ความหมาย ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism, Overactive Thyroid) คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ซึ่งเป็นต่อมที่อยู่บริเวณลำคอใต้ลูกกระเดือกและอยู่ติดกับหลอดลม สร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไป ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานมากขึ้นจนส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ รวมถึงอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เหงื่อออกง่าย หงุดหงิด และฉุนเฉียวร่วมด้วย
ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนไทโรซีน (Thyroxine - T4) และฮอร์โมนไทรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine - T3) ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย รวมถึงผลิตฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระบบไหลเวียนของเลือด เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ก็จะทำให้ฮอร์โมนเหล่านี้ถูกผลิตออกมามากจนกลายเป็นพิษ
อาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ
อาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษค่อนข้างคลุมเครือและอาจคล้ายกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ รวมถึงในบางกรณี หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรงก็อาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม อาการไทรอยด์ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นกัน
อาการไทรอยด์เป็นพิษที่พบได้บ่อยที่สุดคืออาการคอพอก ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์ขยายตัวขึ้นจนผู้ป่วยอาจรู้สึกหรือสัมผัสได้ถึงก้อนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นบริเวณลำคอ นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ เช่น
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
- สุขภาพผมเปลี่ยนไป มีอาการผมร่วง หรือผมเปราะบางขาดง่าย
- มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาหรือสายตา เช่น ตาโปน มองเห็นภาพซ้อน
- มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและต้นแขน
- หัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้ง/นาที โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
- มีอาการไวต่อความร้อน และมีเหงื่อออกมาก
- มีอาการมือสั่นตลอดเวลา
- เล็บยาวเร็วผิดปกติ
- น้ำหนักลด แต่รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น
- นอนหลับยาก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือไม่มีสมาธิ
- เพศหญิงอาจประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนมีสีจาง
- เพศชายอาจมีอาการเต้านมขยายใหญ่ขึ้นผิดปกติ
หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคไทรอยด์เป็นพิษ รวมถึงอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น การเกิดเนื้องอกบริเวณต่อมหมวกไต ซึ่งหากปล่อยไว้จะยิ่งรักษาได้ยากมากขึ้น
สาเหตุของโรคไทรอยด์เป็นพิษ
โรคไทรอยด์เป็นพิษเกิดขึ้นจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายมีปริมาณของฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าความต้องการของร่างกายและเกิดสภาวะเป็นพิษจนส่งผลกระทบต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ
สาเหตุที่อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ มีดังนี้
- การรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น อาหารทะเล เนื่องจากไอโอดีนเป็นสารอาหารสำคัญที่ใช้ในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์
- การได้รับการเสริมฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป โดยอาจได้รับจากยาที่มีส่วนประกอบของไอโอดีน เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การอักเสบของต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากผิดปกติ
- การเกิดเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากผิดปกติ
- การเกิดโรคเกรฟส์ (Graves’ Disease) ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดอย่างแน่ชัด แต่เป็นโรคที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากผิดปกติ
การวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษ
การวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษในเบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายภายนอกเพื่อหาสัญญาณของโรคไทรอยด์เป็นพิษ เช่น น้ำหนักลด ตาโปน ชีพจรเต้นเร็ว ต่อมไทรอยด์โต รวมถึงความดันโลหิตสูง หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นแพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจเลือดและตรวจเอกซเรย์เพิ่มเติม ดังนี้
การตรวจเลือด
การตรวจเลือดเป็นการตรวจสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์และการเผาผลาญ โดยจะตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ T3 และ T4 ในเลือด เพื่อให้ทราบว่าการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติหรือไม่ รวมถึงตรวจวัดการทำงานของต่อมใต้สมอง (TSH) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ และตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ (Thyroidglobulin) ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคเกรฟส์ได้
