ความหมาย กระจกตาย้วย (Keratoconus)
Keratoconus (กระจกตาย้วย) เป็นภาวะผิดปกติของโครงสร้างกระจกตา ซึ่งกระจกตาจะมีความโค้งนูนขึ้นมาจนผิดรูปไปจากเดิมและบางผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพเบลอ บิดเบี้ยว ดวงตาไวต่อแสง และอาจต้องเปลี่ยนแว่นสายตาอยู่บ่อย ๆ
Keratoconus มักเริ่มพบในผู้ที่มีอายุประมาณ 10–25 ปี โดยลักษณะของอาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นกับดวงตาทั้งสองข้าง แต่ดวงตาข้างหนึ่งมักจะมีอาการมากกว่าอีกข้าง และอาการมักจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้น
อาการของ Keratoconus
ผู้ที่มีภาวะ Keratoconus แต่ละคนจะพบอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรง บางคนอาจพบว่าดวงตาทั้งสองข้างมีอาการไม่เหมือนกัน ซึ่งอาการของภาวะ Keratoconus มักจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น จนแย่ลงภายในระยะเวลาประมาณ 10–20 ปี โดยอาการแรกเริ่มที่อาจพบได้ เช่น
- มองไม่ชัดหรือภาพที่มองเห็นมีลักษณะบิดเบี้ยว
- ดวงตาไวต่อแสง โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
- ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อย
- สายตาแย่ลงอย่างฉับพลัน
- ตาแดง และบวม
- มองเห็นแสงฟุ้ง ๆ หรือเห็นแสงเป็นวงรอบเมื่อมองดวงไฟ
- ปวดศีรษะร่วมกับปวดตา
- รู้สึกระคายเคืองขณะใส่คอนแทคเลนส์ หรือรู้สึกว่าคอนแทคเลนส์ไม่พอดีกับดวงตา
ภาวะ Keratoconus เป็นภาวะที่อาจส่งผลให้กระจกตาเกิดรอยแผล ซึ่งจะกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาวได้ ดังนั้น หากเริ่มพบว่าค่าสายตาแย่ลงอย่างรวดเร็วหรือพบอาการในลักษณะข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ
สาเหตุของ Keratoconus
กระจกตาเป็นอวัยวะส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของดวงตา โดยมีคอลลาเจนที่ช่วยให้กระจกตาคงรูปร่างและน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก คาดการณ์ว่าเมื่อกระจกตาขาดสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ที่จะช่วยป้องกันคอลลาเจนและช่วยกำจัดสารที่เป็นอันตราย กระจกตาจะเริ่มโค้งนูนหรือเกิดภาวะ Keratoconus
ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดกลไกข้างต้น แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น
- อายุ โดยช่วงอายุประมาณ 10–25 ปี เป็นช่วงที่เริ่มพบการเกิดภาวะ Keratoconus ได้บ่อย
- การอักเสบบริเวณดวงตา หรือภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis)
- พฤติกรรมการขยี้ตาอย่างรุนแรงเป็นระยะเวลานาน
- โรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น โรคเรติไนติส พิกเมนโตซา (Retinitis Pigmentosa) ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) มาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome) โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome) และโรคหืด (Asthma)
การวินิจฉัย Keratoconus
สำหรับการวินิจฉัย Keratoconus จักษุแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับประวัติทางด้านสุขภาพของผู้ป่วย ประวัติการเกิด Keratoconus ของคนในครอบครัว ร่วมกับการตรวจดวงตาและความโค้งนูนของกระจกตาของผู้ป่วย โดยวิธีที่จักษุแพทย์อาจพิจารณาใช้ เช่น
- การถ่ายภาพกระจกตาของผู้ป่วย (Computerized Corneal Mapping) เพื่อนำไปตรวจกระจกตาโดยละเอียด
- การใช้เครื่อง Slit-lamp หรือกล้องจุลทรรศน์สำหรับตรวจดวงตา เพื่อตรวจสอบรูปร่างและความผิดปกติต่าง ๆ บริเวณกระจกตา
- การใช้เครื่องวัดกำลังสายตา (Phoropter) หรืออุปกรณ์ตรวจตาเรติโนสโคป (Retinoscope) เพื่อวัดการหักเหแสงของดวงตาและตรวจดูจอประสาทตาของผู้ป่วย
- การตรวจวัดความโค้งของกระจกตา โดยแพทย์จะใช้เครื่องเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) ส่องไฟไปที่กระจกตา
การรักษา Keratoconus
แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษา Keratoconus แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจเพียงแนะนำให้ผู้ป่วยสวมแว่นสายตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งเท่านั้น
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน โดยวิธีการรักษาที่แพทย์อาจใช้ เช่น
- วิธี Collagen Cross Linking โดยแพทย์จะหยดสารวิตามินบีลงบนดวงตาของผู้ป่วย และใช้แสงยูวีชนิดพิเศษกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนบริเวณกระจกตาของผู้ป่วยเพื่อช่วยให้กระจกตาของผู้ป่วยยุบลงและแข็งแรงขึ้น จากนั้นภายหลังการรักษาแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสวมแว่นสายตาหรือใส่คอนแทคเลนส์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่สามารถช่วยให้กระจกตาของผู้ป่วยหายขาดหรือกลับสู่สภาพเดิมได้อย่างสมบูรณ์ แต่จะช่วยป้องกันไม่ให้การมองเห็นแย่ลง และอาจช่วยให้การมองภาพดีขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย
- การผ่าตัดนำอุปกรณ์ใส่ไว้ในกระจกตา เพื่อช่วยให้กระจกตาของผู้ป่วยยุบลง และช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ดีขึ้น
- สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะใช้วิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์จะนำกระจกตาของผู้บริจาคมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย
นอกจากการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ในข้างต้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการขยี้ตาอย่างรุนแรง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายบริเวณกระจกตา ซึ่งจะส่งผลให้อาการต่าง ๆ แย่ลง
ภาวะแทรกซ้อนของ Keratoconus
ในบางครั้งผู้ป่วย Keratoconus อาจเกิดการปริแตกเล็ก ๆ ของผิวกระจกตา ทำให้เกิดภาวะกระจกตาบวม มองไม่ชัดและเกิดเป็นรอยแผล แม้โดยส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายเองได้ แต่ในกรณีที่รอยแผลเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ผิวกระจกตาของผู้ป่วยอาจกลายเป็นแผลเป็นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของผู้ป่วยได้ในระยะยาว
การป้องกัน Keratoconus
เนื่องจากทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะ Keratoconus การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการขยี้ตาอย่างรุนแรง หรือหากป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ อาจไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยบรรเทาหรือลดความเสี่ยงในการเกิดอาการคันตาและขยี้ตา
นอกจากนี้ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในช่วงอายุ 10 ปีขึ้นไป อาจพาบุตรหลานไปตรวจดวงตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้จักษุแพทย์ตรวจสุขภาพดวงตาและความผิดปกติต่าง ๆ ตั้งแต่เนิ่น ๆ