กรดฟิวซิดิก (Fusidic acid)
Fusidic acid (กรดฟิวซิดิก) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วร่างกายหรือการติดเชื้อแบคทีเรียเฉพาะที่ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย มักใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคเทียบนผิวหนัง เช่น ภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) แผลพุพอง รวมถึงการติดเชื้อที่ดวงตาอย่างเยื่อบุตาอักเสบด้วยเช่นกัน
Fusidic acid เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น โดยมักพบในรูปแบบของครีมทาเฉพาะที่ ขี้ผึ้ง หรือยาหยอดตา รวมถึงในบางกรณีอาจพบในรูปแบบของยาเม็ดหรือยาน้ำสำหรับรับประทาน และยาฉีดด้วย
เกี่ยวกับยา Fusidic acid
กลุ่มยา | ยาปฏิชีวนะ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ในปัจจุบันยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาทา ยาฉีด ยาหยอดตา |
คำเตือนในการใช้ยา Fusidic acid
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Fusidic acid ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Fusidic acid รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่แน่ชัดว่าตัวยามีความปลอดภัยต่อผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร
- ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคตับ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะตัวยาอาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่แย่ลงได้
- ในระหว่างการใช้ยา Fusidic acid ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจการทำงานของตับเป็นประจำ
- ในระหว่างการใช้ยา Fusidic acid ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การใช้ยา Fusidic acid ในรูปแบบของยาเม็ดสำหรับรับประทานอาจทำให้เกิดการดูดซึมตัวยาช้าได้
- การใช้ยา Fusidic acid ในรูปแบบของยาทาผิวหนังอาจทำให้เสื้อผ้าติดไฟได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการอยู่ใกล้เปลวไฟ
- หากหลังจากการใช้ยาอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน หรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์
ปริมาณการใช้ยา Fusidic acid
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Fusidic acid ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้
ภาวะติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน
ตัวอย่างการใช้ยา Fusidic acid เพื่อรักษาภาวะติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน
เด็กอายุไม่เกิน 1 ปี รับประทานยาน้ำในปริมาณ 1 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 3 ครั้ง หรือในรูปแบบยาฉีดใช้ยาขนาด 20 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งฉีดยาวันละ 3 ครั้ง
เด็กอายุ 1–5 ปี รับประทานยาน้ำในปริมาณ 5 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง หรือในรูปแบบยาฉีดใช้ยาขนาด 20 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งฉีดยาวันละ 3 ครั้ง
เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานยาน้ำในปริมาณ 10 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง หรือในรูปแบบยาฉีดใช้ยาขนาด 20 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งฉีดยาวันละ 3 ครั้ง
ผู้ใหญ่ รับประทานยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือยาน้ำในปริมาณ 15 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง หากเป็นรูปแบบยาฉีดให้ใช้ยาขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
ภาวะเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis)
ตัวอย่างการใช้ยา Fusidic acid เพื่อรักษาภาวะเยื่อบุตาอักเสบ
เด็กอายุมากกว่า 2 ปีและผู้ใหญ่ ใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของกรดฟิวซิดิก 1% หยอดลงในดวงตาข้างที่เป็น 1 หยด โดยต้องหยอดตาทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลานาน 7 วัน
การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง (Skin Infections)
ตัวอย่างการใช้ยา Fusidic acid เพื่อรักษาการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง
เด็กและผู้ใหญ่ ใช้ยาทาชนิดขี้ผึ้ง ครีม หรือเจลที่มีส่วนผสมของกรดฟิวซิดิก 2% ทาบริเวณที่มีการติดเชื้อ วันละ 3–4 ครั้ง แต่หากมรการใช้ผ้าก็อซ อาจลดจำนวนครั้งลงเหลือ วันละ 1–2 ครั้ง
การใช้ยา Fusidic acid
การใช้ยาควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนด รวมถึงไม่ควรหยุดใช้ยาเองเมื่ออาการดีขึ้นโดยที่แพทย์ยังไม่ได้สั่ง เพราะอาจทำให้การติดเชื้อไม่หายขาด ในกรณีที่ลืมใช้ยาควรรีบใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้เวลาใช้ยาในรอบถัดไปควรข้ามไปใช้ยาของรอบถัดไปแทน ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
การใช้ยาในรูปแบบยาเม็ด ควรกลืนยาทั้งเม็ดพร้อมกับน้ำในคราวเดียว ไม่ควรกัดหรือเคี้ยวตัวยาก่อนกลืน ส่วนการใช้ยาในรูปแบบยาน้ำ ควรเขย่าขวดยาให้ส่วนผสมรวมเป็นเนื้อเดียวกันก่อน จากนั้นใช้ช้อนสำหรับตวงยาโดยเฉพาะเพื่อให้ได้ปริมาณยาที่ถูกต้อง และการใช้ยาในรูปแบบครีมหรือขี้ผึ้ง ควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการใช้ยา จากนั้นทาครีมบาง ๆ ลงบนบริเวณที่ติดเชื้อแล้วถูเบา ๆ
การเก็บรักษายาสำหรับยาในรูปแบบยาเม็ด ยาน้ำ และยาทา ควรเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส และเก็บให้ห่างจากความร้อน ความชื้น และแสงแดด ส่วนยาหยอดตาควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2–25 องศาเซลเซียส และควรทิ้งยาหลังจากการเปิดใช้งานแล้ว 1 เดือน
ปฏิกิริยาระหว่างยา Fusidic acid กับยาอื่น
ยา Fusidic acid อาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้
- กลุ่มยาสแตติน (Statins) ที่ใช้รักษาภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เช่น ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) ยาปราวาสแตติน (Pravastatin)
- ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี เช่น ยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir)
- ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ยาลินโคมัยซิน (Lincomycin) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) และยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)
- ยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine)
- วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดเชื้อเป็น
ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยา Fusidic acid เท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Fusidic acid
การใช้ยา Fusidic acid ในรูปแบบยารับประทานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง หรืออาหารไม่ย่อย ส่วนการใช้ยาในรูปแบบยาทาผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังได้ในบางคน และการใช้ยาในรูปแบบยาหยอดตา ก็อาจทำให้เกิดอาการตามัว ตาแห้ง ปวดตา หรือแสบตาได้เช่นกัน
ซึ่งบางอาการข้างต้นอาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที ดังนี้
- อ่อนเพลียหรือหมดแรงผิดปกติ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อกดแล้วรู้สึกเจ็บ
- ผิวหนังหรือตาเหลือง ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย ปวดท้อง และคลื่นไส้อาเจียน
- สัญญาณของการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ อาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