IT Band Syndrome (Iliotibial Band Syndrome: ITBS) หรือไอทีแบนด์ซินโดรม คือ กลุ่มอาการความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ชื่อ Iliotibial Band (IT Band หรือ ITB) ซึ่งอยู่บริเวณด้านนอกของหัวเข่า โดยไล่ไปตั้งแต่หน้าแข้ง ท่อนขาด้านล่าง หัวเข่า ต้นขา ถึงสะโพก
IT Band Syndrome มักส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวเข่าด้านนอกเป็นหลัก และอาจเกิดอาการอื่น ๆ ได้ในบางครั้ง โดยสาเหตุของกลุ่มอาการนี้มักมาจากการออกกำลังกายอย่างไม่เหมาะสม และอาจมาจากการใช้งานขาและหัวเข่าหนักเกินไป อย่างไรก็ตาม IT Band Syndrome สามารถรักษาได้
อาการของ IT Band Syndrome
อาการปวดบริเวณเหนือหัวเข่าด้านนอกเป็นอาการหลักของกลุ่มอาการนี้ และอาการปวดอาจรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดแรงกดบริเวณส้นเท้า โดยระยะแรกอาการปวดจาก IT Band Syndrome อาจหายไปเองเมื่อขยับร่างกายอย่างต่อเนื่อง แต่ระยะหลังอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อขยับหัวเข่าต่อเนื่องกัน เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน การวิ่ง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องเคลื่อนไหวหัวเข่า เป็นต้น
นอกจากนี้ บางรายอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดเมื่อย แสบร้อน กดเจ็บ (Tenderness) ตรงหัวเข่าด้านนอก ผิวหนังบวมแดงและรู้สึกอุ่นเมื่อสัมผัส มีอาการปวดท่อนขาด้านล่างและต้นขาสลับไปมา อาการปวดลามไปยังต้นขาด้านนอกและสะโพกด้านนอก เมื่อขยับหัวเข่าอาจรู้สึกคล้ายมีข้อต่อ กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นขยับในบริเวณดังกล่าว
โดยทั่วไปอาการของ IT Band Syndrome มักไม่ส่งผลอันตรายร้ายแรง แต่หากอาการในข้างต้นรุนแรงขึ้น อาการปวดไม่ทุเลา หรืออาการปวดที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การพักผ่อน ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุของ IT Band Syndrome
เดิมทีเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน IT Band มีหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหวหัวเข่าและขา ทั้งการยืดและการงอ โดยภายใต้เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน IT Band จะมีถุงน้ำ (Bursa) ช่วยให้เคลื่อนไหวได้เป็นปกติ แต่เมื่อเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน IT Band หดตัวหรือตึงจากปัจจัยต่าง ๆ ก็อาจทำให้เกิดการเสียดสีกับกระดูก ส่งผลให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน IT Band และถุงน้ำเกิดการระคายเคืองและอักเสบจนเป็นต้นเหตุให้เกิดอาการปวดขึ้น
ส่วนใหญ่แล้ว อาการหดตัว ตึง และการเสียดสีของเนื้อเยื่อ IT Band มักเกิดจากการเคลื่อนไหวหัวเข่าซ้ำ ๆ โดยปัจจัยต่อไปนี้อาจทำให้เกิด IT Band Syndrome ได้มากขึ้น
- การออกกำลังกายบางประเภท เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน บาสเกตบอล ฟุตบอล และการยกน้ำหนัก เป็นต้น
- การออกกำลังกายอย่างไม่เหมาะสม เช่น ออกกำลังกายหนักและต่อเนื่องเกินไป ออกกำลังกายโดยไม่อบอุ่นร่างกาย ออกกำลังกายผิดท่า การวางเท้าผิดตำแหน่งขณะปั่นจักรยาน การวิ่งบนพื้นผิวที่ไม่เอื้ออำนวย การวิ่งขึ้นลงเขา ไม่สวมรองเท้าสำหรับออกกำลังกาย หรือสวมรองเท้าออกกำลังกายที่เสื่อมสภาพ เป็นต้น
- การใช้ชีวิตประจำวัน การเดินและการเดินขึ้นลงบันไดเป็นประจำ การสวมรองเท้าส้นสูง การนั่งท่าเดิมติดต่อกันนาน ลักษณะการเดินที่ผิดวิธี อย่างการเดินหุบปลายเท้ามากเกินไป
- ข้อจำกัดด้านร่างกาย เช่น ความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต่ำ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา หน้าท้อง และสะโพก การบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า เท้าแบน ขาโก่ง ขายาวไม่เท่ากัน และโรคข้อเข่าอักเสบ เป็นต้น
การวินิจฉัย IT Band Syndrome
แพทย์จะสอบถามอาการที่พบ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ร่วมกับการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อเท้า หน้าแข้ง ท่อนขาด้านล่าง หัวเข่า ต้นขา และสะโพก ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านี้อาจเพียงพอต่อการวินิจฉัย IT Band Syndrome
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีแสดงภาพภายในร่างกายด้วยเครื่องเอกซเรย์และเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในหัวเข่าและขา ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยโรคและสาเหตุอื่นที่ทำให้มีอาการดังกล่าว
การรักษา IT Band Syndrome
อาการ IT Band Syndrome อาจบรรเทาเบื้องต้นได้ด้วยการดูแลตนเองดังนี้
- พักการใช้งานหัวเข่าและขา เช่น หยุดออกกำลังกายสักระยะเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟู ในระหว่างนั่งพักควรยกขาและหัวเข่าให้สูงกว่าระดับหัวใจ
- ประคบเย็น โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด ผ้าสะอาดห่อถุงน้ำแข็ง หรือเจลแช่เย็นสำหรับประคบประคบลงบริเวณหัวเข่าด้านนอกที่มีอาการปวด 10–15 นาที ทุก 2 ชั่วโมง เพื่อลดการไหลเวียนของเลือดและบรรเทาอาการปวดบวมอักเสบ
- ค่อย ๆ นวดหรือยืดกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก ขา และหัวเข่าเพื่อให้เนื้อเยื่อคลายตัว อย่างท่า Side-Lying Leg Raises ด้วยการนอนตะแคงให้ขาทั้ง 2 ข้างซ้อนกันและเหยียดตรง ใช้มือหนุนศีรษะ และยกขาข้างที่อยู่ด้านบนขึ้นช้า ๆ จนสุด ค้างไว้ 2–5 วินาทีแล้วกลับมาท่าเดิม ทำซ้ำข้างละ 15 ครั้ง ทั้งหมด 3 รอบ
- ใช้ยาแก้ปวดตามร้านขายยา อย่างยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยานาพรอกเซน (Naproxen) โดยควรแจ้งเภสัชกรที่ร้านขายยาเกี่ยวกับอาการปวด โรคประจำตัว ยาที่ใช้ อายุ น้ำหนัก และสถานะการตั้งครรภ์ก่อนเสมอ
หากทำตามวิธีเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ โดยภายหลังแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยมีอาการของ IT Band Syndrome นอกจากการดูแลตนเองในข้างต้นแล้ว แพทย์อาจส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากนักกายภาพบำบัด ซึ่งอาจแนะนำการรักษาต่อไปนี้ให้กับผู้ป่วย
- การนวดบำบัดและการใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์ เพื่อนวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป
- การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน IT Band
- การผ่าตัดเป็นการรักษา IT Band Syndrome ที่พบได้น้อยมาก แต่แพทย์อาจใช้ในกรณีที่เกิดการอักเสบเรื้อรังหรือเมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น
นอกจากนี้ แพทย์และนักกายภาพบำบัดอาจแนะนำวิธีการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง อย่างการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย ท่าออกกำลังกายที่ถูกต้อง ไปจนถึงการความเข้มข้น ความหนักเบาในการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย และเทคนิคอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บซ้ำและการบาดเจ็บอื่นที่อาจตามมา
ภาวะแทรกซ้อนจาก IT Band Syndrome
อาการปวดหัวเข่าด้านนอกและอาการอื่น ๆ ที่เป็นผลจาก IT Band Syndrome อาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย แต่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิต อย่างการเดิน การทำงาน และการออกกำลังกายได้ จึงไม่ควรปล่อยอาการทิ้งไว้โดยไม่รักษา และในบางรายอาจเกิดอาการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อส่วนดังกล่าวได้ด้วย
การป้องกัน IT Band Syndrome
โดยทั่วไปแล้ว สามารถลดความเสี่ยงของการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน IT Band ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและเหมาะสม เช่น อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายและคูลดาวน์ (Cool Down) หลังออกกำลังกายทุกครั้ง ศึกษาท่าออกกำลังกายที่ปลอดภัย กำหนดตารางการออกกำลังกายให้เหมาะสม ไม่ออกกำลังกายหนักและนานจนเกินไป ออกกำลังกายในพื้นที่ที่เหมาะสม หมั่นออกกำลังกายให้ครบทุกส่วน ทั้งด้านความแข็งแรงและความยืดหยุ่น โดยเฉพาะหน้าท้อง ต้นขา สะโพก และท่อนขาด้านล่าง เป็นต้น
- เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปเท้าและการใช้งาน ทั้งรองเท้าที่สวมในเวลาปกติสำหรับคนที่ต้องเดินบ่อย ๆ และรองเท้าออกกำลังกายที่ควรเลือกให้เหมาะสมกับประเภทการออกกำลังกาย รวมทั้งหมั่นตรวจสภาพของรองเท้าอยู่เสมอว่าพร้อมใช้งานหรือไม่
- คนที่มีอาการบาดเจ็บบริเวณขาและหัวเข่า หรือมีข้อจำกัดด้านร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการออกกำลังกายที่ปลอดภัยก่อนออกกำลังกาย
IT Band Syndrome สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยเฉพาะคนออกกำลังกายที่เสี่ยงต่อกลุ่มอาการดังกล่าว จึงควรหมั่นตรวจความพร้อมของร่างกาย สถานที่ และอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายอยู่เสมอ