การตรวจเอกซเรย์
การตรวจเอกซเรย์จะช่วยให้แพทย์เห็นการทำงานและความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ได้ชัดขึ้น เช่น ตรวจวัดขนาดของต่อมไทรอยด์ ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ หรือตรวจสอบว่ามีเนื้องอกเกิดขึ้นบริเวณต่อมไทรอยด์หรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีเนื้องอกเกิดขึ้น แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อไปตรวจสอบเพิ่มเติมว่าเป็นเนื้องอกชนิดที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งหรือไม่ด้วย
การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ
การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น อายุ สาเหตุของโรค ความรุนแรงของโรค หรือปัจจัยสุขภาพอื่น ๆ โดยวิธีที่ใช้ในการรักษามีดังนี้
การรับประทานยาต้านไทรอยด์
การรับประทานยาต้านไทรอยด์ เช่น ยาเมไทมาโซล (Methimazole) หรือยาโพพิลไทโออูราซิล (Propylthiouracil) โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินไป ซึ่งการรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน
การรักษาด้วยรังสีไอโอดีน (Radioactive Iodine)
การรักษาด้วยรังสีไอโอดีนเป็นการรับประทานสารรังสีไอโอดีนที่มีความปลอดภัย มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยสารชนิดนี้จะถูกดูดซึมโดยต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ค่อย ๆ หดตัวลงและส่งผลให้อาการไทรอยด์เป็นพิษดีขึ้น การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 3–6 เดือน แต่จะทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อยลงจนอาจเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำตามมา
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy)
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาด้วยยาหรือรังสีไอโอดีนได้ เช่น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่ออกเพื่อรักษาอาการ แต่การผ่าตัดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการทำลายเส้นเสียงและต่อมพาราไทรอยด์ได้ รวมถึงหลังจากผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะต้องรับประทานยารักษาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต
การใช้ยาต้านเบต้า (Beta Blockers)
การใช้ยาต้านเบต้าจะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง ช่วยบรรเทาอาการใจสั่นและลดอาการวิตกกังวล การรักษาด้วยยาต้ายเบต้ามักใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้านเบต้าอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก หรือท้องเสีย
นอกจากนี้ ในระหว่างการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารควบคู่ไปด้วย เพราะโรคไทรอยด์เป็นพิษอาจทำให้มวลกระดูกลดลง จึงต้องรับประทานอาหารบำรุงกระดูก เช่น อาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง รวมถึงควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไทรอยด์เป็นพิษ
โดยส่วนใหญ่ โรคไทรอยด์เป็นพิษที่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีมักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อย แต่โรคไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ ได้แก่
- ปัญหาสายตา เช่น ตาแห้ง ตาแฉะ ตาไวต่อแสง ตาแดง หรือตาโปนออกมามากกว่าปกติ โดยจะพบในผู้ป่วยโรคเกรฟส์ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์เป็นพิษเท่านั้น
- ภาวะกระดูกเปราะบาง โดยอาจเกิดจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปจนส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียมของกระดูกทำให้กระดูกอ่อนแอลง หรือเกิดโรคกระดูกพรุนตามมา
- ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) หรือภาวะหัวใจวาย โดยอาจเกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ
- ภาวะไทรอยด์ต่ำ โดยอาจเป็นผลมาจากการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติจนเกิดภาวะไทรอยด์ต่ำตามมา
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤต (Thyroid Storm) โดยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ การตั้งครรภ์ หรือความเสียหายของต่อมไทรอยด์ โดยภาวะนี้เป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิต ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ โรคไทรอยด์เป็นพิษอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ได้ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ แท้ง คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กทารกมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากวางแผนที่จะตั้งครรภ์
วิธีป้องกันโรคไทรอยด์เป็นพิษ
โรคไทรอยด์เป็นพิษเป็นความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นทุกคนจึงจำเป็นต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นจะได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ในกรณีของผู้ป่วยที่เคยป่วยด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษหากสิ้นสุดการรักษาแล้วอาจจำเป็นต้องมีการติดตามผลในระยะยาวโดยการตรวจเลือด เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้โรคไทรอยด์เป็นพิษกลับมาเป็นซ้ำอีก รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษได้