ความหมาย โลน
โลน (Pediculosis Pubis หรือ Pubic Lice) คือแมลงขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่มของปรสิต และอาศัยอยู่กับร่างกายมนุษย์ พบได้มากที่สุดบริเวณอวัยวะเพศ แต่ก็อาจพบที่บริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน ทั้งนี้โลนสามารถติดต่อกันได้ผ่านการมีกิจกรรมทางเพศทุกชนิด
ตัวโลนที่พบได้ในร่างกายมนุษย์มีทั้งหมด 3 ระยะ คือ
- ไข่ (Nit) มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่อาจเห็นได้ด้วยการใช้แว่นขยาย ไข่ของโลนมีสีขาว หรือสีเหลือง และมักจะเกาะอยู่ตามเส้นขน ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 6-10 วัน ก่อนจะออกมาเป็นตัวอ่อน
- ตัวอ่อน (Nymph) หลังจากไข่ฟักตัวแล้ว ตัวอ่อนของโลนจะอาศัยอยู่ที่บริเวณอวัยวะเพศ และอาศัยเลือดของมนุษย์เป็นอาหาร ลักษณะของตัวอ่อนจะคล้ายกับตัวโตเต็มไว แต่มีขนาดเล็กกว่า และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าจะโตเต็มไว
- ตัวเต็มวัย (Adult) ลักษณะเด่นคือ มีสีน้ำตาลอ่อน หรือมีสีเทาอ่อน ๆ มีหกขา โดยขาหน้า 2 ขาจะใหญ่และมีลักษณะคล้ายก้ามปู ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ หากตัวโลนร่วงจากร่างกายมนุษย์ก็จะตายเองภายใน 1-2 วัน
อาการของโลน
อาการของโลนจะเริ่มแสดงออกในไม่กี่สัปดาห์หลังจากผู้ป่วยติดโลนมาจากผู้อื่น ซึ่งอาการในผู้หญิงและผู้ชายจะคล้ายกัน ที่เห็นชัดเจนคือ อาการคันบริเวณอวัยวะเพศ บริเวณทวารหนัก หรืออาจมีอาการคันที่บริเวณอื่น ๆ เช่น ใต้รักแร้ บริเวณที่มีขน เช่น ขา หน้าอก ท้อง หรือหลัง หนวด เครา คิ้ว หรือขนตา ประมาณ 5 วัน หลังจากการติดต่อครั้งแรก และจะยิ่งมีอาการคันมากขึ้นในเวลากลางคืน นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น
- มีไข้ต่ำ ๆ
- หงุดหงิด ฉุนเฉียว
- ไม่มีแรง
- มีรอยช้ำเล็ก ๆ จากการกัดบนผิวหนังบริเวณต้นขา หรือหน้าท้องส่วนล่าง
- มีผงลักษณะสีดำติดที่กางเกงชั้นใน
สาเหตุของโลน
สาเหตุของอาการนี้เกิดจากปรสิตขนาดเล็กที่มีชื่อว่า โลน (Pubic Lice) ซึ่งเป็นแมลงที่ไม่สามารถบิน หรือกระโดดได้ และต้องการเลือดมนุษย์เพื่อดำรงชีวิต โลนติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น การกอด จูบ แต่ที่มักพบได้บ่อยที่สุดคือการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญคือโลนไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัย หรือการใช้ยาคุมกำเนิด
โลนมักพบได้ในเฉพาะในผู้ใหญ่ หรือวัยที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว แต่ถ้าพบในเด็กนั่นอาจเป็นสัญญาณของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดว่าโลนติดต่อกันได้เพียงเพราะไม่ดูแลรักษาความสะอาด ท้ั้งที่จริงแล้วโลนติดต่อกันได้แม้จะมีการดูแลรักษาความสะอาดที่ดีแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ความเชื่อที่ว่า การใช้ของที่เป็นผ้าร่วมกัน หรือการใช้ห้องน้ำสาธารณะสามารถทำให้ติดโลนได้นั้น จริงๆ แล้วเกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากโลนจะมีชีวิตอยู่ได้ต้องพึ่งพาเลือดของมนุษย์เป็นอาหารและต้องอยู่ในอุณหภูมิร่างกายมนุษย์จึงดำรงชีวิตได้
การวินิจฉัยโลน
ในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจสังเกตว่าอยู่ในภาวะติดโลนหรือไม่ โดยดูจากตัวโลนหรือไข่ของโลนบริเวณขนลับ หรือบริเวณอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ขนคิ้ว ขนตา หนวด เครา ใต้รักแรก ขาหนีบ หรือลำตัวว่ามีหรือไม่ แต่มักจะพบได้ยากเนื่องจากปริมาณตัวโลนที่อยู่บนร่างกายผู้ป่วยอาจมีน้อย หากไม่มั่นใจว่าตนเองติดโลนหรือไม่ ควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
โดยแพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการที่มี และปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดโลน และตรวจร่างกายบริเวณอวัยวะเพศ อาจใช้แว่นขยายส่องหาตัวโลน และไข่ของโลน หากพบว่ามีตัวโลนอาศัยอยู่ภายในร่างกาย แพทย์จะวางแผนรักษาต่อไป
