ไฟช็อต

ความหมาย ไฟช็อต

ไฟช็อต (Electronic Injury) คือ ภาวะที่ผิวหนังหรืออวัยวะภายในของร่างกายได้รับบาดเจ็บจากพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากร่างกายของมนุษย์ถือเป็นตัวนำไฟฟ้า เมื่อไปสัมผัสแหล่งพลังงานที่มีกระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่ จึงส่งผลให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเนื้อเยื่อเข้ามาในร่างกาย และเกิดอาการช็อตได้ 

ผู้ที่ถูกไฟช็อตอาจได้รับบาดเจ็บรุนแรงแตกต่างกันไป โดยบาดแผลจากการถูกไฟช็อตจะทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อภายในร่างกายไหม้ หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้น รวมทั้งทำลายกล้ามเนื้อและสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อถูกไฟช็อต ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

Eletric Shock

สาเหตุไฟช็อต

การได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟช็อตอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • อุบัติเหตุจากการทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับไฟฟ้า
  • การสัมผัสอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตรงบริเวณที่กระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่ ส่วนเด็กเล็กอาจเกิดจากการกัดสายไฟหรือเอาเหล็กแหย่เต้าเสียบปลั๊กไฟ
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าโดนน้ำหรือเปียกน้ำ
  • เครื่องไฟฟ้าทำงานผิดปกติ หรือเกิดความขัดข้องเสียหายขึ้นมา
  • ระบบไฟฟ้าเสื่อมสภาพ
  • การเกิดประกายไฟหรือไฟฟ้ารั่ว
  • หากถูกฟ้าผ่า ก็อาจได้รับบาดเจ็บเหมือนถูกไฟช็อตได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ถูกไฟช็อต ได้แก่ ชนิดของกระแสไฟฟ้า ปริมาณโวลต์ไฟฟ้า และวิถีที่กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่ร่างกาย โดยไฟฟ้าที่มีกำลังต่ำหรือไม่ถึง 500 โวลต์มักจะไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง ส่วนผู้ที่ถูกช็อตด้วยไฟฟ้ากำลังสูงหรือมากกว่า 500 โวลต์อาจได้รับบาดเจ็บที่เป็นอันตรายและรุนแรง

อาการของไฟช็อต

ผู้ที่ถูกไฟช็อตจะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรง บางรายอาจปรากฏอาการไฟช็อตเพียงเล็กน้อย ส่วนบางรายอาจมีอาการรุนแรงและปรากฏออกมาชัดเจน โดยระดับความรุนแรงของอาการไฟช็อตขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ชนิดและความแรงของโวลต์ไฟฟ้า ระยะเวลาที่ถูกไฟช็อต วิถีการไหลของกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย และสุขภาพโดยรวมของผู้ถูกไฟช็อต 

โดยผู้ที่ถูกไฟช็อตจะเกิดอาการได้หลายอย่าง เช่น

  • หมดสติ
  • หายใจลำบากหรือไม่หายใจ รวมทั้งการทำงานของปอดล้มเหลว
  • ชีพจรเต้นผิดจังหวะ โดยสัญญาณชีพอ่อนแรงลงหรือไม่ปรากฏสัญญาณชีพ
  • หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • เกิดแผลไหม้ที่บริเวณที่กระแสไฟฟ้าไหลเข้าและออกจากร่างกาย ซึ่งได้แก่ มือ ส้นเท้า และศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อกระตุก หดเกร็งอย่างรุนแรง จนปวดมือหรือเท้า หรืออาจมีลักษณะผิดรูป ซึ่งอาจเกิดจากการที่กระดูกหัก
  • เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะภายใน ทำให้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืน การมองเห็น หรือการได้ยิน
  • เกิดอาการชาหรือเหน็บชา
  • เกิดอาการชัก ปวดศีรษะ

อาการไฟช็อตที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่ถูกไฟช็อตด้วยกระแสไฟฟ้ากำลังสูงถึง 500 โวลต์หรือมากกว่านั้น ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยด่วน ส่วนผู้ที่ถูกไฟช็อตด้วยกำลังไฟฟ้าต่ำควรพบแพทย์ทันที หากประสบอาการต่าง ๆ เช่น 

  • หมดสติ
  • หายใจลำบาก
  • ชัก
  • สับสนมึนงง รวมทั้งเกิดอาการชาหรือเป็นอัมพาต
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการมอง การฟัง หรือการพูด
  • แผลไหม้ที่เกิดจากการถูกไฟช็อตไม่ดีขึ้น
  • เกิดแผลไหม้ และมีรอยแดง ปวดแสบปวดร้อน หรือมีของเหลวไหลออกมาจากแผลร่วมด้วย
  • เกิดบาดแผลจากไฟช็อต แต่ได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักครั้งสุดท้ายนานเกิน 5 ปี
  • ถูกไฟช็อตขณะตั้งครรภ์

ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บหลังถูกไฟช็อตควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเช่นกัน เนื่องจากอาการหรือภาวะแทรกซ้อนจากการถูกไฟช็อตอาจไม่ปรากฏออกมาชัดเจน โดยการเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลหลังถูกไฟช็อตจะช่วยตรวจหาความผิดปกติและสามารถเข้ารับการรักษาให้หายเป็นปกติได้

การวินิจฉัยไฟช็อต

แพทย์จะตรวจผู้ถูกไฟช็อตหลายอย่างเพื่อวินิจฉัยอาการบาดเจ็บที่เกิดจากไฟฟ้าช็อต และอาจตรวจเพิ่มเติม ซึ่งขึ้นอยู่กับประวัติการรักษาและผลการตรวจร่างกาย โดยการตรวจเพิ่มเติมที่ใช้ตรวจเพื่อวินิจฉัยไฟช็อต เช่น

  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูจังหวะการเต้นของหัวใจว่าสม่ำเสมอเป็นปกติ หรือหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะจากการถูกไฟช็อต
  • ตรวจเลือด แพทย์อาจจะนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจเพื่อหาความผิดปกติของสารในร่างกายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการถูกไฟช็อต
  • ตรวจปัสสาวะ แพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วย เพื่อตรวจเอนไซม์กล้ามเนื้อ การตรวจดังกล่าวจะช่วยวินิจฉัยอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจากการถูกไฟช็อต
  • เอกซเรย์ แพทย์จะให้ผู้ป่วยเอกซเรย์ร่างกายที่มีลักษณะผิดรูป เพื่อตรวจหาภาวะกระดูกหักหรือกระดูกเคลื่อน ซึ่งอาจเกิดจากการถูกไฟช็อตจนเกือบเสียชีวิต
  • ซีที สแกน หากสันนิษฐานว่าผู้ป่วยอาจได้รับบาดเจ็บที่อวัยวะภายใน แพทย์จะทำซีที สแกนให้แก่ผู้ป่วยเพื่อตรวจดูความผิดปกติของการทำงานอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย

การรักษาไฟช็อต

ผู้ที่ถูกไฟช็อตควรได้รับการรักษา โดยนำตัวส่งโรงพยาบาลและพบแพทย์ทันที อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ถูกไฟช็อต ควรรีบเข้าช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล โดยวิธีช่วยเหลือและปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟช็อตสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  • ดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสับคัตเอาต์ลงเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า เนื่องจากการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้กระแสไฟฟ้าหยุดทำงานได้และอาจเป็นอันตรายต่อผู้เข้าไปช่วยเหลือ และโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน
  • หากกระแสไฟฟ้ายังทำงานอยู่ ควรใช้ไม้ เก้าอี้ ผ้า หรือสิ่งของที่แห้งและไม่นำไฟฟ้าช่วยดันตัวผู้ที่ถูกไฟช็อตให้ออกห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าว โดยผู้ที่ช่วยเหลือควรยืนอยู่บนพื้นที่แห้ง หรือมีผ้าหรือกระดาษหนังสือพิมพ์รองเท้าขณะที่เข้าช่วยเหลือ 
  • ควรตรวจสัญญาณชีพหรือดูว่าผู้ป่วยหายใจอยู่หรือไม่ หากผู้ป่วยมีสัญญาณชีพหรือหายใจอ่อนแรง หรือไม่มีสัญญาณชีพ หรือหยุดหายใจ ควรเริ่มทำ CPR ให้ผู้ป่วยทันที
  • หากผู้ถูกไฟช็อตมีรอยแผลไหม้ ควรรินน้ำสะอาดล้างแผลไหม้นานประมาณ 20 นาทีหรือจนกว่าอาการจะทุเลาลง
  • หากผู้ป่วยเป็นลม ตัวซีด หรือมีอาการช็อก ควรวางตัวผู้ป่วยลง โดยให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัว ยกขาผู้ป่วยขึ้น และห่มด้วยผ้าห่ม
  • ควรอยู่ดูแลผู้ป่วยจนกว่ารถของโรงพยาบาลจะมารับตัวไปรักษา

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกไฟฟ้าแรงสูงช็อตนั้นถือเป็นกรณีที่ร้ายแรง ผู้ที่เข้าช่วยเหลือควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  • ควรอยู่ห่างจากผู้ถูกไฟช็อตอย่างน้อย 6 เมตรจนกว่าแหล่งพลังงานจะถูกตัดกระแสไฟฟ้า 
  • ไม่ควรสัมผัสผู้ป่วยที่กำลังถูกไฟช็อตด้วยมือเปล่า
  • ไม่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยพลการ
  • ไม่ควรประคบน้ำแข็ง ทาขี้ผึ้ง ทายา พันผ้าขนหนู หรือติดพลาสเตอร์ยาให้แก่ผู้ที่มีแผลไหม้
  • ไม่ควรลอกเซลล์ผิวที่ตายแล้ว หรือเจาะถุงน้ำบนผิวผู้ป่วยที่เกิดแผลไหม้

