ไอคิวคืออะไร เพิ่มไอคิวให้ลูกน้อยได้อย่างไร

ไอคิว (Intellectual Quotient: IQ) หรือระดับสติปัญญา คือความสามารถในการเรียนรู้ การคิด การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล ไอคิวจึงเป็นเครื่องชี้วัดความฉลาดอย่างหนึ่ง วัยเด็กเป็นช่วงอายุที่เหมาะต่อการพัฒนาสติปัญญาให้สมบูรณ์ เพราะนอกจากพันธุกรรมที่ส่งผลต่อระดับไอคิวของเด็กแล้ว การเลี้ยงดูเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกน้อยพัฒนาไอคิวได้เต็มศักยภาพ

ไอคิว

วัดไอคิวได้อย่างไร

ไอคิววัดได้โดยใช้แบบทดสอบไอคิวที่มีหลายรูปแบบให้เลือกตามความเหมาะสมต่อผู้เข้ารับการทดสอบ ซึ่งจะแสดงผลลัพธ์ออกมาในรูปของตัวเลขที่บ่งบอกว่าผู้ทดสอบมีสติปัญญาในระดับใดเมื่อเปรียบเทียบกับคนในช่วงอายุเดียวกัน ระดับไอคิวขั้นกลางตามมาตรฐานสากลคือ 100 ผู้ที่มีไอคิวต่ำกว่า 70-75 อาจบ่งบอกได้ว่ามีความผิดปกติทางการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลให้ค่าระดับไอคิวที่วัดได้คลาดเคลื่อน เช่น ความเครียด ความเจ็บป่วยทางกายและจิตใจ เป็นต้น

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อไอคิว

ระดับไอคิวที่แตกต่างกันของแต่ละคนเป็นผลจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อมรอบตัว และอาหารที่รับประทาน ดังนี้

  • พันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์คาดว่าระดับไอคิวของคนเราเป็นผลมาจากยีนส์ที่ได้รับจากพ่อแม่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่ามียีนหลายตัวที่ส่งผลให้ระดับสติปัญญาแตกต่างกัน การตรวจหายีนเฉพาะที่เป็นตัวกำหนดความฉลาดของแต่ละคนยัังเป็นเรื่องยาก
  • สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูของพ่อแม่ สภาพสังคมรอบตัว หรือการศึกษา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา
  • อาหารที่รับประทาน สมองของคนเรามีพัฒนาการมากที่สุดในช่วง 3 ปีแรก การได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในวัยเด็กจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยมีงานวิจัยอ้างว่าการมีภาวะทุพโภชนาการในช่วงอายุ 1-5 ปี ไม่เพียงส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายผิดปกติ แต่ยังเกิดความบกพร่องทางพัฒนาการด้านสติปัญญา และมีระดับไอคิวลดน้อยลงด้วย

วิธีกระตุ้นการพัฒนาไอคิว

โดยปกติ สมองของเด็กเล็กจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีขนาดเทียบเท่า 90 เปอร์เซ็นต์ของขนาดสมองเมื่อโตเต็มที่ตั้งแต่มีอายุเพียง 4 ปี ส่วนพัฒนาการด้านสติปัญญานั้นเจริญถึงขั้นสูงสุดในช่วงอายุ 15-25 ปี จากนั้นจะค่อย ๆ เสื่อมลงตามวัย วัยเด็กจึงเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้และพัฒนาไอคิวมากที่สุด พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดในครอบครัวควรส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา ดังนี้

  • สตรีมีครรภ์และหญิงที่วางแผนมีบุตรควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน และอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ไม่สะอาด เพราะเสี่ยงต่อสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสมองของทารกในครรภ์ตกค้างในปริมาณสูง รวมทั้งเลี่ยงการสูบบุหรี่ การได้รับมลพิษ หรือการสูดดมสารเคมี เช่น สีที่ยังไม่แห้ง เป็นต้น
  • ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีภาวะไฮโปไทรอยด์อาจมีไอคิวต่ำกว่ามาตรฐาน สตรีที่วางแผนมีบุตรหรือกำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาให้อาการดีขึ้นเสียก่อน
  • สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสียงดังหรือการฟังเสียงดังเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์สูญเสียการได้ยินอย่างถาวรได้
  • พูดคุยกับลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ พยายามใช้คำที่แสดงรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ เช่น รถสีเขียว บ้านสีแดง พร้อมชี้สิ่งที่กำลังพูดถึงให้ลูกน้อยเห็นภาพชัดเจน เวลาพูดควรใส่น้ำเสียงเสียงสูงต่ำ เนื่องจากสมองของเด็กเล็กจะแยกแยะคำต่าง ๆ ออกเป็นหมวดหมู่จากน้ำเสียง
  • ให้ลูกน้อยเดินหรือเคลื่อนไหวด้วยตนเองและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวแทนการนั่งรถเข็นเด็กตลอดเวลา
  • ควรส่งเสริมให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และโอเมก้า 3 เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา เช่น น้ำมันตับปลา เมล็ดฟักทอง เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดดอกทานตะวัน หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารที่มีน้ำตาลสูง ควรหันมารับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ผัก และพืชตระกูลถั่ว
  • รับฟังความคิดเห็นของเด็กอยู่เสมอ ชื่นชมในความพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ และส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง

อย่างไรก็ตาม ระดับไอคิวไม่ใช่สิ่งเดียวที่ใช้วัดความฉลาดของแต่ละคน ยังมีตัวชี้วัดความฉลาดหลายรูปแบบ ได้แก่ ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือความฉลาดทางด้านดนตรี เป็นต้น ซึ่งสามารถส่งเสริมและพัฒนาได้เช่นเดียวกับการพัฒนาไอคิว