กระดูกงอก (Osteophytes หรือ Bone Spurs) คือภาวะที่เกิดกระดูกปูดนูนออกมาจากบริเวณข้อต่อกระดูกที่เป็นบริเวณกระดูกสองชิ้นเชื่อมต่อกันหรืออาจพบได้ที่บริเวณกระดูกสันหลัง มักพบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่วัยผู้ใหญ่ก็สามารถเกิดกระดูกงอกได้เช่นกัน หากมีอาการข้อเสื่อมก็อาจมีโอกาสเกิดกระดูกงอกได้มากขึ้น
โดยทั่วไป กระดูกงอกมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ จึงอาจไม่ทันสังเกตเห็นแม้จะมีอาการเป็นเวลานาน หากภาวะนี้ไม่ได้กระทบต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่บางกรณีกระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่อาจเสียดสีกับกระดูกส่วนอื่นหรือกดทับเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ ปวด หรือมีอาการชา ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
อาการกระดูกงอก
โดยทั่วไป กระดูกงอกมักไม่แสดงอาการ แต่ผู้ป่วยอาจรับรู้ได้เมื่อกระดูกงอกจนกดทับเส้นประสาท เส้นเอ็น โครงสร้างอื่นภายในร่างกาย หรืออาจทราบจากการตรวจวินิจฉัยอาการอื่นด้วยวิธีเอกซเรย์
ผู้ป่วยจะมีอาการจะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เกิดกระดูกงอก เช่น
- กระดูกงอกบริเวณไหล่อาจกระทบต่อเส้นเอ็นไหล่ ทำให้เกิดอาการปวดหรือบวมขึ้น
- กระดูกงอกที่หัวเข่าอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดเมื่อผู้ป่วยยืดขาหรืองอขา
- กระดูกงอกที่กระดูกสันหลังอาจทำให้ช่องว่างบริเวณกระดูกสันหลังแคบลง ในบางกรณีอาจกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท ทำให้รู้สึกเจ็บ ปวด ชา หรืออ่อนแรงบริเวณหลัง แขน และขา บางรายอาจมีปัญหาในการควบคุมระบบขับถ่ายและปัสสาวะ
- กระดูกงอกบริเวณสะโพกอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดเมื่อต้องขยับสะโพก หรือเคลื่อนไหวสะโพกไม่สะดวก
- กระดูกงอกบริเวณมือและนิ้วมืออาจเกิดการปูดนูนของกระดูกใต้ผิวหนังตามข้อนิ้ว
ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยจะแย่ลงเมื่อออกกำลังกายหรือพยายามที่จะเคลื่อนไหวข้อต่อในบริเวณที่มีกระดูกงอก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการปวดหรือบวมบริเวณข้อต่อใดข้อต่อหนึ่งหรือมากกว่านั้น หรือขยับข้อต่อได้ลำบากกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป
สาเหตุของกระดูกงอก
กระดูกงอกเกิดขึ้นเมื่อข้อต่อหรือเส้นเอ็นเกิดความเสียหาย ร่างกายจึงพยายามซ่อมแซมส่วนที่เสียหายโดยการสร้างกระดูกงอกขึ้นมาทดแทนใกล้กับบริเวณที่เสื่อมสภาพลง สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดมาจากความเสียหายบริเวณข้อต่อจากโรคข้อเสื่อม การเสื่อมลงของเนื้อเยื่อข้อต่อกระดูกหรือกระดูกอ่อนที่ห่อหุ้มส่วนปลายของกระดูก
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคืออายุ เนื่องจากมักพบอาการกระดูกงอกในผู้สูงอายุ แต่สามารถพบกระดูกงอกในวัยอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะหากมีปัจจัยต่อไปนี้
- ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือการประสบอุบัติเหตุ
- ใช้งานข้อต่อหนักเกินไป เช่น วิ่งหรือเต้นเป็นระยะเวลานาน
- มีน้ำหนักตัวมากเกิน
- ข้อต่อเสื่อมลงของจากภาวะผิดปกติอื่น เช่น โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคแอลเอสอี (Lupus) เป็นต้น
- มีความผิดปกติของกระดูกตั้งแต่กำเนิด อย่างภาวะกระดูกสันหลังคด
- โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis)
- ได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรม
การวินิจฉัยกระดูกงอก
ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นหรือสัมผัสได้ถึงก้อนนูนใต้ผิวหนัง หรืออาจตรวจพบในระหว่างเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคอื่น โดยทั่วไป แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยอาจให้ผู้ป่วยทดลองขยับบริเวณที่เกิดกระดูกงอกเพื่อดูความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อต่อที่อาจผิดปกติ ในบางกรณีอาจให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อเพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริง
