้ำหนักตัวของเด็กเพื่อนำไปเทียบกับค่าน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง รวมถึงวัดค่าดัชนีมวลกาย โดยการนำน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง และนำค่าที่ได้มาเทียบกับค่ามาตรฐานของเด็กในช่วงวัยและเพศเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีการวัดค่าดัชนีมวลกายอาจไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเด็กเป็นโรคอ้วนหรือไม่ เนื่องจากเด็กบางคนที่มีมวลกล้ามเนื้อเยอะ ทำให้มีน้ำหนักมากกว่าไขมัน จึงอาจส่งผลให้ค่าดัชนีมวลกายสูงขึ้นตามไปด้วย แพทย์อาจพิจารณาปัจจัยอื่นเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง นอกจากนี้แพทย์จะสอบถามประวัติการเกิดโรคอ้วน หรือโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ จากโรคอ้วนในครอบครัว พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ พฤติกรรมการนอน หรือความผิดปกติทางสภาวะจิตใจ เป็นต้น
แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม อย่างการตรวจเลือด เพื่อดูระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด ความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วน
การรักษาโรคอ้วนในเด็ก
ในการรักษาโรคอ้วนในเด็ก แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของผู้ป่วย เช่น
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในการรักษาโรคอ้วนในเด็กเบื้องต้น แพทย์จะเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ของเด็ก ทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ปกครองคอยควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารของเด็ก รวมถึงปรับเปลี่ยนชนิดอาหารที่เด็กรับประทาน เช่น ลดปริมาณอาหารหรือขนมที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ลดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง และเพิ่มปริมาณการรับประทานผักหรือผลไม้ เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ปกครองหมั่นสังเกตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก โดยการลดชั่วโมงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรือกิจกรรมที่ทำให้เด็กอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานาน รวมถึงหากิจกรรมที่ช่วยให้เด็กมีการขยับตัวหรือออกกำลังกายมากขึ้นอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อเผาผลาญพลังงานในร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและกล้ามเนื้อ และช่วยให้เด็กนอนหลับได้ดีขึ้น
การรักษาทางการแพทย์
ในบางกรณี แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างการใช้ยาบางชนิด หรือการผ่าตัด แต่เนื่องจากการผ่าตัดอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงในระยะยาว แพทย์จึงอาจใช้วิธีผ่าตัดเฉพาะในผู้ป่วยบางกลุ่มเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากโรคอ้วนมากกว่าการผ่าตัด เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วนในเด็กอาจส่งผลให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดโรค ภาวะผิดปกติ หรือปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น
- โรคเบาหวานประเภทที่ 2
- โรคทางหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะหัวใจขาดเลือด
- ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา เช่น หายใจไม่อิ่ม โรคหืด หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ข้อเสื่อม
- โรคตับและถุงน้ำดี เช่น โรคไขมันพอกตับ หรือนิ่วในถุงน้ำดี
- โรคทางผิวหนัง เช่น ผดร้อน ติดเชื้อรา หรือสิว
- ร่างกายเจริญเติบโตเร็วผิดปกติ โดยอาจพบว่าเด็กสูง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระไวกว่าเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน นอกจากนี้ ในกรณีเด็กผู้หญิง อาจมีความผิดปกติบางอย่างเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น อย่างประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือการตกไข่มีปัญหา
นอกจากนี้โรคอ้วนในเด็กอาจส่งผลให้เด็กเกิดปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น ขาดความมั่นใจในตนเอง หรือเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตใจ อย่างโรควิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
การป้องกันโรคอ้วนในเด็ก
การป้องกันโรคอ้วนในเด็กอาจทำได้โดยวิธีต่อไปนี้ เช่น
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก โดยให้เด็กรับประทานอาหารในปริมาณที่พออิ่ม และอาจเปลี่ยนบางเมนูอาหาร อย่างอาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เป็นอาหารชนิดอื่น อย่างอาหารที่มีโปรตีน ผักผลไม้ ธัญพืช น้ำเปล่า หรือนมสูตรไขมันต่ำแทน
- ควบคุมจำนวนชั่วโมงกิจกรรมที่ทำให้เด็กอยู่เฉย ๆ อย่างการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และแนะนำให้เด็กออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง โดยอาจเลือกกิจกรรมหรือกีฬาที่เด็กชอบเพื่อเป็นแรงจูงใจในการออกกำลังกาย
- ควรให้เด็กนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากหากเด็กอดนอนหรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเด็กไม่สมดุล ซึ่งอาจนำไปสู่ความอยากรับประทานอาหารที่เพิ่มขึ้น
- สำหรับผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กหรือทารก อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้โดยการให้เด็กดื่มนมแม่