การรักษาโลน
โดยทั่วไปแล้วโลนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยแชมพู โลชั่น หรือครีมที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงจำพวกโลนหรือเหา โดยแพทย์หรือเกสัชจะแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้ใช้มากที่สุด ผู้ใช้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และเอกสารกำกับยา ตัวยาที่ใช้ได้แก่ เพอร์เมทริน (Permethrin) ซึ่งมีวิธีการใช้ดังต่อไปนี้
- ทายาบริเวณที่มีอาการ หรือบริเวณที่มีเส้นขนเยอะ ๆ เช่น บริเวณอวัยวะเพศ คิ้ว หนวด เครา ยาบางชนิดอาจจำเป็นต้องทาทั่วร่างกายเพื่อป้องกันโลน
- หากใช้ยาดังกล่าวใกล้กับตาเกินไป จนตัวยาเข้าตาควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดโดยเร็วที่สุด
- ยาบางชนิดอาจต้องทาทิ้งไว้แล้วล้างออกในภายหลัง หากครบกำหนดเวลาแล้วควรล้างออกให้สะอาด
ทั้งนี้ ยังมียาชนิดอื่น ๆ ที่มักใช้ในการรักษาหากยาเพอร์เมทรินใช้ไม่ได้ผล ได้แก่
- มาลาไทออน (Malathion) เป็นยารักษาโลนที่อยู่ในรูปของโลชั่น โดยทาทิ้งไว้ 8-12 ชั่วโมง
- ลินเดน (Lindane) เป็นยาที่แรงที่สุด และมีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นพิษ มักถูกใช้ในการรักษาโลน วิธีการใช้คือนำยาดังกล่าวมาชโลมทิ้งไว้ 4 นาที แล้วล้างออกให้สะอาด ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ควรใช้กับเด็กทารก หรือสตรีที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตรโดยเด็ดขาด
อีกทั้งในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลตัวเอง รักษาความสะอาดด้วยการซักผ้าและเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 50 องศาขึ้นไป เพื่อกำจัดตัวโลนที่เกาะอยู่ตามผ้า และพ่นสเปรย์ป้องกันตัวโลนลงบนเครื่องใช้ที่เป็นผ้า จากนั้นนำผ้าไปใส่ถุงพลาสติกที่ปิดแน่นทิ้งไว้ 10-14 วันเพื่อกำจัดตัวโลนและป้องกันไม่ให้มีตัวโลนเกาะซ้ำ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการมีกิจกรรมทางเพศจนกว่าจะรักษาหาย เพื่อป้องกันการติดต่อของโลน และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพราะผู้ที่ติดโลนอาจเสี่ยงติดโรคเหล่านี้ได้
ภาวะแทรกซ้อนของโลน
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ อาการแทรกซ้อนที่มักพบในผู้ติดโลน คือ
- การติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการคันที่เกิดจากโลน อาจทำให้ต้องเกาบริเวณที่คันบ่อย ๆ จนรู้สึกระคายเคือง และอาจนำไปสู่การติดเชื้อ เป็นแผลพุพอง หรือฝีที่ผิวหนังได้
- การติดเชื้อที่ดวงตา ในบางกรณีโลนอาจแพร่กระจายไปเกาะบริเวณขนตาได้ และทำให้เกิดภาวะเยื่อบุตาอักเสบ เปลือกตาอักเสบได้
การป้องกันโลน
โลน เป็นอาการที่ป้องกันได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงในการติดโลน ปฏิบัติได้ง่าย ๆ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการมีกิจกรรมทางเพศกับผู้ที่ติดโลน เนื่องจากการมีกิจกรรมทางเพศร่วมกันในระหว่างที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดโลน จะทำให้เกิดแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงจนกว่าจะรักษาโลนให้หายดีก่อน
- หลีกเลี่ยงการใช้ เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรืออุปกรณ์เครื่องนอนกับผู้ป่วย แม้ว่ามีโอกาสน้อยในการติดโลนผ่านเสื้อผ้า แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงเพราะโลนสามารถอาศัยอยู่ในเนื้อผ้าได้ในระยะสั้น ๆ หากใช้สิ่งของดังกล่าวต่อกันก็อาจทำให้ตัวโลนแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้
- อาบน้ำให้สะอาด ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโลน
- หลีกเลี่ยงการลองชุดในห้างสรรพสินค้า ในการซื้อเสื้อผ้า ควรหลีกเลี่ยงการลองเสื้อผ้าจะดีที่สุด โดยเฉพาะชุดว่ายน้ำ หากต้องลองควรสวมใส่ชุดชั้นในขณะลองเพื่อป้องกันการติดโลน หรือเชื้อโรคอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย