ไอแล้วปวดหัว อาการที่ไม่ควรนิ่งนอนใจกับ 5 สาเหตุที่ควรรู้

ไอแล้วปวดหัว เป็นอาการปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่มีตัวกระตุ้นเป็นอาการไอ หรือบางคนก็อาจเป็นการจาม การสั่งน้ำมูกแรง ๆ การหัวเราะ หรือขณะเบ่งอุจจาระ โดยผู้ที่มีอาการนี้อาจมีอาการร่วมนอกจากอาการปวดศีรษะที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสาเหตุ

อาการไอแล้วปวดหัวสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยจะมีตั้งแต่ชนิดไม่รุนแรงที่เกิดเพียงชั่วคราวและมักดีขึ้นได้เอง ไปจนถึงชนิดที่อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางโครงสร้างสมอง ซึ่งควรได้รับการรักษาจากแพทย์

ไอแล้วปวดหัว

ตัวอย่างสาเหตุของอาการไอแล้วปวดหัว

ในกรณีที่ไม่รุนแรง อาการไอแล้วปวดหัวอาจเพียงเกิดจากการที่ภายในร่างกายและศีรษะเกิดแรงดันขณะไอ ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีและหายไปเองได้ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการปวดศีรษะทั้งสองข้าง

ส่วนในกรณีรุนแรง อาการปวดศีรษะจากอาการไออาจจะเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายบางชนิดได้ ซึ่งในกลุ่มนี้ อาการปวดศีรษะมักจะเกิดขึ้นค่อนข้างนาน รวมถึงมักเกิดร่วมกับอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ทรงตัวลำบาก หรือเวียนศีรษะ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น

1. โรคสมองน้อยย้อย (Chiari Malformation)

โรคสมองน้อยย้อยเป็นโรคที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณสมองน้อยของผู้ที่ป่วยยื่นเข้าไปในบริเวณโพรงกระดูกสันหลัง โดยภาวะนี้มักพบในทารกในช่วงที่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ หรือในบางครั้งก็อาจเกิดขึ้นในภายหลังได้เช่นกัน เช่น การเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ การติดเชื้อ หรือโรคอื่น ๆ

2. น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่ว

โดยปกติแล้วบริเวณสมองและไขสันหลังจะมีของเหลว หรือน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง หุ้มอยู่เพื่อช่วยป้องกันจากการถูกกระทบกระเทือน โดยการที่ของเหลวนี้รั่วออกมาก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอแล้วปวดหัวได้

ส่วนอาการอื่นที่อาจพบได้จากภาวะนี้ก็เช่น จมูกไม่ได้กลิ่น มองเห็นภาพซ้อน สูญเสียการได้ยิน ปวดคอ เบื่ออาหาร บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน ดวงตาไวต่อแสง และทรงตัวลำบาก

3. ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ (Normal Pressure Hydrocephalus)

ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังของผู้ป่วยไปสะสมอยู่ภายในกะโหลกศีรษะและสร้างแรงกดทับให้สมอง โดยอาการของภาวะนี้ก็เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการเดิน กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีปัญหาเกี่ยวกับความจำและความคิด

4. หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm)

หลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นภาวะที่เกิดจากการที่ผนังของหลอดเลือดสมองเกิดการโป่งออกมา ในกรณีที่หลอดเลือดที่โป่งไม่แตกออก ผู้ที่ป่วยอาจยังไม่พบอาการใด ๆ หรือบางคนอาจจะมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ปวดศีรษะ ดวงตาดำขยาย ปวดบริเวณหลังดวงตา ชาใบหน้า

อย่างไรก็ตาม หากหลอดเลือดที่โป่งแตกออก กรณีนี้จะเป็นกรณีที่รุนแรง โดยผู้ที่ป่วยจะเกิดอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง ตึงบริเวณคอ มองเห็นภาพซ้อน ดวงตาไวต่อแสง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบริเวณดวงตา หางตาตก สับสน และเสียสติ

5. เนื้องอกในสมอง

เนื้องอกในสมองเป็นภาวะที่เกิดจากการที่เซลล์ในสมองเกิดการเจริญเติบโตผิดปกติ โดยอาการที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้องอกที่เกิดขึ้น ขนาดของเนื้องอก และชนิดของเนื้องอก เช่น ปวดศีรษะ โดยเฉพาะในตอนเช้าหรือหลังตื่นนอน มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการคิดและการพูด บุคลิกเปลี่ยนไป ชาบางส่วนของร่างกาย ทรงตัวลำบาก การได้ยินหรือการมองเห็นมีปัญหา

ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีอาการไอแล้วปวดหัว

ในบางครั้ง อาการไอแล้วปวดหัวอาจจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เอง โดยในระหว่างนี้ ผู้ที่มีอาการก็อาจจะบรรเทาอาการด้วยการพยายามดื่มน้ำให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ได้ยกตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ในข้างต้น อาการนี้ก็สามารถเกิดได้จากสาเหตุที่มีความรุนแรงหลายชนิดได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการไอแล้วปวดหัวก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อาการเกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือมีอาการอื่น ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นร่วมด้วย