ความหมาย กลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (TSS)
TSS (Toxic Shock Syndrome) หรือ กลุ่มอาการท็อกซิกช็อก เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ยากแต่อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่สามารถปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายได้ การได้รับสารพิษนั้นอาจทำให้มีไข้สูงอย่างฉับพลัน และความดันเลือดต่ำซึ่งอาจเป็นเหตุให้อวัยวะสำคัญ อย่างปอด ตับ หรือหัวใจ ล้มเหลวได้ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในผ้าอนามัยโดยเฉพาะแบบสอด อย่างไรก็ตาม TSS สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยจำนวนผู้ป่วยที่พบกว่าครึ่งเป็นผู้หญิงที่อยู่ในวัยมีประจำเดือน
อาการของกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก
โดยส่วนใหญ่อาการที่เกิดจาก TSS มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ไข้สูงอย่างฉับพลัน หนาวสั่น ความดันโลหิตต่ำ รอยแดงบริเวณดวงตา ปาก ลำคอ ฝ่ามือฝ่าเท้าลอกและมีผื่นคล้ายอาการไหม้แดด ถ่ายเหลว อาเจียน ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ สับสน ไม่มีสมาธิ เป็นลมหมดสติ และอาจมีอาการชัก เป็นต้น
สาเหตุของกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก
TSS มักมีสาเหตุการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ชื่อ สแตฟิโลค็อกคัสออเรียส และ สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ซึ่งโดยปกติแล้ว แบคทีเรียเหล่านี้จะอาศัยอยู่ตามผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อเกิดแผลหรือรอยถลอก เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ก็อาจเข้าสู่กระแสเลือด โดยแบคทีเรียบางสายพันธุ์จะเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งสร้างสารพิษภายในร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดความผิดปกติขึ้น โดยปัจจัยที่มักทำให้เกิด TSS มีดังนี้
- การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดมีความเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสออเรียสสะสมภายในช่องคลอดอวัยวะเพศเข้าสู่มดลูกได้ ร่วมกับเมื่อเกิดการเสียดสีจากผ้าอนามัยอาจทำให้เกิดบาดแผลเล็ก ๆ ภายในช่องคลอดซึ่งเชื้อแบคทีเรียอาจเข้าไปได้ โดยเฉพาะการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดชนิดซึมซับยาวนาน อาจทำให้มีแบคทีเรียสะสมมากยิ่งขึ้น
- การคลอดบุตร จะทำให้เกิดบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศหญิงซึ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูง
- ผู้ที่ใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดภายในช่องคลอด เช่น แผ่นครอบปากมดลูก ฟองน้ำคุมกำเนิด หรืออุปกรณ์อื่นที่อาจทำให้เกิดแผลภายในช่องคลอด เป็นต้น
- ผู้ที่มีแผลผ่าตัด บาดแผลฉีกขาด และแผลไฟไหม้ อาจติดเชื้อผ่านทางปากแผล
- โรคจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรืออีสุกอีใส เป็นต้น
- โรคเบาหวาน
- ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์่
การวินิจฉัยกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก
เนื่องจาก Toxic Shock Syndrome จะส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายส่วน การตรวจวินิจฉัยจึงอาจมีหลายวิธี ดังนี้
- การตรวจร่างกายเบื้องต้นและการตรวจสอบอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย ก่อนจะทำการวินิจฉัยขั้นต่อไป
- การตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อหาชนิดของแบคทีเรีย ซึ่งการตรวจเลือดสามารถบอกการทำงานของตับและไตว่าได้รับความเสียหายจากการติดเชื้อหรือไม่ ทั้งยังช่วยคัดกรองโรคอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายกันออกด้วย
- การเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณช่องคลอด ปากมดลูก หรือบาดแผลเพื่อนำไปวิเคราะห์หาเชื้อแบคทีเรีย
- การตรวจภายใน
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีในการตรวจสอบเพื่อวินิจฉัยในรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น การเจาะน้ำไขสันหลัง การเอกซเรย์ทรวงอก และการทำซีทีสแกนเพื่อแสดงภาพของอวัยวะในร่างกายที่อาจได้รับความเสียหายจากการติดเชื้อ เป็นต้น
การรักษากลุ่มอาการท็อกซิกช็อก
กลุ่มอาการท็อกซิกช็อกนั้นควรได้รับการรักษาโดยเร็วเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
ในเบื้องต้นแพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วยเพื่อควบคุมการติดเชื้อไม่ให้ลุกลามไปยังส่วนอื่น
หากใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรืออุปกรณ์คุมกำเนิดในช่องคลอด แพทย์จะทำการถอดอุปกรณ์เหล่าดังกล่าวออก และหากมีสาเหตุมาจากบาดแผล แพทย์จะทำความสะอาดแผลด้วยการผ่าตัดกำจัดหนองเพื่อลดการติดเชื้อ ในกรณีที่มีเนื้อตายแพทย์จะผ่าตัดนำเนื้อส่วนนั้นออกด้วย
ในรายที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจให้สารภูมิต้านทานผ่านทางหลอดเลือดดำ (Intravenous Immune Globulins)
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการรักษารูปแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การให้ของเหลวผ่านหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ การให้ยารักษาระดับความดันเลือด และในกรณีที่เกิดภาวะไตวายผู้ป่วยต้องทำการฟอกไตเพื่อขจัดของเสียภายในร่างกาย เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก
การติดเชื้อจากแบคทีเรียนั้นสามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่รักษาหรือเข้ารับการรักษาช้าอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง เช่น อาการช็อก หรือภาวะที่เลือดในร่างกายไหลเวียนน้อยลงจนทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดออกซิเจนและสารอาหารที่มีเลือดเป็นตัวลำเลียงก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวาย ตับวาย และหัวใจล้มเหลว เป็นต้น ในกรณีที่รุนแรงผู้ป่วยอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกันกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก
อาการท็อกซิกช็อกนั้นสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ ดังนี้
- หากใช้ผ้าอนามัยแบบสอด โดยควรเลือกชนิดที่ซึมซับน้อย แม้แต่ในวันมามากก็ไม่ควรใช้แบบซึมซับยาวนาน เพื่อกระตุ้นให้ตนเองเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยขึ้น ทำให้ลดการสะสมของแบคทีเรีย และควรใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นในช่วงเวลากลางคืนหรือในวันที่ประจำเดือนมาน้อย
- ผู้ที่ใช้ถ้วยอนามัยหรืออุปกรณ์ซึมซับประจำเดือนในรูปแบบถ้วยซิลิโคน ควรล้างให้อุปกรณ์สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาใช้ใหม่
- ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างน้อยทุก ๆ 4-8 ชั่วโมง เพื่อสุขอนามัยที่ดี
- ผู้ที่เคยเป็น TSS ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นได้อีก
- ผู้ที่ใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดสำหรับใส่ภายในช่องคลอด ควรอ่านคู่มือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ผู้ที่มีแผลตามร่างกาย ควรรักษาความสะอาดของแผลและบริเวณรอบแผลให้สะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งเปลี่ยนผ้าพันแผลหรือแผ่นปิดแผลเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ หากพบว่าบริเวณรอบแผลเกิดความผิดปกติ เช่น อาการบวมแดง แสบร้อน หรือมีหนอง เป็นต้น ควรไปพบแพทย์ทันที
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียและเชื้อโรค