ความหมาย ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)
ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) คือภาวะสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อโรค การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผิดปกติไปโดยการไปทำลายเซลล์สมอง หรือการถูกแมลงบางชนิดกัดต่อย โดยโรคนี้จัดเป็นโรครุนแรงที่อาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีอาการที่รุนแรงขึ้นหรือเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
ไข้สมองอักเสบเป็นโรคที่สามารถเกิดได้ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยโรคนี้อาจมีโอกาสเกิดมากขึ้นได้ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากยุงเป็นหนึ่งในพาหะของโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงอื่นของปี ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อนหรือฤดูหนาวก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน
อาการไข้สมองอักเสบ
อาการไข้สมองอักเสบมีหลายระดับ ตั้งแต่อาการทั่วไป ไปจนถึงอาการขั้นรุนแรง โดยในช่วงแรก อาการมักจะเริ่มจากอาการทั่วไปก่อน ได้แก่ อ่อนแรง มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามข้อต่อ ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีผื่นหรือตุ่มน้ำพองใสขึ้นที่ผิวหนัง
จากนั้น อาการจะเริ่มมีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ซึ่งผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้
- มีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น เรื่องบุคคล เวลา และสถานที่
- เคลื่อนไหวช้าลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือร่างกายบางส่วนเริ่มไร้ความรู้สึก
- มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ร้อนรน กระวนกระวาย เห็นภาพหลอน
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ร่วมกับมีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพซ้อน หรือการขยับลูกตา ดวงตาไวต่อแสง
- มีปัญหาด้านการได้ยินและการพูด พูดลำบาก
- อ่อนเพลีย ง่วงนอน เซื่องซึม คอเคล็ด
- ชัก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เรียกไม่ตื่น
นอกจากนี้ เนื่องจากไข้สมองอักเสบสามารถเกิดได้ในทารกหรือเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่อาจยังสื่อสารกันได้ยาก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองของเด็กเล็กควรสังเกตอาการของบุตรหลาน และนำเด็กไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการดังต่อไปนี้
- กระหม่อมทารกโป่งตึง
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ร่างกายแข็งเกร็ง หรือขยับตัวไม่ได้
- อารมณ์ฉุนเฉียว งอแง ร้องไห้ไม่หยุด
- ไม่ยอมรับประทานอาหาร ซึม ไม่ตื่นตัว
สาเหตุของไข้สมองอักเสบ
ผู้ป่วยไข้สมองอักเสบหลาย ๆ คนมักหาสาเหตุของการเกิดโรคไม่พบ แต่ในกรณีที่พบสาเหตุ เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุมักอยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้
- ไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) แบ่งได้ 2 ประเภท คือไวรัสเริม HSV–1 เป็นตัวการทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้มีไข้ เป็นแผล หรือตุ่มใสบริเวณปาก และไวรัสเริม HSV–2 เป็นตัวการทำให้เกิดแผลเริมบริเวณอวัยวะเพศ ไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสเริม HSV–1 พบได้น้อยแต่ทำให้สมองเสียหายและเสียชีวิตได้
- ไวรัสเริมชนิดอื่น ๆ เช่น ไวรัสเอ็ปสไตบาร์ (Epstein–Barr Virus) เป็นสาเหตุของโรคโมโนนิวคลิโอสิส (Infectious Momonucleosis) และไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ หรือไวรัสวีซีววี (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด
- เอนเทอร์โรไวรัส (Enteroviruses) รวมถึงโปลิโอไวรัส (Poliovirus) และค็อกแซกกีไวรัส (Coxsackievirus) เป็นสาเหตุของอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ตาแดงอักเสบ และปวดท้อง
- เชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ (Mosquito–Borne Viruses) เช่น ไข้เลือดออก
- เชื้อไวรัสเจอี (Japanese Encephalitis Virus)
- ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) โดนสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ากัด
- การติดเชื้อที่พบมากในวัยเด็ก เช่น โรคคางทูมจากไวรัสมัมส์ (Mumps) โรคหัดจากไวรัสมีเซิลส์ (Measles) หรือโรคหัดเยอรมันจากไวรัสรูเบลลา (Rubella) ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีน MMR เพื่อป้องกันการเกิดโรคคางทูม หัด และหัดเยอรมันในเด็กอายุ 9–12 เดือน และ 4–6 ปี ทำให้พบผู้ป่วยไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อเหล่านี้น้อยลง
การวินิจฉัยไข้สมองอักเสบ
ในการวินิจฉัยไข้สมองอักเสบ ขั้นแรกแพทย์จะดูประวัติของผู้ป่วยว่ามีอาการของไข้สมองอักเสบหรือไม่ อยู่ในภาวะเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหรือไม่ ประวัติการรักษาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และตรวจร่างกายทางระบบประสาทและสมองอย่างละเอียด แล้วจึงทดสอบร่างกาย ดังนี้
- การตรวจสมอง ทำได้ 2 วิธี คือ การทำซีทีสแกน (CT Scan) และการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) โดยวิธีเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์เห็นลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างสมองของผู้ป่วยว่ามีสิ่งผิดปกติใด ๆ หรือไม่ เช่น เส้นเลือดในสมองแตก เนื้องอกในสมอง หรืออาการบวมในสมอง
- การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) โดยแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่บริเวณหลังส่วนล่าง แล้วสอดเข็มเข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลังที่กระดูกสันหลังส่วนล่าง เพื่อนำไปตรวจหาว่ามีลักษณะการติดเชื้อหรือการอักเสบหรือไม่
- การตรวจในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจของเหลวต่าง ๆ ในร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram) และการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองไปส่งตรวจ
การรักษาไข้สมองอักเสบ
ในการรักษาไข้สมองอักเสบ แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามสาเหตุ และรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงขึ้น โดยตัวอย่างวิธีการรักษที่แพทย์มักใช้ เช่น
- การใช้ยาต้านไวรัส ใช้ในกรณีที่มีสาเหตุจากไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) หรือไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด โดยตัวอย่างยาก็เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาแกนซิโคลเวียร์ (Ganciclovir) และยาฟอสคาเนต (Foscarnet)
- การฉีดสเตียรอยด์ ใช้ในกรณีที่มีสาเหตุเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- การบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin Therapy) เป็นการรักษาโดยให้ยาที่ช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- การฟอกเลือด (Plasmapheresis) เพื่อกำจัดพิษออกจากร่างกาย หรือเชื้อที่แฝงอยู่ในเลือดซึ่งจะไปทำลายสมอง วิธีนี้ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยการบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin therapy) แล้วอาการไม่ดีขึ้น
- การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อรา ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือป้องกันเชื้อรา
ในบางกรณีไข้สมองอักเสบอาจส่งผลให้ร่างกายของผู้ป่วยมีความเครียด ซึ่งอาจนำไปสู่อาการต่าง ๆ ตามมาได้ แพทย์จึงอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาอื่นเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยแต่ละราย โดยตัวอย่างการรักษาที่แพทย์มักใช้ เช่น
- การใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยการทำงานของปอด
- การให้สารน้ำ (Intravenous Fluids) เพื่อรักษาปริมาณน้ำและระดับแร่ธาตุในร่างกายให้เหมาะสม
- การใช้ยาแก้อักเสบ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อช่วยลดความดันและอาการบวมในกระโหลกศีรษะ
- การใช้ยากันชัก เช่น ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) เพื่อป้องกันหรือระงับอาการชัก
ทั้งนี้ ผู้ป่วยไข้สมองอักเสบยังอาจจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญร่วมไปกับการรักษาด้วย เนื่องจากการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยอาจทำได้ช้า ยาก และใช้เวลานานกว่าจะหายกลับมาเป็นปกติ โดยการรักษาที่ผู้ป่วยอาจได้รับ ได้แก่
- การฟื้นฟูอาการบาดเจ็บที่สมอง โดยนักประสาทจิตวิทยา (Neuropsychologist)
- การบำบัดเกี่ยวกับการพูด เพื่อช่วยฟื้นฟูการควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดและการสื่อสาร
- การทำกิจกรรมบำบัด เพื่อพัฒนาทักษะและนำใช้ในชีวิตประจำวัน
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ความสมดุล รวมไปถึงพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกาย
- การทำจิตบำบัด เพื่อเรียนรู้วิธีการเผชิญหน้ากับปัญหา สร้างพฤติกรรมใหม่ที่จะช่วยพัฒนาอารมณ์ หรือในบางกรณี อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการใช้ยา
ภาวะแทรกซ้อนของไข้สมองอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนของไข้สมองอักเสบที่อาจพบได้ ได้แก่
- ปัญหาด้านความจำ
- ปัญหาด้านบุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมเปลี่ยน
- ปัญหาด้านการพูดและการใช้ภาษา
- ปัญหาด้านการกลืน
- ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น เครียด วิตก ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน
- ปัญหาด้านสมาธิ ความสนใจ การวางแผน การแก้ปัญหา
- ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การทรงตัว การเกร็งของกล้ามเนื้อ ความพิการ การเป็นอัมพาต
- อาการชัก
การป้องกันไข้สมองอักเสบ
การป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดไข้สมองอักเสบสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- สร้างสุขอนามัยที่ดีด้วยการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่า โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนมื้ออาหาร
- ไม่ใช้ช้อน ส้อม หรือแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
- ฉีดวัคซีนเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ที่อัตราเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
- รับวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น ก่อนการเดินทางไปยังประเทศในแถบเอเชีย
- รับวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบจากเห็บ ก่อนเดินทางไปยังประเทศในแถบเอเชียและยุโรป
- รับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ก่อนเดินทางไปยังประเทศที่มีข้อจำกัดด้านการแพทย์และการรักษา
- ไม่ควรมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในที่พักอาศัย เช่น การมีน้ำขัง
- สำหรับเด็กเล็ก ควรให้เด็กได้รับวัคซีนตามที่แพทย์แนะนำ