ไหมละลาย ประโยชน์และวิธีดูแลแผลที่ใช้ไหมละลาย

ไหมละลาย คืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการปิดเย็บแผล โดยไหมจะค่อย ๆ ละลายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ ไหมละลายอาจใช้ไม่ได้กับทุกบาดแผล โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกไหมเย็บแผลที่เหมาะกับลักษณะของบาดแผลนั้น ๆ

ไหมละลายมักทำมาจากคอลลาเจนในผนังลำไส้ของสัตว์หรืออาจทำมาจากพอลิเมอร์ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ง่ายในร่างกาย โดยไหมละลายอาจใช้เวลาย่อยสลายและดูดซึมเข้าร่างกายนานแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัสดุของไหมละลาย ไหมละลายบางชนิดอาจละลายภายในไม่กี่สัปดาห์หรืออาจนานหลายเดือน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้วัสดุของไหมละลายให้เหมาะกับระยะเวลาในการฟื้นฟูบาดแผล 

Absorbable Sutures

รู้จักประโยชน์ของไหมละลาย

ไหมละลายเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เพื่อเย็บปิดบาดแผลบนผิวหนัง กล้ามเนื้อ อวัยวะภายในร่างกาย รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ ให้สมานกัน เช่น อวัยวะภายในช่องปาก ตา โพรงจมูก อวัยวะเพศ หรืออาจใช้เย็บบาดแผลที่ไม่จำเป็นต้องนัดติดตามอาการจากแพทย์อีกครั้ง

โด‌ยไหมละลายอาจมีประโยชน์หลายด้าน เช่น 

  • ร่างกายสามารถย่อยสลายไหมละลายได้เอง แพทย์จึงไม่จำเป็นต้องตัดไหม ซึ่งอาจเป็นประโยชน์สำหรับแผลผ่าตัดภายในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่เข้าถึงยาก
  • การใช้ไหมละลายอาจมีโอกาสที่แผลจะเปิดอีกครั้งต่ำกว่าไหมชนิดอื่น
  • แผลที่ใช้ไหมละลายในการเย็บบาดแผลอาจมีโอกาสในการเกิดแผลเป็นน้อยกว่าการใช้ไหมชนิดอื่น 

วิธีดูแลแผลที่ใช้ไหมละลายอย่างเหมาะสม

หลังจากการเย็บแผลด้วยไหละลาย แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลแผลและข้อควรระวังต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยวิธีการดูแลแผลที่ใช้ไหมละลายสามารถทำได้หลายวิธี เช่น 

  • ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสแผลเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำภายใน 24 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นสามารถล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่สูตรอ่อนโยน เช็ดให้แห้ง และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซปิดแผล อีกทั้งยังควรเปลี่ยนผ้าก๊อซปิดแผลเป็นประจำทุกวันเพื่อความสะอาด
  • หยุดพักการใช้งานบริเวณที่มีแผลจนกว่าจะหายดี เพราะการออกแรงบริเวณที่เย็บแผลอาจทำให้แผลเปิดอีกครั้งได้
  • ไม่ควรตัดไหมออกด้วยตนเองเอง เนื่องจากไหมละลายสามารถย่อยสลายและดูดซึมเข้าร่างกายได้ การดึงหรือตัดไหมก่อนที่แผลจะหายสนิทอาจทำให้แผลเปิด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และทำให้แผลหายช้ากว่าเดิม
  • สังเกตแผลของตนเองอยู่เสมอ และควรไปพบแพทย์ หากแผลมีสัญญาณการติดเชื้อ เช่น แผลเจ็บและคันอย่างรุนแรง ชาบริเวณแผล แผลมีหนองไหล 
  • บาดแผลอาจตกสะเก็ดเมื่อแผลเริ่มหาย ควรปล่อยสะเก็ดแผลทิ้งไว้และหลีกเลี่ยงการแกะ ถู หรือขัดสะเก็ดแผลออกเพราะอาจทำให้แผลหายช้าได้

การใช้ไหมละลายมีความปลอดภัยเทียบเท่ากับไหมชนิดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม บางคนอาจเกิดอาการแพ้ไหมละลายได้ เช่น เจ็บบริเวณแผล แผลแดง บวม และคัน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อระยะเวลาในการฟื้นฟูบาดแผลได้ ผู้ที่มีอาการเหล่านี้หลังจากเย็บแผลด้วยไหมละลาย ควรพบแพทย์ขอคำปรึกษาอย่างเหมาะสม