PMS (Premenstrual Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน ซึ่งทำให้เกิดอาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม PMS พบได้มากถึงร้อยละ 85 ในผู้หญิงที่มีประจำเดือน โดยมักสังเกตเห็นอาการได้ในช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1–2 สัปดาห์ และอาการจะหายไปเมื่อประจำเดือนมา
PMS มักไม่ทำให้เกิดอาการร้ายแรง แต่ในบางกรณีอาจนำไปสู่อาการร้ายแรงอย่าง Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD) ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจและการควบคุมอารมณ์ จึงอาจรบกวนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ โดยการดูแลตนเองและการรับประทานยาในช่วงก่อนมีประจำเดือนตามที่แพทย์แนะนำอาจช่วยบรรเทาอาการของ PMS ได้
อาการของ PMS
ผู้ที่มีอาการ PMS แต่ละคนอาจพบอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน และอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนอาจไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการ PMS มักพบอาการต่าง ๆ ก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5 วัน ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 รอบของการมีประจำเดือน โดยอาการมักดีขึ้นภายใน 4 วันหลังจากเริ่มมีประจำเดือน
อาการทางร่างกาย
PMS อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายต่อไปนี้
- อ่อนเพลีย
- ท้องอืดและปวดเกร็งท้อง
- แขนขาบวม
- น้ำหนักขึ้น
- คัดตึงเต้านม
- เป็นสิว
- ปวดศีรษะ ปวดข้อ และปวดหลัง
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- ภาวะไม่ทนทานต่อแอลกอฮอล์ (Alcohol Intolerance)
อาการทางอารมณ์และพฤติกรรม
PMS อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- เครียดและวิตกกังวล
- อารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ง่าย หงุดหงิดง่าย และโกรธง่าย
- ซึมเศร้า
- ไม่มีสมาธิ และหลงลืมง่าย
- สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง
- หิวบ่อย หรือเบื่ออาหาร
- นอนไม่หลับ
- อารมณ์ทางเพศลดลง
- มีพฤติกรรมเก็บตัว
หากใช้วิธีดูแลตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการเหล่านี้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เนื่องจาก PMS อาจพัฒนาไปสู่ PMDD ซึ่งเป็นอาการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะจิตใจและอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล โกรธ และอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง
สาเหตุของ PMS
แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิด PMS ที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศและปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างไข่ตกในแต่ละรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โดยอาการ PMS จะหายไปในช่วงที่ไม่มีการตกไข่ เช่น ขณะตั้งครรภ์ หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง เมื่อระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ลดต่ำลง จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือนได้
นอกจากนี้ปัจจัยอื่นที่อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการ PMS ได้แก่
- ตนเองหรือคนในครอบครัวมีโรคประจำตัวหรือภาวะผิดปกติทางอารมณ์ เช่น อาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder) ภาวะวิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) โรคจิตเภท (Schizophrenia) และโรคไบโพลาร์ (Bipolar)
- คนในครอบครัวมีประวัติของ PMS
- ได้รับการกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจ อย่างการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
- พฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารรสจัดและอาหารแปรรูป ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย และการพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการ PMS รุนแรงขึ้น
การวินิจฉัย PMS
PMS อาจไม่มีวิธีวินิจฉัยอาการได้โดยตรง แต่แพทย์อาจเริ่มจากการสอบถามอาการ ระยะเวลาและความถี่ของการเกิดอาการ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับช่วงรอบเดือน นอกจากนี้ แพทย์อาจซักถามประวัติสุขภาพและประวัติการรักษาของผู้ป่วยและคนในครอบครัว
แพทย์อาจให้ผู้ป่วยจดบันทึกอาการที่เกิดขึ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 2 รอบของการมีประจำเดือน โดยจดวันที่เริ่มมีประจำเดือนและวันที่ประจำเดือนหมดในเดือนนั้น ๆ รวมทั้งวันแรกเริ่มมีอาการ PMS และวันที่อาการหายไป หากผู้ป่วยมีอาการในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในแต่ละเดือน แพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นอาการที่เกิดจาก PMS
