กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder: OAB) เป็นภาวะที่ส่งผลให้ผู้ป่วยปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้รู้สึกปวดปัสสาวะอย่างกะทันหัน บางคนอาจมีปัสสาวะเล็ดหรือราดร่วมด้วย ซึ่งอาการจากภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตและก่อให้เกิดความเครียดให้แก่ผู้ป่วยได้
สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินยังบอกไม่ได้อย่างแน่ชัด โดยอาจเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น อาการป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือการรับประทานยาบางชนิด ซึ่งแพทย์สามารถวินิจฉัยและบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
อาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ปัสสาวะอย่างเร่งรีบ รู้สึกปวดปัสสาวะอย่างกะทันหันและไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้นาน
- ปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อนหรือปัสสาวะมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน
- ปัสสาวะราดหรือมีปัสสาวะเล็ดเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน โดยผู้ที่มีภาวะนี้จะตื่นมาปัสสาวะอย่างน้อย 2 ครั้งต่อคืน
แม้ว่าภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ หากพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าวและส่งผลให้เกิดความเครียดหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะหดตัวอย่างกะทันหันแม้มีปัสสาวะในปริมาณน้อย ในปัจจุบันยังระบุสาเหตุของภาวะนี้ไม่ได้แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เช่น
กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง
การตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตรอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกรานยืดขยายออกและอ่อนแรง กระเพาะปัสสาวะจึงหย่อนตัวลงจากตำแหน่งเดิมและเกิดภาวะปัสสาวะเล็ดรั่ว
เส้นประสาทได้รับความเสียหาย
การทำงานระหว่างสมองและกระเพาะปัสสาวะเกิดความผิดพลาด เนื่องจากเส้นประสาทได้รับความเสียหายจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือหลัง เคยเข้ารับการฉายรังสี ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เป็นต้น
การใช้ยา การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนจะขัดขวางการทำงานของสมอง ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะล้น อีกทั้งยาขับปัสสาวะและเครื่องดื่มคาเฟอีนจะทำให้กระเพาะปัสสาวะเต็มเร็วและเกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้
การติดเชื้อ
การติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะอาจส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาทในบริเวณดังกล่าว ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวโดยไม่สามารถควบคุมได้
น้ำหนักเกิน
ร่างกายของผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีการกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดภาวะปัสสาวะราด
การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือน
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายอาจส่งผลต่อความต้องการที่จะปัสสาวะอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มเสี่ยงให้เกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโต มีก้อนเนื้อหรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ท้องผูก ไม่สามารถเดินได้ปกติ มีภาวะปัสสาวะค้างหรือปัสสาวะไม่สุด และอายุมากซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease)
การวินิจฉัยกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
แพทย์จะวินิจฉัยภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินได้จากประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกายบริเวณทวารหนักหรืออุ้งเชิงกราน การตรวจตัวอย่างปัสสาวะ การตรวจทางระบบประสาทเพื่อตรวจหาการตอบสนองทางร่างกาย รวมถึงการตรวจทางยูโรไดนามิก (Urodynamic Tests) เพื่อตรวจสอบการทำงานของกระเพาะปัสสาวะด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- วัดปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ (Measuring Urine Left In The Bladder) โดยหลังจากผู้ป่วยขับปัสสาวะแล้ว แพทย์อาจอัลตราซาวด์บริเวณกระเพาะปัสสาวะหากสงสัยว่าผู้ป่วยไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้หมด ในบางรายอาจใช้สายสวนสอดผ่านท่อปัสสาวะเพื่อระบายน้ำปัสสาวะออกมาวัดปริมาณ
- วัดอัตราการไหลของปัสสาวะ (Measuring Urine Flow Rate) แพทย์จะให้ผู้ป่วยขับปัสสาวะใส่เครื่อง Uroflowmeter เพื่อวัดปริมาณและความแรงของการขับปัสสาวะ
