กลาก (Ringworm)

ความหมาย กลาก (Ringworm)

กลาก (Ringworm) เป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังที่ปรากฏเป็นวงแดงหรือขุยสีขาว และอาจมีอาการอักเสบคล้ายผื่นแดงร่วมด้วยได้ กลากสามารถขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่หนังศีรษะ ใบหน้า มือ เท้า เล็บ และขาหนีบ 

โรคกลากสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบบ่อยในเด็ก เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งแพทย์อาจรักษากลากด้วยการให้ยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยารับประทาน ยาทา โดยดูจากสาเหตุของการเกิดและความรุนแรงของโรค รวมทั้งอาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างด้วย

กลาก

อาการของโรคกลาก

กลากที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะมีอาการแตกต่างกันไปดังนี้

กลากที่หนังศีรษะ
มักเกิดกับเด็กช่วงวัยใกล้โตหรือวัยรุ่น อาการโดยทั่วไปมักทำให้หนังศีรษะตกสะเก็ดเป็นจุดเล็ก ๆ เจ็บเมื่อสัมผัส ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และคันหนังศีรษะ ส่วนในรายที่อาการรุนแรงอาจมีตุ่มหนองเล็ก ๆ บนหนังศีรษะ มีสะเก็ดแห้ง และผมร่วงจนศีรษะล้านเป็นหย่อม ๆ 

แต่หากร้ายแรงมากอาจทำให้เจ็บและพุพองเป็นแผลขนาดใหญ่ที่เรียกว่าชันนะตุ มีหนองไหล และตามมาด้วยเป็นไข้และภาวะต่อมน้ำเหลืองโต

กลากที่ร่างกายและผิวหนังทั่วไป
มักทำให้เกิดอาการคัน แดง ระคายเคืองรอบวงกลาก วงของกลากมักปรากฏเป็นขอบชัดเจนและแดงกว่าบริเวณผิวหนังปกติ แต่ตรงกลางของวงจะปรากฏในลักษณะผิวหนังสีปกติ ในกรณีที่รุนแรง กลากอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือรวมกันเป็นวงใหญ่ เป็นรอยนูนขึ้นมา คันภายใต้ผิวหนัง และอาจมีตุ่มพองหรือตุ่มหนองเกิดขึ้นรอบวง

กลากที่เท้า (เชื้อราที่เท้า)
รู้จักกันในชื่อน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต เป็นโรคทางผิวหนังที่พบได้บ่อย การติดเชื้อราที่เท้าอาจทำให้เกิดอาการแห้ง คัน มีผื่นแดงเป็นแผ่นบริเวณง่ามนิ้ว โดยเฉพาะนิ้วนางและนิ้วก้อย หากรุนแรงอาจมีอาการผิวหนังแตกแห้ง เป็นตุ่มพอง เป็นขุยสะเก็ด ผิวหนังบวม แสบหรือเจ็บ ๆ คัน ๆ ที่ผิวหนัง และอาจมีผิวหนังแห้งเป็นขุยรอบ ๆ ฝ่าเท้า ง่ามนิ้ว และด้านข้างของเท้า

กลากบริเวณขาหนีบหรือโรคสังคัง
พบได้บ่อยในเพศชายวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ มักเกิดเป็นสีน้ำตาลแดง อาจมีอาการเจ็บ เกิดตุ่มพองหรือเป็นตุ่มหนองรอบ ๆ วงกลาก มีอาการคันและแดง และอาจมีผิวหนังเป็นแผ่นตกสะเก็ดรอบบริเวณขาหนีบ เช่น ต้นขาด้านในและก้น นอกจากนี้ยังอาจขยายไปสู่ต้นขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง กลากบริเวณมักมีสาเหตุมาจากเหงื่อ อากาศที่ร้อนชื้น หรือการเสียดสีจากเสื้อผ้า

กลากที่ใบหน้าและลำคอ
กลางที่เกิดในบริเวณนี้อาจไม่ปรากฏเป็นดวงคล้ายวงแหวนอย่างกลากชนิดอื่น ๆ แต่เกิดเป็นอาการคัน บวม และแห้งจนเป็นสะเก็ด ซึ่งหากเกิดที่บริเวณหนวดอาจทำให้หนวดหลุดร่วงเป็นหย่อมได้

กลากที่มือ
กลากที่มือทำให้ผิวหนังบริเวณฝ่ามือและง่ามนิ้วหนาขึ้น โดยอาจเป็นข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างพร้อมกัน แต่ส่วนใหญ่มักพบแค่ข้างเดียว