นอกจากนี้ อาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการวินิจฉัยร่วมด้วย ดังนี้
- การใช้ภาพวินิจฉัย เช่น การเอกซเรย์ ซีทีสแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการจากภาพอวัยวะหรือโครงสร้างภายในที่ชัดเจนขึ้น
- การตรวจวินิจฉัยเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าเพื่อตรวจวัดความเร็วในการส่งสัญญาณประสาท ทำให้สามารถวินิจฉัยเส้นประสาทที่เสียหายจากกระดูกงอกกดทับบริเวณโพรงกระดูกสันหลัง
การรักษากระดูกงอก
วิธีการรักษาอาจแตกต่างกันไปตามอาการและตำแหน่งที่เกิดกระดูกงอก หากมีอาการไม่รุนแรง มีอาการบวมหรือเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ทั่วไปตามคำแนะนำของเภสัชกร เพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) หรือยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อช่วยลดความไม่สบายตัวหรือความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะหากมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ปกติจะส่งผลต่อความผิดปกติของข้อต่อได้ง่าย
- ยืนหรือนั่งในอิริยาบถที่เหมาะสม ยืดหลังให้ตรงเพื่อให้กระดูกสันหลังอยู่ในตำแหน่งปกติ
- สวมรองเท้าที่มีวัสดุรองรับรูปเท้า ซึ่งจะช่วยให้ลดแรงเสียดสีหรือแรงกระแทกของเท้าและข้อต่อขณะเดิน
- ทำกายภาพบำบัดเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อต่อ
ในบางกรณี อาจต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- การฉีดยาสเตียรอยด์ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อช่วยระงับอาการบวมและการอักเสบชั่วคราว
- การผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่กระดูกงอกกดทับเส้นประสาทหรือเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งแพทย์อาจผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์ช่วยป้องกันกระดูกงอกกดทับเส้นประสาท หากเกิดกระดูกงอกที่บริเวณไหล่หรือหัวเข่าอาจรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้องด้วยเครื่องมือพิเศษ ซึ่งจะทำให้แผลหลังการผ่าตัดเล็กกว่าการผ่าตัดธรรมดา
ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกงอก
แม้กระดูกงอกอาจไม่แสดงอาการในเบื้องต้น แต่บางรายอาจรู้สึกไม่สบายตัว รู้สึกเจ็บเมื่อต้องขยับหรือเคลื่อนไหวอวัยวะที่เกิดกระดูกงอก ซึ่งอาจกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ในบางกรณี กระดูกงอกอาจทำให้เกิดภาวะเศษกระดูกหลุดอยู่ภายในข้อเข่า (Loose Body) และทำให้การเคลื่อนไหวข้อต่อทำได้ลำบากเนื่องจากกระดูกที่หลุดนี้จะไปขัดขวางการเคลื่อนไหวข้อต่อ นอกจากนี้ หากกระดูกงอกไปกดทับเส้นประสาท ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้
การป้องกันกระดูกงอก
แม้จะไม่มีวิธีการป้องกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในกรณีที่กระดูกงอกเกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อต่อ แต่อาจลดความเสี่ยงของโรคได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีสูง ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของกระดูก
- สวมรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปเท้า มีพื้นที่ด้านหน้ากว้างพอสำหรับนิ้วเท้า และมีวัสดุรองรับอุ้งเท้า นอกจากนี้ ควรสวมรองเท้าที่มีขนาดพอดีหรืออาจสวมถุงเท้าหนา ๆ เพื่อช่วยเพื่อลดแรงเสียดสีขณะเดิน
- ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight-bearing Exercises) อย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ หรือขึ้นลงบันได เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และช่วยให้กล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้กระดูกและข้อไม่ต้องรองรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจนทำให้เกิดความเสียหายได้
- หากผู้ป่วยมีประวัติของโรคข้ออักเสบ หรือมีอาการปวด บวม หรือรู้สึกแข็งเกร็งตามข้อ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการป้องกันการเกิดกระดูกงอก