ทั้งนี้ การรักษาผู้ถูกไฟช็อตจะแตกต่างกันไปตามกรณีของผู้ป่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของบาดแผล โดยวิธีรักษาอาการบาดเจ็บจากการถูกไฟช็อตลักษณะต่าง ๆ เช่น

  • ผู้ที่มีแผลไหม้เพียงเล็กน้อยอาจได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะสำหรับทาเฉพาะที่และปิดแผลให้เรียบร้อย 
  • ผู้ที่มีแผลไหม้รุนแรงอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด หรือนำผิวหนังจากอวัยวะส่วนอื่นมาปะผิวหนังส่วนที่เป็นแผลไหม้แทน
  • สำหรับผู้ที่เกิดแผลไหม้อย่างรุนแรงตรงแขน ขา หรือมือ อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อนำกล้ามเนื้อส่วนที่เสียหายออกไป หรือตัดอวัยวะส่วนที่เกิดแผลไหม้รุนแรง
  • ผู้ถูกไฟช็อตที่ได้รับบาดเจ็บตรงอวัยวะภายในจำเป็นต้องรับการติดตามเพื่อสังเกตอาการจากแพทย์ หรือเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะดังกล่าว

ภาวะแทรกซ้อนจากไฟช็อต

ผู้ที่ถูกไฟช็อตอาจเกิดแผลไหม้หรือได้รับบาดเจ็บที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สัญญาณชีพทำงานผิดปกติหรือถึงขั้นช็อกหมดสติ ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกไฟช็อตสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย เช่น

  • ประสบภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดอาการชัก สูญเสียความทรงจำ หมดสติ กลืนอาหารลำบาก รวมทั้งประสบภาวะสูญเสียประสาทสั่งการ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นทันที
  • ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
  • สมองขาดเลือดเฉียบพลัน
  • ได้รับบาดเจ็บที่เส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งมักเกิดขึ้นตรงเนื้อเยื่ออ่อนที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้อาการบาดเจ็บเส้นประสาทส่วนปลายอาจปรากฏออกมาหรือไม่ปรากฏออกมาก็ได้ ซึ่งแพทย์จะติดตามการรักษาในกรณีที่ไม่ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • เกิดก้อนลิ่มเลือดในหลอดเลือดที่อยู่บริเวณรอบ ๆ เนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหาย
  • อวัยวะภายในอาจทะลุ เนื่องจากเยื่อบุของอวัยวะภายในได้รับความเสียหาย เช่น เยื่อหุ้มปอดทะลุ โดยอาจเกิดภาวะดังกล่าวหลังจากถูกไฟช็อตมาแล้ว 2 วัน
  • ผู้ที่ถูกไฟช็อตจากบริเวณปากอาจส่งผลให้ใบหน้าผิดรูปและมีปัญหาเกี่ยวกับการงอกของฟันและขากรรไกร
  • เกิดต้อกระจก ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากถูกไฟช็อตนานหลายวันหรือหลายปี
  • มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต

ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ที่ถูกไฟช็อตอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนกับทารกในครรภ์ได้ โดยกระแสไฟฟ้ากำลังต่ำที่ช็อตสตรีมีครรภ์อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกได้อย่างรุนแรง เนื่องจากผิวหนังของทารกในครรภ์บอบบางกว่าผิวหนังคนทั่วไป ทั้งนี้ หากวิถีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านมดลูก ทารกก็อาจเสี่ยงได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟช็อต ซึ่งจะส่งผลให้ทารกในครรภ์เติบโตช้า เคลื่อนไหวน้อยลง มีน้ำคร่ำน้อย และเกิดการท้งได้

การป้องกันไฟช็อต

ไฟช็อตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงและป้องกันได้ โดยวิธีป้องกันตนเองและบุคคลรอบข้างไม่ให้ถูกไฟช็อตสามารถปฏิบัติได้หลายวิธี เช่น

  • ปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าตามที่แนบมากับอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
  • เลี่ยงใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลังจากอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ หรือขณะที่ตัวเปียกน้ำ
  • ไม่ควรสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าและวาล์วก๊อกน้ำในเวลาเดียวกัน
  • หมั่นตรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าและเต้าเสียบปลั๊กไฟอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งติดตั้งเต้าเสียบให้ห่างจากอ่างล้างจาน ท่อน้ำ หรือบริเวณที่เสี่ยงโดนน้ำหรือเปียกชื้นได้ง่าย
  • เก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสายไฟให้พ้นมือเด็ก รวมทั้งควรระมัดระวังดูแลไม่ให้เด็กเล่นอุปกรณ์ดังกล่าว
  • ใช้ที่ครอบปิดเต้าเสียบปลั๊กไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ทารกเอานิ้วไปแหย่
  • ควรเตือนและสอนเด็กให้เห็นถึงอันตรายจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้อง และดูแลไม่ให้เด็กเล่นซนบริเวณที่เสี่ยงเกิดไฟช็อตได้