กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

ความหมาย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เป็นการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection: UTI) จนทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบได้ในทุกเพศทุกวัย

โดยปกติ ในระบบขับถ่ายปัสสาวะจะมีไตเป็นตัวกรองของเสียในเลือดและควบคุมระดับความเข้มข้นของสารต่าง ๆ ในร่างกาย จากนั้นจะส่งของเสียผ่านท่อไตลงไปเก็บไว้ยังกระเพาะปัสสาวะจนเต็ม และขับออกจากร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะ บางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อจนแพร่กระจายจากกระเพาะปัสสาวะไปยังไต ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมา แต่พบได้ค่อนข้างน้อย

Cystitis

อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบสามารถสังเกตความผิดปกติที่พบได้บ่อยดังนี้

  • ปวดปัสสาวะบ่อย
  • รู้สึกปวดแสบขณะปัสสาวะ
  • ปัสสาวะขุ่น มีปริมาณน้อย และมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • ปวดท้องน้อย
  • มีไข้
  • ปัสสาวะมีเลือดปนในบางครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักไม่พบอาการที่ชัดเจน แต่อาจมีอาการอ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิด เบื่ออาหาร และอาเจียน
  • สำหรับผู้สูงอายุบางคนแทบไม่พบอาการ แต่มักจะมีอาการอ่อนเพลีย สับสน หรือมีไข้

สาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

เป็นสาเหตุหลักที่พบมากที่สุด การติดเชื้อแบคทีเรียอาจมาจากเชื้อที่อยู่ภายนอกร่างกายหรือเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ภายในร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล หรือ อีโคไล (Escherichia Coli: E. Coli) ที่พบอยู่บริเวณลำไส้ของมนุษย์ 

โดยเชื้อเหล่านี้เข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะก่อนมีการแบ่งตัวจำนวนมาก ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบตามมา แต่กลไกในการเกิดโรคนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นอย่างไร

นอกจากนี้ ผู้หญิงมักจะติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะได้มากกว่าผู้ชายจากหลายปัจจัย เช่น ทวารหนักอยู่ในตำแหน่งใกล้ท่อปัสสาวะ ท่อปัสสาวะมีขนาดสั้นกว่าของผู้ชาย หรือการเช็ดก้นจากด้านหลังมาทางด้านหน้าอาจทำให้แบคทีเรียเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

นอกจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน แต่มักพบได้น้อยกว่าการติดเชื้อ เช่น

  • การใช้ยาบางชนิด ส่วนประกอบในยาบางชนิดอาจมีผลต่อการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะยาเคมีบำบัด เช่น ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ และยาไอฟอสฟามายด์
  • การฉายรังสีบริเวณช่องเชิงกราน เนื้อเยื่อภายในกระเพาะปัสสาวะบริเวณที่โดนฉายรังสีอาจเกิดการอักเสบและอาจส่งผลต่อกระเพาะปัสสาวะเช่นกัน
  • สิ่งแปลกปลอมภายนอก การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบตามมา
  • สารเคมี บางคนอาจมีความไวต่อสารเคมีในผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์อาบน้ำหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ซึ่งอาจมีสารเคมีบางตัวที่สร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ
  • ปัญหาสุขภาพ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการทำงานผิดปกติของร่างกายหรือโรคประจำตัว เช่น นิ่วในไต ต่อมลูกหมากโต หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง
  • การเสียดสีในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

นอกจากสาเหตุข้างต้น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบยังอาจเกิดได้ง่ายขึ้นในบุคคลบางกลุ่มหรือบางสภาวะที่มักเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรค ดังนี้

  • ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะสั้นกว่า และตำแหน่งที่เปิดอยู่ใกล้ทวารหนักมากกว่า จึงเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
  • การมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้หญิงที่มีการคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าอสุจิในช่องคลอด
  • ผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะหลังหมดประจำเดือน จนอาจส่งผลให้ป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ได้น้อยลง
  • ผู้ป่วยที่มีการคาสายสวนปัสสาวะ
  • ผู้มีความผิดปกติหรือโรคประจำตัวเกี่ยวกับการทำงานของไต กระเพาะปัสสาวะ หรือระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น โรคเอดส์ หรือการใช้ยารักษาโรคที่กดระบบภูมิคุ้มกัน 

การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ประวัติการเจ็บป่วย และตรวจร่างกาย จากนั้นอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีพิเศษอื่น เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะ (Urine Analysis)

เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่น่าสงสัยของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แพทย์จะให้ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อนำไปตรวจการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย เลือด หรือเม็ดเลือดขาว หากมีก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยในเบื้องต้นได้

การส่องกล้อง (Cystoscopy) 

