ไลโคปีน สารสีแดงเพื่อผิวพรรณและสุขภาพ

ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารสีแดงที่อยู่ในผักและผลไม้บางชนิด และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่เป็นหน่วยย่อยของแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งไลโคปีนนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการบำรุงผิวพรรณ

หลายคนอาจเข้าใจว่าสารต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้พบได้เฉพาะในมะเขือเทศ แต่ความจริงแล้วไลโคปีนสามารถพบได้ในผักผลไม้ชนิดอื่นด้วย รวมทั้งไม่ได้มีสรรพคุณช่วยบำรุงและปกป้องผิวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ที่ชี้ว่า Lycopene อาจช่วยบรรเทาภาวะความดันโลหิตสูงและลดระดับไขมันในเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายชนิด 

ไลโคปีน

ประโยชน์ของไลโคปีน

ด้วยโครงสร้างทางเคมีที่ช่วยในการปรับสมดุลของกระบวนการในร่างกาย จึงทำให้ไลโคปีนมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

ช่วยปกป้องผิว

โดยปกติแล้ว ผิวพรรณที่สวยงามมักมีพื้นฐานมาจากผิวที่แข็งแรงและสุขภาพดี ซึ่งการดูแลผิวให้แข็งอยู่เสมออาจช่วยป้องกันปัญหาผิวที่เกิดขึ้นได้ แต่มลภาวะอย่างแสงแดดถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผิวไม่น้อย เพราะการโดนแดดแรงอาจทำให้เกิดอาการผิวไหม้แดด ส่งผลให้สีผิวคล้ำขึ้นและสารอีลาสติน (Elastin) ที่มีผลต่อความยืดหยุ่นของผิวลดลง โดยมีการศึกษาพบว่าสารสีแดงชนิดนี้อาจช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดได้

จากการศึกษาสรรพคุณของสารต้านอนุมูลอิสระประเภทแคโรทีนอยด์ที่รวมถึงไลโคปีนด้วย พบว่าแคโรทีนอยด์นั้นอาจช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมักก่อให้เกิดผื่นแดง แสบ และผิวอักเสบได้ ดังนั้น การบริโภคอาหารที่มีแคโรนอยด์เป็นส่วนประกอบก็อาจช่วยบำรุงผิวให้แข็งแรงและทนทานต่อแสงแดดมากยิ่งขึ้น จึงอาจช่วยลดปัญหาผิวไวต่อแดดได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานสารอาหารเหล่านี้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงควรเลือกใช้วิธีกันแดดแบบอื่น ๆ อย่างทาครีมกันแดดหรือสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดเมื่อต้องออกแดดด้วย

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่อง และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยทั้ง 2 โรคนี้มีความเกี่ยวข้องและมีสาเหตุที่ทำให้เกิดคล้ายกัน คือ ภาวะความดันโลหิตสูงและภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โดยคอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดที่มากเกินไปจะกระตุ้นให้หลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจเกิดการอักเสบ อุดตัน และเสียหายจนทำให้เกิดโรคดังกล่าวขึ้น นอกจากนี้ ทั้ง 2 ภาวะนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคอีกหลายโรค ดังนั้น ถ้าหากควบคุมหรือลดระดับความรุนแรงของภาวะเหล่านี้ได้ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน

จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เป็นการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยจากกลุ่มอาการระบบการเผาผลาญผิดปกติ (Metabolic Syndrome) เป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดความดันและไขมันในเลือดสูง พบว่าสารสีแดงชนิดนี้มีส่วนช่วยปรับสมดุลของสารอนุมูลอิสระที่เป็นตัวการกระตุ้นให้เซลล์ภายในหลอดเลือดบริเวณหัวใจและสมองเกิดการอักเสบและเสียหาย ดังนั้น การบริโภคอาหารที่มี Lycopene ปริมาณสูงอยู่เป็นประจำอาจช่วยลดความดันเลือดและลดไขมันภายในเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจได้

ป้องกันโรคมะเร็งบางชนิด

โรคมะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ ปัจจัยรวมกัน รวมถึงการที่เซลล์เสื่อม ได้รับความเสียหาย หรืออ่อนแอลง โดยในระยะยาวเซลล์เหล่านี้อาจถูกปัจจัยบางอย่างกระตุ้นและกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด แต่ด้วยสรรพคุณในการต้านอนุมูลอิสระของแคโรทีนอยด์และไลโคปีน จึงมีการศึกษาสรรพคุณในการต่อต้านเซลล์มะเร็งของสารเหล่านี้

จากการศึกษาจำนวนหนึ่งที่ทดลองสรรพคุณของแคโรทีนอยด์ในการลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง ผลพบว่า  สารอาหารประเภทแคโรทีนอยด์ที่มี Lycopene รวมอยู่ในนั้นด้วยอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคมะเร็งปอด แต่ก็ยังมีการศึกษาที่ชี้ว่าการรับประทานสารนี้ในปริมาณมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากได้เช่นกัน จึงควรบริโภคแต่พอดี

แม้ว่าผลการศึกษาอาจชี้ว่าสารสีแดงชนิดนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลากหลายด้าน แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง อย่างบางงานเป็นการศึกษาในสัตว์ทดลองหรือในหลอดทดลอง บางงานวิจัยก็มีผลการศึกษาที่ขัดแย้งกัน ทำให้ไม่สามารถสรุปสรรพคุณเหล่านั้นว่ามีประสิทธิภาพในการบำรุงสุขภาพทั้งหมด จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ไลโคปีน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ไลโคปีนหาจากไหนได้บ้าง ?

หลายคนอาจทราบดี ไลโคปีนพบได้ในมะเขือเทศ โดยในมะเขือเทศสดปริมาณ 100 กรัมอาจมีไลโคปีน 3 มิลลิกรัม ส่วนมะเขือเทศอบแห้งในปริมาณเดียวกันอาจมีสารชนิดนี้ถึง 46 มิลลิกรัม สาเหตุที่มะเขือเทศอบแห้งนั้นมีปริมาณสูงกว่าก็เพราะว่าไลโคปีนจะถูกย่อยและดูดซึมได้ง่ายขึ้นเมื่อผ่านความร้อน โดยเฉพาะการปรุงที่ใช้น้ำมัน ซึ่งซอสมะเขือเทศและน้ำมะเขือเทศก็มีสารนี้ในปริมาณที่สูงกว่ามะเขือเทศสดเช่นกัน นอกจากมะเขือเทศแล้ว ยังอาจพบสารต้านอนมูลอิสระชนิดนี้ได้จากผลไม้ อย่างแตงโม ฝรั่งสีชมพู และมะละกอ แต่อาจพบในปริมาณน้อยกว่ามะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว 

ส่วนความปลอดภัยในการรับประทานไลโคปีน ส่วนใหญ่แล้วหากไม่มีอาการแพ้อาหารเหล่านั้น สารที่ได้รับจากอาหารมักไม่มีความเสี่ยงต่อโรคหรือความผิดปกติใด ๆ ซึ่งมีการศึกษาหนึ่งแนะนำว่าเราควรได้รับไลโคปีน 9-21 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากบริโภคอาหารที่หลากหลายและครบถ้วนในแต่ละวันก็อาจช่วยให้ได้รับไลโคปีนอย่างเพียงพอแล้ว สำหรับการใช้ไลโคปีนในรูปแบบอาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็น ปริมาณ และวิธีในการใช้ที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว