ใจสั่น (Palpitation) คืออาการที่รู้สึกเหมือนหัวใจเต้นเร็วหรือแรงผิดปกติ ซึ่งเราอาจสัมผัสถึงอาการได้บริเวณหน้าอก รวมถึงคอหรือลำคอ ใจสั่นเป็นอาการหนึ่งที่พบได้ค่อนข้างบ่อย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และส่วนมากอาการนี้มักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อาการใจสั่นอาจเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที หรือในบางกรณีก็อาจเกิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
อาการใจสั่นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่รุนแรง อย่างการนอนหลับไม่เพียงพอหรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไปจนถึงสาเหตุที่มีความรุนแรง อย่างภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) ดังนั้น หากเราทำความรู้จักกับสาเหตุของอาการนี้ รวมถึงทราบเกี่ยวกับสัญญาณที่บ่งบอกว่าควรไปพบแพทย์ ก็อาจช่วยให้เราได้รับการดูแลปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้
ใจสั่น เกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการใจสั่นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น
- เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรุนแรง เช่น รู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
- การได้รับสารบางชนิด เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือนิโคติน
- การออกกำลังกายอย่างหนัก
- การอดนอน
- การตั้งครรภ์ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์อัตราการเต้นของหัวใจจะสูงขึ้นเพื่อช่วยลำเลียงเลือดไปยังทารกในครรภ์
- เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ขณะมีประจำเดือน ขณะตั้งครรภ์ หรือเมื่ออายุเริ่มเข้าสู่วัยทอง (Menopause)
- ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายมากหรือน้อยผิดปกติ
- โรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น เป็นไข้ มีภาวะขาดน้ำ ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหืด หรือยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)
รับมือกับอาการใจสั่นอย่างไรดี
โดยปกติแล้วอาการใจสั่นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวมักไม่ถือเป็นอาการที่รุนแรง แต่ในเบื้องต้นอาจจะลองหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน สารนิโคตินในบุหรี่ หรือการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
หากลองหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังกล่าวแล้วยังพบว่าอาการใจสั่นไม่ดีขึ้น แย่ลง หรือรู้สึกว่าอาการเกิดขึ้นบ่อย ผู้มีอาการควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้แพทย์ช่วยประเมินและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการใจสั่นที่กำลังป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ หรือคนในครอบครัวมีประวัติเกิดภาวะผิดปกติที่เกี่ยวกับหัวใจ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีเหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ หายใจไม่อิ่ม เจ็บหรือแน่นหน้าอก รู้สึกจะเป็นลม หรือรู้สึกปวดบริเวณคอ ขากรรไกร แขน และหลัง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการใจสั่นอาจเป็นสัญญาณผิดปกติที่มีความรุนแรงได้