กลากที่เล็บ
กลากที่เล็กเป็นโรคเชื้อราที่เล็บชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย กลากที่เล็บอาจทำให้เจ็บปวดและระคายเคืองผิวหนังบริเวณรอบ โดยเล็บมือที่ติดเชื้อรานี้จะดูขาว ขุ่นทึบ หนา และหักง่าย แต่หากเกิดขึ้นที่นิ้วเท้าอาจจะมีสีออกเหลือง หนา และแตกหักง่าย ทั้งนี้ผู้ที่ติดเล็บปลอมจะยิ่งทำให้เสี่ยงเกิดเชื้อราที่เล็บ เนื่องจากที่ตะไบเล็บอาจเป็นตัวสะสมเชื้อรา รวมถึงน้ำที่อาจสะสมอยู่ใต้เล็บปลอม เป็นเหตุให้เชื้อราเติบโตได้ดีจากความชื้น

สาเหตุของโรคกลาก

โรคกลากเกิดจากเชื้อราที่ผิวหนังในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) เชื้อราเหล่านี้จะอาศัยอยู่บนชั้นเนื้อเยื่อโปรตีนเคราตินบนผิวหนังที่ตายแล้วเท่านั้น แต่มักจะไม่เข้าสู่ร่างกายหรือเยื่อบุผิวอย่างปากหรือจมูก

เชื้อราเป็นสปอร์เล็ก ๆ ที่มีความคงทนและสามารถอยู่รอดบนผิวหนังของมนุษย์ ตามพื้นดิน หรือตามสิ่งของต่าง ๆ ได้เป็นเวลาหลายเดือน และยังเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างเช่นในประเทศไทย จึงเกิดการแพร่กระจายได้ง่าย 

โดยสามารถติดจากคนและสัตว์ด้วยการสัมผัส การจับสิ่งของที่มักมีเชื้อรานี้เกาะอยู่ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หวี และแปรงสีฟัน หรือติดจากดินในกรณีที่ต้องทำงานหรือยืนเท้าเปล่าบนพื้นดินที่มีเชื้อรา

บุคคลต่อไปนี้อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อราได้ง่าย

  • เด็กอ่อนหรือผู้สูงอายุที่อายุมากแล้ว
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานมาก
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 
  • ผู้เข้ารับการรักษาโรคที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น การทำเคมีบำบัด หรือใช้ยาสเตียรอยด์
  • ผู้ที่เคยติดเชื้อรามาก่อน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 
  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ 
  • ผู้ที่มีการหมุนเวียนของโลหิตไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องซึ่งหลอดเลือดดำในขามีปัญหาในการพาเลือดกลับไปยังหัวใจ

การวินิจฉัยโรคกลาก

การวินิจฉัยการติดเชื้อราโรคกลาก แพทย์สามารถทำได้ด้วยการตรวจดูลักษณะและตำแหน่งที่เกิดด้วยตาเปล่า หรืออาจใช้แสงพิเศษส่องดูผิว โดยแสงนี้จะทำให้ผิวบริเวณที่ติดเชื้อราปรากฏเป็นสีเรืองแสงขึ้นมา

นอกจากนี้ แพทย์อาจขูดเอาตัวอย่างผิวบริเวณที่ติดเชื้อหรือจากตุ่มพอง แล้วส่งไปที่ห้องแล็บเพื่อตรวจหาชนิดของเชื้อราโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู เพื่อจะได้ทราบว่าเกิดจากเชื้อราชนิดใด และสามารถจ่ายยาที่เหมาะสมที่สุดได้ด้วย เพราะยาแต่ละตัวอาจมีประสิทธิภาพรักษาการติดเชื้อแต่ละชนิดได้ต่างกัน

การรักษาโรคกลาก

ในการรักษาผู้ป่วยโรคกลาก แพทย์จะสั่งจ่ายยาตามความรุนแรงของอาการและตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อ เช่น

เท้า ขาหนีบ หรือผิวหนังตามร่างกาย
แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อราชนิดทา เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) หรือยาไมโคนาโซล (Miconazole) โดยให้ใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2–6 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ

หนังศีรษะ
แพทย์จะสั่งจ่ายยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เช่น ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) หรือยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) โดยระยะเวลาการใช้ยาจะอยู่ที่ประมาณ 1–3 เดือน 

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ครีมหรือแชมพูต้านเชื้อราร่วมไปกับการรับประทานยาด้วย เช่น แชมพูคีโตโคนาโซล (Ketoconazole Shampoo) แชมพูซีลีเนียม (Selenium Shampoo) หรือครีมเทอร์บินาฟีน (Terbinafine Cream) โดยระยะเวลาและความถี่ในการใช้จะอยู่ที่ประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 สัปดาห์

มือ เล็บมือ และเล็บเท้า
แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาตามความรุนแรงของอาการ ในช่วงแรกมักให้ใช้ยาทาก่อน แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ใช้ยาทาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเชื้อลุกลามไปที่เล็บและเริ่มมีความรุนแรง แพทย์อาจให้รับประทานยาร่วมด้วย โดยยาที่แพทย์อาจใช้ก็เช่น 

ยาเทอร์บินาฟีน
ให้รับประทานยาเทอร์บินาฟีนในปริมาณ 250 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง หากเป็นการติดเชื้อที่เล็บนิ้วมือให้รับประทานติดต่อกัน 6 สัปดาห์ ส่วนการติดเชื้อที่เล็บเท้าให้รับประทานติดต่อกัน 12 สัปดาห์ ในบางกรณีอาจมีการปรับเปลี่ยนปริมาณและระยะเวลาการใช้ยาตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
ให้รับประทานยาในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือแพทย์อาจให้รับประทานในปริมาณ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน จากนั้นให้หยุดยา 21 วัน และกลับมารับประทานยาแบบเดิมอีกรอบสำหรับผู้ที่ติดเชื้อที่เล็บมือ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อที่เล็บเท้าจะให้หยุดยา 21 วัน ก่อนกลับมารับประทานยาแบบเดิม จากนั้นให้หยุดยา 21 วัน และกลับมารับประทานยาในลักษณะเดิมอีกครั้ง

นอกจากการใช้ยาแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างร่วมด้วย เช่น เลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณที่ติดเชื้อ ซักทำความสะอาดเครื่องนอนและเสื้อผ้าทุกวัน ทำความสะอาดและเช็ดผิวให้แห้งเป็นประจำ รวมทั้งหมั่นรักษาสุขอนามัยที่มือ เท้า และผิวหนัง เพื่อหยุดการติดและแพร่กระจายเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกลาก

โรคการติดเชื้อจากราอย่างกลากเป็นไปได้ยากที่จะแพร่ไปสู่ใต้ชั้นผิวหนังและทำให้เกิดอาการป่วยหรือภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง เช่น ผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์อาจส่งผลให้การรักษาให้หายทำได้ยาก

การลุกลามของกลากจากจุดหนึ่งไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เพียงสัมผัสกับบริเวณที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยจึงควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อไปยังส่วนอื่นเพิ่ม

นอกจากนี้หากผู้ป่วยเกาผิวหนังที่ติดเชื้อบ่อย ๆ ก็อาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จนทวีความรุนแรงของอาการขึ้น กรณีนี้แพทย์จึงอาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นด้วย

การป้องกันโรคกลาก

การป้องกันตนเองจากกลากนั้นค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากมีโอกาสบ่อยครั้งในการสัมผัสกับเชื้อราตามอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ในบ้าน และยังสามารถแพร่กระจายได้ง่ายเพียงการสัมผัส แม้แต่ในระยะที่ผู้ป่วยยังไม่เริ่มแสดงอาการก็ตาม การปฏิบัติตามข้อต่อไปนี้จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้

  • ป้องกันตนเองจากผู้ป่วยหรือสัตว์ที่มีการติดเชื้อโรคกลาก กลากในสัตว์มักปรากฏเป็นรอยขนร่วงเป็นหย่อม หรืออาจไม่สามารถสังเกตได้เลย ผู้เลี้ยงสัตว์ควรนำสัตว์เลี้ยงไปตรวจเพื่อป้องกันการเกิดโรคและติดเชื้อ
  • ล้างมือเป็นประจำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
  • หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะตามโรงเรียน ศูนย์เลี้ยงดูเด็ก โรงยิม และสระว่ายน้ำ
  • รักษาความสะอาดของร่างกาย เช็ดตัวและศีรษะให้แห้ง อย่าสวมใส่เสื้อผ้าที่ชื้น
  • อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังจากการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสร่างกายผู้อื่น
  • ควรสวมใส่รองเท้าเมื่อเดินในห้องล็อคเกอร์ ห้องน้ำ หรือห้องอาบน้ำสาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า แปรงสีฟัน  ผ้าเช็ดตัว หรือข้าวของอื่น ๆ
  • ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าหนาเป็นเวลานานในที่ที่มีอากาศร้อนหรือชื้น