- วัดค่าความดันในกระเพาะปัสสาวะ (Testing Bladder Pressure) โดยใช้การตรวจ Cystometry เพื่อวัดค่าความดันในกระเพาะปัสสาวะและบริเวณรอบข้างในระหว่างที่น้ำเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะใช้สายสวนเติมน้ำอุ่นเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะอย่างช้า ๆ และใช้อีกสายหนึ่งติดเครื่องตรวจจับความดันผ่านเข้าไปในบริเวณทวารหนักหรือช่องคลอด
การรักษากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
แพทย์จะรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินโดยใช้หลายวิธีร่วมกันดังนี้
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น เช่น
- บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel Exercises) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานและหูรูดท่อปัสสาวะ ทำให้สามารถหยุดการหดตัวของกระเพาะปัสสาวะ โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำถึงวิธีการบริหารกล้ามเนื้อที่ถูกต้องและผู้ป่วยควรบริหารกล้ามเนื้อส่วนดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
- ฝึกให้ผู้ป่วยควบคุมร่างกายของตนเองเพื่อสร้างสมดุลภายในร่างกายด้วยเครื่อง Biofeedback โดยเครื่องจะถูกติดอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยเพื่อตรวจวัดและเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้วิธีการควบคุมการทำงานในร่างกาย อย่างการฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อควบคุมการขับถ่ายเพื่อให้สามารถกลั้นปัสสาวะได้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานด้วยการลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น และสามารถบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ดเมื่อความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น (Stress Urinary Incontinence: SUI) ได้เช่นกัน
- กำหนดช่วงเวลาและความถี่ในการเข้าห้องน้ำแต่ละวัน เช่น ต้องเข้าห้องน้ำทุก 2–4 ชั่วโมง และควรเข้าห้องน้ำในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอโดยไม่จำเป็นต้องรอให้รู้สึกปวดก่อน
- ใส่ผ้าอ้อมเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ และป้องกันปัสสาวะเลอะเสื้อผ้า
- ฝึกการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Training) ด้วยการฝึกการควบคุมร่างกายให้ชะลอการขับปัสสาวะเมื่อร่างกายต้องการ เริ่มจากการชะลอเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หรือประมาณ 30 นาทีก่อน แล้วค่อย ๆ ควบคุมให้ร่างกายปัสสาวะทุก ๆ 3–4 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะต้องสามารถหดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานในการฝึกนี้ได้
- ปรับการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่อาจส่งผลต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม เครื่องดื่มหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว มะเขือเทศ ช็อคโกแลตหรืออาหารที่มีรสเผ็ด เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ อาทิ ใช้สายสวนเป็นครั้งคราว (Intermittent Catheterization) หากไม่สามารถขับปัสสาวะออกจากร่างกายได้หมด ดื่มเครื่องดื่มในปริมาณที่เหมาะสม จดบันทึกการดื่มเครื่องดื่มใสแต่ละวัน จำนวนครั้งของการเข้าห้องน้ำ จำนวนครั้งของการปัสสาวะโดยไม่ตั้งใจและรายละเอียดอาการช่วงที่เกิดเหตุดังกล่าว อย่างอาการปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หัวเราะหรือไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ทัน
2. การใช้ยา
ผู้ป่วยภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินในวัยหลังหมดประจำเดือนอาจรักษาด้วยการบำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนในรูปแบบของยาทา ยารับประทาน ยาเหน็บหรือวงแหวน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณท่อปัสสาวะและช่องคลอด
แพทย์อาจใช้ยาเพื่อช่วยให้กระเพาะปัสสาวะคลายตัวและลดการเกิดอาการปัสสาวะเล็ด เช่น ยากลุ่ม Antimuscarinic Drugs หรือยากลุ่ม Beta-3 Agonist เป็นต้น และผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยอาจมีอาการปากแห้ง ตาแห้งหรือท้องผูก ซึ่งเป็นอาการที่อาจกระตุ้นให้อาการของภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินรุนแรงขึ้นได้ แต่แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานน้ำในประมาณน้อย อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาลเพื่อลดอาการปากแห้ง ใช้ยาหยอดตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น หรือแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก
3. การฉีดสารเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ (Bladder Injections)
แพทย์จะฉีดสารโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum Toxin) หรือที่เรียกว่า โบทอกซ์ (Botox) ในปริมาณน้อยเข้าสู่เนื้อเยื่อกระเพาะปัสสาวะโดยตรงเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลั้นปัสสาวะได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยภาวะปัสสาวะเล็ดอย่างรุนแรง ผู้ป่วยดื้อยา ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาก่อนหน้านี้ หรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงจากการใช้ยารูปแบบรับประทาน