ทั้งนี้อาการของ PMS อาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ภาวะโลหิตจาง (Anemia) ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ภาวะความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล แพทย์จึงอาจตรวจร่างกายด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ การตรวจการตั้งครรภ์ และการตรวจภายใน เพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องออก
การรักษา PMS
โดยทั่วไปการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยอาจช่วยบรรเทาอาการ PMS ได้ แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและอาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเอง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาและรักษาด้วยวิธีการอื่น ดังนี้
การดูแลตนเอง
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความรุนแรงของอาการไม่มากนัก การดูแลตนเองด้วยวิธีการเหล่านี้ อาจช่วยให้อาการ PMS ดีขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีน แคลเซียมและใยอาหาร เช่น ธัญพืชขัดสีน้อย ผัก และผลไม้ นม และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง โดยแบ่งรับประทานเป็นมื้อย่อย ๆ ในแต่ละวัน เพื่อลดอาการท้องอืด
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสัปดาห์ 3–5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าและอาการซึมเศร้าได้
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง และจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น การทำสมาธิ การเล่นโยคะ การนวดผ่อนคลาย และการอ่านหนังสือ
- จดบันทึกระยะเวลาและอาการ PMS ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน เพื่อเตรียมการรับมือกับอาการที่จะเกิดขึ้น
การใช้ยา
ยาที่ใช้บรรเทาอาการ PMS ประกอบด้วยยาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป และยาที่แพทย์สั่งจ่าย ดังนี้
- ยา NSAIDs เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยานาพรอกเซน (Naproxen) ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ อาการปวดเกร็งท้อง หรืออาการเจ็บเต้านม
- ยาต้านเศร้า (Antidepressants) อย่างยากลุ่ม SSRI เช่น ยาฟลูอ็อกเซทีน (Fluoxetine) ยาพาร็อกซีทีน (Paroxetine) และยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) เพื่อใช้รักษาอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลที่เกิดจาก PMS หรือรักษาอาการขั้นรุนแรงอย่าง PMDD ซึ่งยานี้มักต้องรับประทานติดต่อกันจนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่ผู้ป่วยบางรายอาจรับประทานเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการทางอารมณ์ก่อนการเริ่มมีประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ใช้ในกรณีที่มีอาการแขนขาบวม ท้องอืด หรือน้ำหนักขึ้นโดยที่การควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารที่มีเกลือสูงและการออกกำลังกายไม่ได้ผล ยาขับปัสสาวะ อย่างยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) จะช่วยระบายของเหลวที่สะสมในร่างกายออกผ่านทางปัสสาวะ และบรรเทาอาการบวมน้ำจาก PMS
- ยาคุมกำเนิดงจะช่วยยับยั้งการตกไข่ และช่วยบรรเทาอาการ PMS เช่น อาการปวดเกร็งท้อง ปวดศีรษะ หรือปวดตามร่างกาย อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิดอาจทำให้กิดผลข้างเคียงได้ จึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- อาหารเสริมบางชนิด เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี 6 วิตามินดี วิตามินอี และน้ำมันอีฟนิ่ง พริมโรส (Evening Primrose Oil) อาจช่วยบรรเทาอาการ PMS ได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทาน
การรักษาด้วยวิธีการอื่น
การรักษาอาการ PMS ในผู้ป่วยบางรายอาจใช้การรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การฝังเข็มเพื่อบรรเทาอาการ และการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ซึ่งช่วยจัดการกับสภาวะอารมณ์ในแง่ลบที่เกิดจาก PMS และช่วยลดการรับประทานยาที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายของผู้ป่วย
ภาวะแทรกซ้อนของ PMS
โดยทั่วไป PMS มักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงและไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการ PMS อย่างรุนแรง อาจเกิดอาการ PMDD ได้ ซึ่งจะกระทบต่อสภาวะอารมณ์ เช่น วิตกกังวลและอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง ซึมเศร้า และอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
การป้องกัน PMS
PMS เป็นกลุ่มอาการที่ไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง แต่การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิด PMS ได้ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล เกลือ และไขมันสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมต่าง ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