เป็นวิธีที่ใช้ตรวจหาความผิดปกติภายในกระเพาะปัสสาวะ โดยแพทย์จะสอดกล้องขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นท่อยาวผ่านทางระบบทางเดินปัสสาวะ หากพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นจะมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบางส่วนมาตรวจในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ วิธีนี้ไม่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคครั้งแรก และใช้เฉพาะกรณีที่คาดว่าตัวโรคเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อ

การถ่ายภาพทางรังสี (Imaging Tests)

เป็นวิธีการใช้รังสีตรวจภายในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ก้อนเนื้องอก โครงสร้างของเนื้อเยื่อ เพื่อหาสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของการอักเสบ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการของโรครุนแรงและเรื้อรัง โดยอาจเป็นการเอกซเรย์หรือการตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยผู้ป่วยบางรายที่สงสัยภาวะนิ่ว เนื้องอก หรือความผิดปกติอื่นเท่านั้น

การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบสามารถรักษาได้หลายวิธีดังนี้

การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและมีสาเหตุของโรคมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์มักจะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และชนิดของแบคทีเรียที่พบในปัสสาวะ

  • การติดเชื้อแบคทีเรียครั้งแรก อาการมักค่อย ๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่วันหลังการรับประทานยา แต่จำเป็นต้องรับประทานยาติดต่อกันประมาณ 3 วันไปจนถึงสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างเคร่งครัดตามแพทย์สั่งแม้จะไม่มีอาการในช่วงท้าย เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียให้หมดไป
  • การติดเชื้อซ้ำ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะนานขึ้นกว่าเดิม และอาจให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัสสาวะตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมอีกครั้ง

สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจสั่งจ่ายยาครีมสำหรับใช้ทาช่องคลอด ซึ่งเป็นฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนที่ช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น เนื่องจากในวัยหมดประจำเดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะของร่างกาย ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในช่องคลอดเสียสมดุล จึงไวต่อการติดเชื้อได้ง่ายและกระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจหายขาดได้เองสำหรับผู้ป่วยที่อาการปานกลาง ไม่ได้อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือมีโรคประจำตัว เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันสามารถขจัดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในร่างกายออกได้ตามธรรมชาติ แต่ผู้ป่วยอาจยังคงมีอาการอยู่ประมาณ 2–3 วันจนถึงเป็นสัปดาห์ 

หากต้องการให้หายไวขึ้น แพทย์มักแนะนำให้รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านอาจบรรเทาอาการได้โดยการรับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน ดื่มน้ำมาก ๆ วางกระเป๋าน้ำร้อนระหว่างช่วงท้องและเหนือขาหนีบ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างที่มีอาการ

การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากสาเหตุอื่น

หากเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์จะใช้วิธีรักษาตามสาเหตุของการเกิดโรคเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรค และรักษาแบบบรรเทาอาการของผู้ป่วย เช่น เลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ก่อความระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะหากมีสาเหตุมาจากสารบางชนิดในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือสวนล้างกระเพาะปัสสาวะหากมีสาเหตุจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและการฉายแสง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

แม้ว่าจะเป็นโรคไม่รุนแรง แต่เมื่อได้รับการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม เชื้ออาจแพร่กระจายจากกระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อไตไปจนถึงกรวยไต ส่งผลให้กรวยไตอักเสบ และอาจสร้างความเสียหายกับไตอย่างถาวร ซึ่งผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อที่ไตมักพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง ปวดเอว หนาวสั่น

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะออกมามีเลือดปน ปัสสาวะถี่มากขึ้น หรือรู้สึกปวดขณะถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการแฝงของการติดเชื้อบริเวณอื่นหรือโรคชนิดอื่น

การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบป้องกันได้เฉพาะบางสาเหตุเท่านั้น แต่อาจลดความเสี่ยงของโรคได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการขับถ่าย และรักษาความสะอาดของร่างกายตามคำแนะนำ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีบริเวณอวัยวะเพศ เช่น สบู่ แป้ง หรือผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แต่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอม
  • ไม่ควรกลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ
  • ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทุกวัน
  • ปัสสาวะหลังการมีเพศสัมพันธ์ โดยอาจดื่มน้ำเยอะ ๆ จะช่วยเร่งความรู้สึกให้อยากปัสสาวะได้ เพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ
  • การเช็ดทำความสะอาดทวารหนักควรเช็ดจากด้านหน้าไปยังด้านหลัง เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายจากทวารหนักไปยังอวัยวะเพศได้ง่าย
  • อาบน้ำแบบฝักบัวแทนการแช่น้ำในอ่างเป็นประจำ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
  • สวมใส่ชุดชั้นในที่มีเนื้อผ้าระบายได้ดี ไม่กักเก็บความอับชื้น