Wallenberg’s Syndrome หรือกลุ่มอาการวอลเลนเบิร์ก คือภาวะความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับอาการเส้นเลือดสมองอุดตันหรือแตกบริเวณเมดัลลาทางด้านข้าง (Lateral Medulla) ในก้านสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน และมีปัญหาด้านการทรงตัว บางรายอาจสูญเสียประสาทสัมผัส อ่อนแรงหรือมีอาการชาครึ่งซีกของร่างกาย และสูญเสียการรับรสบนลิ้นฝั่งหนึ่งร่วมด้วย
กลุ่มอาการวอลเลนเบิร์กเป็นโรคที่พบได้น้อยและยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของปัญหาเส้นเลือดในบริเวณดังกล่าว หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในร่างกายหรือมีแนวโน้มจะอยู่ในกลุ่มอาการนี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อให้การรักษาเริ่มต้นอย่างรวดเร็วที่สุด
อาการของ Wallenberg’s Syndrome
ก้านสมองเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ร่วมกันกับไขสันหลังในการควบคุมการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและความรู้สึก เมื่อเส้นเลือดในสมองแตกบริเวณก้านสมอง จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านกล้ามเนื้อและการรับรู้ทางความรู้สึก โดยอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยกลุ่มอาการวอลเลนเบิร์กมักจะมีภาวะกลืนลำบาก ซึ่งทำให้มีผลต่อการรับสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย
นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เสียงแหบ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน สะอึกแบบควบคุมไม่ได้ เหงื่อออกน้อยลง มีปัญหาในการเดินหรือการทรงตัว การรับรู้ความเจ็บปวดและอุณหภูมิลดลง เป็นต้น ทั้งนี้ อาการ Wallenberg’s Syndrome จะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน แต่บางรายอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาทนานหลายปี โดยความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายของก้านสมอง
สาเหตุของ Wallenberg’s Syndrome
สาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบปัจจัยบางประการที่อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการวอลเลนเบิร์กได้มากกว่าคนปกติ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคเส้นเลือดอุดตัน โรคหัวใจ เส้นเลือดตีบ เส้นเลือดโป่งพอง การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือคอจากการล้ม กระแทก หรือร่วงกระแทกพื้นในระดับที่ไม่สูงมาก
การวินิจฉัย Wallenberg’s Syndrome
แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติทางการแพทย์และสอบถามอาการของผู้ป่วย เพื่อดูว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หากมีอาการที่คล้ายคลึงกับกลุ่มอาการวอลเลนเบิร์ก แพทย์จะตรวจอย่างละเอียดด้วยวิธีต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจเอกเซรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจหาการอุดตันในเส้นเลือดบริเวณสมองส่วนใน
การรักษา Wallenberg’s Syndrome
กลุ่มอาการวอลเลนเบิร์กยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แพทย์จึงทำได้เพียงรักษาตามอาการของผู้ป่วย เพื่อช่วยฟื้นฟูและบรรเทาอาการเท่านั้น เช่น
- ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทานอาหารเองได้ แพทย์จะทำการสอดท่อจากทางปากหรือจมูกเข้าไปในกระเพาะอาหาร เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้สะดวกขึ้น
- การเข้ารับการบำบัดเพื่อแก้ไขปัญหาพูดและการกลืน
- การใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยจากอาการที่เกิดขึ้น เช่น ยาแก้ปวด ยาต้านอาการชัก ยาละลายลิ่มเลือด
- การผ่าตัดเพื่อนำลิ่มเลือดที่อุดตันออก โดยจะทำเฉพาะกรณีที่อาการมีความรุนแรง เพราะความยากและอันตรายในการเข้าถึงสมองส่วนด้านใน
ภาวะแทรกซ้อนของ Wallenberg’s Syndrome
ผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้มักมีปัญหาในการทรงตัว จึงอาจเสี่ยงต่อการหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุในการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ รวมไปถึงบางรายอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ น้ำหนักลดลง หรือสำลัก เนื่องมาจากภาวะกลืนลำบากที่เป็นอาการของโรค
การป้องกัน Wallenberg’s Syndrome
Wallenberg’s Syndrome ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน จึงยังไม่มีวิธีป้องกันโดยตรงกับกลุ่มอาการนี้ แต่อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ด้วยการควบคุมระดับความดันโลหิตและคอลเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ระมัดระวังการทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อศีรษะและคอ