การฉีดโบทูลินัมท็อกซินจะมีประสิทธิภาพในการรักษาเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน และผู้ป่วยจะต้องฉีดซ้ำ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดโบทอกซ์ ได้แก่ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และเกิดภาวะปัสสาวะไม่ออก ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นจะต้องสวนปัสสาวะออกด้วยตนเอง
4. การกระตุ้นเส้นประสาท
แพทย์จะฝังเครื่องมือขนาดเล็กไว้บริเวณกระดูกก้นกบและเครื่องจะส่งสัญญาณไปยังเส้นลวดที่อยู่ใกล้กับเส้นประสาทกระเบนเหน็บ (Sacral Nerves) เพื่อควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ โดยอาจเป็นการทดลองที่ใช้ระยะเวลานานเพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือ หากเครื่องมือสามารถบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้ แพทย์จะผ่าตัดและติดตั้งเครื่องมือแบบถาวรลงไปแทนเพื่อช่วยควบคุมเส้นประสาท
5. การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นที่เส้นประสาท Tibial
แพทย์จะใช้เข็มทิ่มไปยังบริเวณข้อเท้าเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณขาไปยังกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการกระตุ้นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และอาจต้องกระตุ้นทุก ๆ 3–4 สัปดาห์ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ
6. การผ่าตัด
ในกรณีที่มีอาการรุนแรงและอาการที่เกิดขึ้นไม่ตอบสนองต่อการรักษารูปแบบอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจเข้ารับการผ่าตัด แม้ว่าการผ่าตัดจะไม่สามารถรักษาอาการเจ็บขณะปัสสาวะ แต่จะช่วยให้กระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยสามารถกักเก็บปัสสาวะและลดแรงดันภายในกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งการผ่าตัดสามารถแบ่งออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
- การผ่าตัดเพื่อเพิ่มเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะนำเนื้อเยื่อจากลำไส้มาเพิ่มพื้นที่กระเพาะปัสสาวะ แต่ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดรูปแบบนี้จะต้องใช้สายสวนปัสสาวะเป็นครั้งคราวตลอดชีวิตเพื่อให้ร่างกายขับปัสสาวะออกจนหมด
- การผ่าตัดเพื่อนำกระเพาะปัสสาวะออก เป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา เมื่อแพทย์ผ่าตัดนำกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยออกแล้ว จะผ่าตัดสร้างกระเพาะปัสสาวะขึ้นใหม่หรือเปิดช่องทางหน้าท้องและติดอุปกรณ์เฉพาะเพื่อรองรับปัสสาวะแทน
ผู้ป่วยควรพูดคุยและทำความเข้าใจต่อครอบครัวหรือเพื่อนถึงอาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เพื่อช่วยลดความรู้สึกกังวลใจหรือความเครียดที่เกิดขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
อาการของภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดความเครียด มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล มีปัญหาด้านการนอนหลับหรือหลับ ๆ ตื่น ๆ มีปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ผิวเกิดการระคายเคืองหรือติดเชื้อ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรืออาจหกล้มหรือกระดูกหักโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
ในผู้ป่วยเพศหญิงบางรายอาจมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ทั้งแบบมีปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จามหรือเบ่ง ร่วมกับอาการปัสสาวะราดเมื่อต้องการปัสสาวะอย่างเร่งรีบหรือต้องการเข้าห้องน้ำอย่างเร่งด่วน อีกทั้งยังอาจพบอาการปวดปัสสาวะร่วมกับอาการเดิมของภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
การป้องกันกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าวได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
- จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- เลิกการสูบบุหรี่
- รักษาอาการหรือโรคที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
- ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวาน ควรพบแพทย์เพื่อควบคุมอาการของโรคอย่างถูกวิธี
- บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพื่อเสริมความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว โดยการเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นเวลา 2 วินาทีแล้วจึงผ่อนคลายเป็นเวลา 3 วินาที สลับกันทำ 10 ครั้งต่อวัน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินที่กำลังตั้งครรภ์และวางแผนคลอดด้วยวิธีธรรมชาติควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นบริเวณกระเพาะปัสสาวะและความเสี่ยงต่อปากมดลูก