ความหมาย ไข้อีดำอีแดง
ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) คือโรคซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus) โดยโรคนี้พบได้ในเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี ทั้งนี้ ผู้ป่วยไข้อีดำอีแดงจะมีผื่นสีแดงขึ้นตามผิวหนังเกือบทั่วร่างกาย รวมถึงมีไข้สูง และมีอาการเจ็บคอเกิดขึ้นร่วมด้วย โรคไข้อีดำอีแดงถือเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่งสำหรับผู้ป่วยเด็ก ไม่สามารถหายเองได้ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้อาการแย่ลงจนส่งผลร้ายแก่หัวใจ ไตและอวัยอื่นๆ ทั้งนี้แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนรักษาตัวที่บ้านก็จะช่วยบรรเทาอาการได้
อาการของไข้อีดำอีแดง
สัญญาณบ่งบอกถึงโรคไข้อีดำอีแดงประกอบไปด้วยอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ คอแดงและในบางครั้งมีรอยสีเหลืองหรือสีขาวขึ้นในลำคอ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มีปัญหาในการกลืนอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้สูง (ราว ๆ 38.3 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า) บริเวณลิ้นและต่อมรับรสบนลิ้นจะนูนแดงอย่างชัดเจนและปลายลิ้นจะมีลักษณะคล้ายผิวของผลสตรอว์เบอร์รี่ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น หน้าแดง ผดผื่นขึ้นตามร่างกาย และสีลิ้นเปลี่ยนสีเป็นสีแดงหรือขาว ไข้อีดำอีแดงจะแสดงอาการภายใน 1 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม อาการหลักของไข้อีดำอีแดงประกอบด้วย
- ผื่นไข้อีดำอีแดง มักเริ่มขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีไข้ แต่ในบางกรณีผื่นอาจขึ้นเป็นอาการแรกเลยก็ได้ โดยผื่นมักขึ้นที่บริเวณท้อง หน้าอก หรือบริเวณรอบคอ แล้วกระจายไปทั่วลำตัว แขน และขา รอยผื่นอาจมีสีชมพูหรือแดง และจะแดงมากเป็นพิเศษตามจุดที่เป็นข้อพับ เช่น ข้อศอก หรือรักแร้ นอกจากนี้รอยผื่นยังให้สัมผัสคล้ายกับกระดาษทราย (สามารถสังเกตได้ง่ายในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม) หรือผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ มองคล้ายหนังห่าน (Goose-pimple Appearance) หากใช้แก้วกดทับบริเวณผื่นจะพบว่ารอยผื่นแดงเหล่านั้นกลายเป็นสีขาว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผื่นจะขึ้นอยู่ราว 3-4 วัน ก่อนจะเริ่มลอกออกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น ไล่จากใบหน้าและลำคอลงมาเรื่อย ๆ จนถึงมือ เท้า ปลายมือ ปลายเท้า
- แก้มเปลี่ยนเป็นสีแดง ปกติผื่นแดงจะไม่ได้ลามมาที่ใบหน้า แต่แก้มมักจะเปลี่ยนเป็นสีแดงจัดคล้ายโดนแดดเผา แต่บริเวณรอบปากจะขาวซีด
- ลิ้นเป็นสีแดง หรือที่เรียกว่าลิ้นสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Tongue) ลิ้นจะมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำและมีฝ้าขาวขึ้นในช่วงแรก
สาเหตุของไข้อีดำอีแดง
ไข้อีดำอีแดงเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส (Streptococcus) โดยแบคทีเรียจะปล่อยสารพิษก่อให้เกิดอาการลิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดง และผื่นขึ้นตามร่างกาย ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อนี้ประมาณ 2-5 วัน ทั้งนี้เพราะแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่ในปากและทางเดินหายใจของผู้ป่วย ทำให้เกิดอาการทางเดินหายใจ ดังนั้นการแพร่เชื้อโรคอาจเป็นไปได้ด้วยการไอจาม หรือการสัมผัสเชื้อโรคจากผู้ที่ติดเชื้อแล้วสัมผัสกับอวัยวะในร่างกายตนเอง อาทิ ตา จมูก หรือปาก นอกจากนี้เชื้อยังสามารถติดต่อผ่านกันด้วยการรับประทานอาหารจานเดียวกันหรือดื่มน้ำแก้วเดียวกันด้วย
การวินิจฉัยไข้อีดำอีแดง
แพทย์สามารถวินิจฉัยไข้อีดำอีแดงได้จากประวัติอาการของผู้ป่วย และจากการตรวจร่างกายเพื่อหาลักษณะของโรค เช่น การตรวจลำคอ ลิ้น ต่อมน้ำเหลือง และต่อมทอนซิล รวมไปถึงการตรวจลักษณะและผิวสัมผัสของผื่น ซึ่งหากพบว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคไข้อีดำอีแดง แพทย์จะใช้กระบวนการทดสอบที่เรียกว่าการเพาะเชื้อ (Throat Swab Culture) โดยใช้ไม้ป้ายลำคอเก็บตัวอย่างเชื้อในลำคอของผู้ป่วย นำไปวินิจฉัยในห้องแล็บเพื่อค้นหาว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัสหรือไม่ หรืออาจใช้การตรวจเลือดหาสารก่อภูมิต้านทาน ต่อเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ ซึ่งการพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเหล่านี้จะใช้เวลาหลายวัน ดังนั้นโดยมากแล้ว หากอาการของผู้ป่วยเข้าได้กับโรคไข้อีดำอีแดง แพทย์จะให้การรักษาไปก่อนได้รับทราบผลวินิจฉัยจากทางห้องปฏิบัติการ
การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะหากไม่พบเชื้อดังกล่าวในผู้ป่วยแสดงว่าโรคอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ต้องใช้วิธีรักษาที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากมีสาเหตุหลายประการที่อาจก่อให้เกิดอาการคล้ายโรคไข้อีดำอีแดง
การรักษาไข้อีดำอีแดง
ไข้อีดำอีแดงสามารถรักษาได้หลังจากการวินิจฉัยโดยแพทย์ จะต้องรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลิน หรืออะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) เพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้รูมาติกเฉียบพลัน (Acute Rheumatic Fever) และเพื่อทำให้อาการของผู้ป่วยหายเร็วขึ้น อีกทั้งป้องกันการติดเชื้อระบาดไปสู่ผู้อื่น ซึ่งหากพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลา 10-14 วัน ซึ่งปกติแล้วผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นภายใน 1-2 วันหลังจากได้รับยา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์จ่าย เนื่องจากการติดเชื้ออาจไม่หายขาดและจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการพัฒนาของเชื้อแบคทีเรียไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นตามมา
การดูแลรักษาด้วยตนเอง
นอกจากจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยสามารถรักษาไข้อีดำอีแดงด้วยดูแลตนเองอยู่ที่บ้านได้ เพื่อช่วยให้อาการหายได้เร็วขึ้น โดยใช้วิธีต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการและความไม่สบายเนื้อตัวที่เกิดจากโรคได้ ดังนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ลำคอชุ่มชื้นตลอดเวลาและลดอาการขาดน้ำ
- การบรรเทาอาการไข้และอาการปวด ทำได้โดยการเช็ดตัวเพื่อลดไข้หากมีไข้ขึ้น รวมทั้งรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดอาการเจ็บคอหรือบรรเทาอาการไข้
- การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดอาการเจ็บคอ
- รับประทานยาอม
- ทำให้อากาศภายในบริเวณที่อยู่อาศัยชุ่มชื้น เนื่องจากอากาศแห้งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในลำคอซึ่งจะนำมาด้วยอาการเจ็บคอได้
- รับประทานอาหารที่ช่วยให้อาการทุเลาลง อาทิ อาหารอุ่นอย่างน้ำซุป หรืออาหารเย็นอย่างไอศครีม ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ หรือการทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้เพื่อลดฝุ่นละออง
- ห้ามให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 รับประทานยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด
ภาวะแทรกซ้อนของไข้อีดำอีแดง
โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยไข้อีดำอีแดงจะมีอาการดีขึ้นและอาจหายขาดภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ แต่หากผู้ป่วยเพิกเฉยต่อการรักษาก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นตามมาได้ สำหรับภาวะแทรกซ้อนของไข้อีดำอีแดง ได้แก่
- ไข้รูมาติก (Rheumatic Fever) คืออาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อหัวใจ ทั้งนี้อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อและไม่ได้รับยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม
- ฝีรอบทอนซิล (Throat Abscesses)
- โรคไต
- โรคปอดบวม (Pneumonia) คือการติดเชื้อในปอดหนึ่งหรือสองข้าง ซึ่งอาจเกิดได้จากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา
- ข้ออักเสบ (Arthritis)
- การติดเชื้อในหู
- การติดเชื้อที่ผิวหนัง
การป้องกันไข้อีดำอีแดง
เนื่องจากไข้อีดำอีแดงเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก ผ่านละอองที่ออกมากับลมหายใจ การไอจาม หรือการใกล้ชิดกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ (โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเด็กนักเรียน) ซึ่งหากละอองเชื้อโรคนั้นสัมผัสกับตา จมูก หรือปากก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีป้องกันในเบื้องต้นที่ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดงานหรือการหยุดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับประทานยาปฏิชีวนะ พยายามปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่เมื่อไอหรือจาม และให้รีบทิ้งกระดาษที่ใช้แล้วทันที พร้อมทั้งล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้บ่อย โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสกับทิชชู่ที่ใช้แล้ว นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านร่วมกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นแก้วน้ำ เสื้อผ้า ผ้าขนหนู อ่างอาบน้ำ ผ้าปูที่นอน หรือของเล่นสำหรับผู้ป่วยเด็ก ล้วนเป็นวิธีการป้องกันการแพร่ติดต่อของเชื้อโรคไข้อีดำอีแดงได้