ความหมาย ไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) คือการอักเสบของไส้ติ่งที่อยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น โดยตำแหน่งจะตรงกับท้องด้านล่างขวา เมื่อไส้ติ่งอักเสบอาจทำให้รู้สึกปวดบริเวณดังกล่าวอย่างเฉียบพลัน อาการปวดจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และหากไส้ติ่งที่อักเสบแตกอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย นับเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและอันตราย ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไส้ติ่งแตก
อาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งอักเสบมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน มักเป็นมากขึ้นและอาการแย่ลงภายใน 24 ชั่วโมง โดยอาการของภาวะไส้ติ่งอักเสบที่พบได้ทั่วไป คือ
- มีอาการปวดอย่างเฉียบพลันที่บริเวณรอบสะดือ ต่อมาย้ายไปปวดที่ท้องน้อยด้านล่างขวาเนื่องจากการอักเสบที่ลุกลามมากขึ้น
- มีอาการปวดมากขึ้นขณะที่ไอ จาม เดิน ขยับตัว หรือกดบริเวณท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- มีไข้ต่ำ ๆ ระหว่าง 37.2–38 องศาเซลเซียส
- ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด และไม่ผายลมร่วมด้วย
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากการอักเสบที่มากขึ้นของไส้ติ่งไปกระตุ้นท่อไตของระบบทางเดินปัสสาวะที่อยู่ใกล้กัน
ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นสตรีมีครรภ์จะมีอาการปวดบริเวณหน้าท้องส่วนบนด้านขวาแทน เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ถูกดันให้สูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของมดลูก ไส้ติ่งของสตรีมีครรภ์จึงจะเคลื่อนไปอยู่ที่บริเวณหน้าท้องส่วนบน นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดบีบที่ท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร แสบร้อนที่กลางอก และอาจพบอาการท้องเสียหรือท้องผูกควบคู่กัน
ผู้ที่มีอาการข้างต้นเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากไส้ติ่งที่อักเสบสามารถแตกได้ภายใน 48–72 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกปวดลามไปทั่วท้อง และมีไข้สูง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสัญญาณว่าไส้ติ่งแตก และควรได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมีอาการไส้ติ่งอักเสบเรื้อรัง ซึ่งพบได้น้อยกว่าไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันและยังวินิจฉัยได้ยาก ส่วนใหญ่จะทราบเมื่อมีอาการไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันเกิดขึ้นก่อน โดยอาการจะคล้ายไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน แต่อาการไม่รุนแรงมากและไม่หายขาด บางรายอาจมีอาการนานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปี
สาเหตุของโรคไส้ติ่งอักเสบ
ภาวะการอักเสบในไส้ติ่งอาจเกิดจากการอุดตันภายในไส้ติ่งเอง โดยสิ่งที่ไปอุดตันอาจเป็นได้ทั้งเศษอุจจาระขนาดเล็กที่แข็งตัว สิ่งแปลกปลอม หรืออาจเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง ทำให้ไส้ติ่งเกิดการติดเชื้อและบวมขึ้น
บางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินอาหารจากไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต หรือเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองภายในผนังลำไส้บวมขึ้นจนไปปิดกั้นไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งอักเสบในที่สุด
ไส้ติ่งอักเสบเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในคนอายุตั้งแต่ 10–30 ปี และอาจพบในกลุ่มเด็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไปด้วย โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติไส้ติ่งอักเสบมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนทั่วไป
การวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบ
การวินิจฉัยอาการไส้ติ่งอักเสบค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอาการของไส้ติ่งอักเสบคล้ายกับโรคอื่น ๆ เช่น ปัญหาถุงน้ำดี การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ โรคลำไส้อักเสบโครห์น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ การติดเชื้อในลำไส้ ปัญหารังไข่ และโรคลำไส้แปรปรวนอย่างรุนแรง
แพทย์จะมีการซักถามอาการและระยะเวลาที่เป็น จากนั้นจะตรวจร่างกายโดยกดเบา ๆ บริเวณท้องของผู้ป่วย ตรวจทวารหนักหรือหากเป็นผู้ป่วยหญิงจะตรวจอุ้งเชิงกราน และอาจมีการตรวจด้วยวิธีอื่นตามความเหมาะสม เพื่อระบุอาการให้แน่ชัดขึ้น เช่น
- การตรวจเลือด เพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อ
- การตรวจปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้ตรวจพบโรคระบบทางเดินปัสสาวะหรือนิ่วในไตที่อาจเป็นสาเหตุของไส้ติ่งอักเสบ
- การเอกซเรย์ช่องท้อง อัลตราซาวด์ (Ultrasound) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
เมื่อระบุได้แล้วว่าเป็นภาวะไส้ติ่งอักเสบ แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไส้ติ่งแตก และอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเอง หากผ่าตัดแล้วแพทย์พบว่าไส้ติ่งที่ตัดออกมีความผิดปกติ อาจมีการส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
การรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งอักเสบรักษาได้ด้วยการผ่าตัด โดยวิธีผ่าตัดที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic surgery) เพราะเป็นการผ่าตัดเล็ก สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันที เหมาะกับกรณีที่ไส้ติ่งอักเสบยังอยู่ในระยะไม่ร้ายแรงนัก
หากอาการรุนแรงถึงขั้นไส้ติ่งแตกจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery) ที่เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐาน เพื่อนำไส้ติ่งที่แตกออก ทำความสะอาดภายในช่องท้อง และใส่ท่อเพื่อระบายหนองจากฝีที่เกิดขึ้น
ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะกลับมาเป็นปกติภายในไม่กี่วันหลังจากผ่าตัด แต่หากเข้ารับการผ่าตัดแบบเปิด ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการที่อาจนานประมาณ 1 สัปดาห์ และรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากหลังการผ่าตัดประมาณ 4–6 สัปดาห์
แพทย์อาจสั่งยาเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกหลังผ่าตัด หรือแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเพื่อช่วยในการขับถ่าย หากผู้ป่วยมีไข้สูง อาเจียนอย่างรุนแรง เจ็บที่บริเวณแผลผ่าตัด หรือบริเวณแผลผ่าตัดมีลักษณะที่ผิดปกติ เช่น จับแผลแล้วรู้สึกร้อน แผลบวมแดง ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้ติ่งอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนของไส้ติ่งอักเสบจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจนทำให้เกิดภาวะไส้ติ่งแตก ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นอาการที่เกิดจากเชื้อโรคที่แพร่กระจายจากไส้ติ่งที่แตก เช่น
เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
เมื่อไส้ติ่งที่อักเสบแตก เชื้อโรคจะแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างเคียง และก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในช่องท้อง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงตลอดเวลา มีไข้สูง หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ และมีอาการบวมบริเวณหน้าท้อง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยแพทย์จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะและผ่าตัดเพื่อนำไส้ติ่งที่แตกออก
ฝีในช่องท้อง
ผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะไส้ติ่งแตกอาจมีฝีเกิดขึ้นภายในช่องท้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการต่อสู้เชื้อโรคของร่างกาย โดยป้องกันไม่ให้การติดเชื้อแพร่กระจายไปสู่อวัยวะใกล้เคียง ผู้ที่มีฝีในช่องท้องต้องรักษาด้วยการต่อท่อระบายหนองออกจากฝีประมาณ 2 สัปดาห์ ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ
การป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งอักเสบไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันโดยหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ แต่การรับประทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดไส้ติ่งอักเสบได้ และหากพบว่ามีอาการติดเชื้อหรือการอักเสบที่ลำไส้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการอักเสบนั้นอาจลุกลามไปถึงไส้ติ่ง