ให้นมลูก เป็นวิธีที่ช่วยส่งต่อสารอาหารให้แก่ลูกน้อยในช่วงแรกเกิด เพื่อให้ทารกเติบโตขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ และมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้นมลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่มือใหม่ควรทราบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อย
การให้นมลูกมีประโยชน์อย่างมาก เพราะในน้ำนมแม่นั้นจะมีสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของเด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน รวมทั้งสารอาหารที่ช่วยให้ทารกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคและการติดเชื้อบางชนิดได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าการให้นมลูกนั้นอาจจะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิดในมารดาได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้คุณภาพของน้ำนมแม่ก็มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อย จากการแนะนำขององค์การอนามัยโลก น้ำนมแม่สีเหลือง หรือโคลอสทรัม (Colostrum) ที่ถูกผลิตขึ้นหลังจากการตั้งครรภ์เป็นอาหารชั้นเลิศ และมีคุณค่าสูง
ประโยชน์ของการให้นมลูก
การให้นมลูกเป็นสิ่งที่แม่ควรทำหากสามารถให้ได้ เพราะส่งผลดีต่อทั้งลูกน้อย และคุณแม่หลายประการ ดังนี้
ประโยชน์ต่อเด็กทารก
น้ำนมแม่ประกอบไปด้วยวิตามิน โปรตีน และไขมัน ในปริมาณที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทารก อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เมื่อเทียบกับนมชนิดอื่น ๆ ไม่เพียงเท่านั้น น้ำนมของแม่ยังมีสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่ช่วยให้ร่างกายของทารกสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ อีกทั้งการให้นมลูกยังอาจช่วยลดความเสี่ยงที่เด็กจะเป็นโรคหอบหืด หรือโรคภูมิแพ้ได้
ทารกที่ดื่มนมแม่ตั้งแต่เกิดติดต่อกันจนถึงอายุหกเดือนโดยไม่รับประทานอาการเสริมอื่น ๆ สำหรับทารก มีความเสี่ยงต่ำที่จะติดเชื้อในหู รวมทั้งยากต่ออาการป่วยที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ หรืออาการท้องเสีย เมื่อเทียบกับทารกที่ไม่ได้ดื่มนมแม่ หรือรับประทานอาหารเสริมตั้งแต่ในช่วง 6 เดือนแรก อีกทั้งยังช่วยให้ทารกมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมต่อวัย ซึ่งดีต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
ที่สำคัญ น้ำนมแม่ยังส่งผลต่อระดับไอคิวของเด็กอีกด้วย โดยการศึกษาบางส่วนพบว่า การให้นมลูกอาจจะช่วยให้เด็กมีไอคิวที่สูงขึ้นได้ นอกจากนั้น ประโยชน์ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากการให้นมลูกนั้น คือความผูกพันระหว่างแม่และเด็ก และทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับมารดา
ด้านสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเผยว่า การดื่มนมแม่จะช่วยป้องกันทารกจากโรคเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก และช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคมะเร็งบางชนิดได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจนในอนาคตต่อไป
ประโยชน์ต่อมารดา
การให้นมลูก จะช่วยให้คุณแม่สามารถเผาผลาญแคลอรีได้มากขึ้นซึ่งถือเป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักหลังคลอดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารออกซิโทซินออกมา ทำให้ขนาดของมดลูกที่ขยายตัวในระหว่างการตั้งครรภ์กลับมาอยู่ในขนาดปกติและช่วยลดการตกเลือดหลังคลอดได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น การให้นมลูกยังส่งผลดีต่อสุขภาพของมารดาในระยะยาวคือ อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ รวมทั้งโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย
ที่สำคัญคือ การให้นมลูกนั้นถือเป็นวิธีที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหลังคลอด เพราะการดื่มนมจากอกแม่ อาจไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวของกับการให้นมเด็กมากนัก ไม่ว่าจะเป็น ขวดนม จุกนม หรือนมผงสำหรับเด็กแรกเกิด และช่วยประหยัดเวลาในการทำความสะอาดอุปกรณ์ อีกทั้งยังช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อได้ใช้เวลากับลูกน้อย
ใครให้นมลูกไม่ได้บ้าง ?
แม้การให้นมลูกจะเป็นเรื่องดี แต่สำหรับคนบางกลุ่มก็ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะการให้นมบุตรอาจส่งผลร้ายต่อเด็กได้ โดยแพทย์มักแนะนำให้คนในกลุ่มดังต่อไปนี้หลีกเลี่ยงการให้นมลูกด้วยตัวเอง ได้แก่
- ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- ผู้ป่วยวัณโรคในระยะแสดงอาการ หรือยังไม่ได้รับการรักษา
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด
- ผู้ที่ใช้ยาเสพติด
- ทารกที่มีอาการป่วยของโรคที่หากได้ยาก เช่น โรคกาแลคโตซีเมีย (Galactosemia) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากภาวะน้ำตาลกาแลคโตสในเลือดสูงผิดปกติ อันเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม
สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ทุกชนิด หากอยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ว่าสามารถใช้ยาต่อได้หรือไม่
วิธีให้นมลูกที่ถูกต้อง
การให้นมลูกอย่างถูกวิธีจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย อีกทั้งยังลดความเสี่ยงที่คุณแม่จะเกิดอาการบาดเจ็บที่หัวนมจากการให้นมลูกในท่าที่ไม่เหมาะสมได้อีกด้วย ซึ่งควรเริ่มให้นมลูกหลังจากคลอดลูกน้อยออกมาภายในห้องคลอด โดยในช่วงแรงร่างกายของคุณแม่จะผลิตนมแม่ที่มีชื่อว่าโคลอสทรัม (Colostrum) ซึ่งเป็นนมแม่ชนิดพิเศษที่มีแอนติบอดีสูงช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ โดยน้ำนมชนิดนี้จะถูกผลิตออกมาในปริมาณเพียงเล็กน้อยเพื่อให้เพียงต่อความต้องการของร่างกายทารก หลังจากนั้นน้ำนมจะถูกผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกน้อย
แต่ในกรณีที่ลูกน้อยคลอดก่อนกำหนด คุณแม่อาจจะไม่สามารถให้นมได้ในทันที และอาจต้องใช้การปั้มและให้ทารกดื่มจากขวดหรือทางสายยางก่อนจนกว่าร่างกายของเด็กจะแข็งแรงพอ แล้วจึงค่อยให้นมลูกตามปกติ
ทั้งนี้ วิธีการให้นมลูกที่ถูกต้องคือ ควรอุ้มเด็กมาไว้ด้านหน้า ให้เด็กหันหน้าเข้าหามารดา และให้ริมฝีปากบนแตะกับหัวนมของคุณแม่เพื่อกระตุ้นให้เด็กเปิดปาก และเมื่อเด็กเปิดปากแล้ว คุณแม่ควรพยุงเต้านมและดันให้ปากของทารกงับกับหัวนมของมารดา ทั้งนี้ควรให้ปากของเด็กครอบอยู่ที่บริเวณลานนม
ในขณะที่ลูกน้อยดูดนมอาจมีการขยับศีรษะบ้าง คุณแม่อาจช่วยจัดให้ลูกน้อยอยู่ในท่าทางที่เหมาะสมและสบายที่สุดได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- อุ้มทารกในท่าทางที่ทำให้ผิวหนังของลูกน้อยได้สัมผัสกับหน้าอกของคุณแม่ และอาจใส่เพียงผ้าอ้อมในขณะที่ให้นมลูกเพื่อจะได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิดระหว่างแม่และเด็ก
- ในช่วงแรกคุณแม่จำเป็นต้องจับเต้านมให้ตรงกับปากของทารก เพราะทารกจะอ้าปากเมื่อปากอยู่ใกล้กับหัวนมของแม่ และสามารถช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้อย่างถูกต้อง
- ใช้มือข้างหนึ่งรองบริเวณคอและไหล่ และใช้มืออีกข้างรอบบริเวณสะโพกของทารก เพื่อให้ทารกสามารถขยับตัวหาเต้านมของมารดาด้วยตัวเองได้
- คุณแม่จัดท่าทางที่ทำให้ศีรษะของลูกน้อยเอนไปด้านหลังเล็กน้อย เพื่อให้สะดวกต่อการให้นมลูก เพราะเมื่อศีรษะของลูกอยู่ในท่าทางดังกล่าวจะช่วยให้ลิ้นของทารกอยู่ในทิศทางที่ง่ายต่อการดื่มนมแม่
คุณแม่อาจสังเกตว่าลูกน้อยอยู่ในท่าทางการดูดนมที่ถูกต้องหรือไม่จากสัญญาณดังต่อไปนี้
- คุณแม่จะรู้สึกสบาย และไม่รู้สึกเจ็บบริเวณหัวนม
- ทารกจะไม่ขยับศีรษะไปมาในขณะที่ดื่มนมแม่ และหน้าอกของทารกจะอยู่ชิดกับอกแม่
- ขณะที่ลูกน้อยดื่มนมจะไม่สามารถเห็นบริเวณลานนม หรืออาจจะเห็นเพียงเล็กน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของลานนมมารดา
- หากทารกอยู่ในท่าดูดนมที่ถูกต้อง เต้านมของแม่จะอยู่เต็มปากของเด็ก
- คุณแม่จะได้ยินเสียงกลืน หรือเด็กอาจมีท่าทางในการกลืนนม แต่ถ้าหากเห็นไม่ชัดเจน ก็สามารถสังเกตได้จากจังหวะการหยุดหายใจของเด็ก
- ริมฝีปากของทารกจะเผยอขึ้น และจะไม่เห็นริมฝีปากล่างในขณะที่เด็ดดูดนม
- คางของทารกจะวางอยู่ชิดกับเต้านมของแม่
ทั้งนี้ระยะเวลาในการให้ลูกแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับตัวทารกเอง โดยส่วนใหญ่ทารกแรกเกิดจะใช้เวลา 10-15 นาที ในการดื่มนมแม่จากเต้านมแต่ละข้าง และหากทารกอิ่มแล้ว คุณแม่จะต้องสอดนิ้วที่สะอาดเข้าไประหว่างหัวนมและเหงือกของทารก เพื่อให้นำหัวนมออกจากปากเด็ก
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการให้นมลูกคือ คุณแม่ไม่ควรตื่นตกใจ และต้องอดทนระหว่างให้นมบุตร เพื่อที่ลูกน้อยจะได้ดื่มนมอย่างราบรื่นและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแม่ขึ้น หากในเบื้องต้นคุณแม่ยังไม่ชำนาญในการให้นมลูกสามารถปรึกษาพยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการให้นมลูกได้
คุณแม่ที่ให้นมลูกควรดูแลสุขภาพอย่างไร ?
สุขภาพของมารดาเป็นสิ่งสำคัญในช่วงให้นมบุตร ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว คุณแม่ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยวิธีต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในแต่ละวันให้มากขึ้น คุณแม่ควรรับประทานอาหารเพิ่มประมาณวันละ 400-500 แคลอรี่ อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้คุณแม่มีพลังงานเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และช่วยให้คุณแม่ผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพแก่ลูกน้อยได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ในการผลิตน้ำนมแม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้นดังนั้น คุณแม่จึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยควรดื่มน้ำเปล่า น้ำผลไม้ และนม อีกทั้งควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากดื่มมากไปอาจส่งผลต่อการนอนหลับของเด็กได้ นอกจากนี้ หากคุณแม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรหลีกเลี่ยงการให้นมลูกอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด อาทิ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และปลาทะเลบางชนิดที่อาจมีสารปรอท เพราะสารที่อยู่ในอาหารเหล่านี้อาจปนเปื้อนในน้ำนมแม่ และส่งต่อลูกน้อยจนกระทบต่อสุขภาพได้
- รับประทานอาหารเสริม แพทย์ส่วนใหญ่อาจแนะนำให้คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรรับประทานอาหารเสริมวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ที่มีความสำคัญต่อการสร้างเสริมสมองของเด็กทารก นอกจากนี้ หากคุณแม่รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีไม่เพียงพอ ควรรับประทานอาหารเสริมวิตามินดีเพิ่มขึ้น โดยวิตามินชนิดดังกล่าวจะช่วยให้ทั้งแม่และเด็กมีกระดูกที่แข็งแรงมากขึ้น
- พักผ่อนให้มาก ๆ คุณแม่ส่วนใหญ่ที่ต้องดูแลลูกน้อยด้วยตัวเองมักจะพักผ่อนน้อย ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ได้ ดังนั้นหากมีโอกาสควรงีบหลับในช่วงที่ลูกน้อยหลับ เพื่อเก็บแรง ทำให้คุณแม่มีเรี่ยวแรงมากขึ้น
- ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ส่งผลต่อน้ำนมและทารกโดยตรง เพราะสารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้วงจรการนอนหลับของเด็กเสียได้ ไม่เพียงเท่านั้น ควันบุหรี่มือสองก็ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตแบบฉับพลันในทารก และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นควรเลิกบุหรี่ให้ได้เด็ดขาด และควรเลิกหลังจากที่ทราบว่าตั้งครรภ์ด้วยจะดีที่สุดเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และทารก
- ระมัดระวังในการใช้ยาต่าง ๆ แม้ยาหลายชนิดจะสามารถใช้ได้ในขณะที่ให้นมบุตร แต่เพื่อความปลอดภัยคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพื่อให้การใช้ยานั้นไม่กระทบต่อการให้นมบุตร
ควรหยุดให้นมลูกเมื่อไร ?
เมื่อเด็กเริ่มเติบโต การให้นมลูกเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้ โดยปกติในวงการแพทย์นั้น แพทย์จะแนะนำให้เด็กดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน และให้นมลูกควบคู่กับการรับประทานอาหารชนิดอื่น ๆ ได้จนถึงอายุ 2 ปี หรือมากกว่านั้นหากสะดวก เนื่องจากแม้จะผ่านช่วง 6 เดือนแรกไปแล้ว นมแม่ก็ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก และยังอาจช่วยให้ร่างการของลูกน้อยย่อยอาหารชนิดอื่น ๆ ได้ดีอีกด้วย
ทั้งนี้หากคุณแม่พบปัญหาในการเลิกให้นมลูก หรือมีผลกระทบหลังจากให้นมลูกเกิดขึ้นควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแม่และเด็ก หรือคลีนิกนมแม่ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