กลุ่มโรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ (Interstitial Lung Disease)

ความหมาย กลุ่มโรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ (Interstitial Lung Disease)

Interstitial Lung Disease เป็นกลุ่มโรคของความผิดปกติภายในปอดที่เป็นผลมาจากการอักเสบจนเกิดเป็นแผลหรือพังผืดที่เนื้อเยื่อปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเลือดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ นอกจากนี้ Interstitial Lung Disease อาจเป็นผลมาจากโรคหรือความผิดปกติจากบริเวณอื่นของร่างกายได้เช่นกัน  

ตัวอย่างของโรคที่จัดอยู่ในกลุ่ม Interstitial Lung Disease อาทิ โรคปอดอักเสบภูมิไวเกิน (Hypersensitivity Pneumonitis) โรคปอดฝุ่นหินเรื้อรัง โรคปอดจากแร่ใยหิน โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) หรือโรคปอดอักเสบที่มีหลอดลมขนาดเล็กตีบตัน (Bronchiolitis Obliterans) ซึ่งวิธีรักษาแต่ละโรคในกลุ่ม Interstitial Lung Disease จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละคน

กลุ่มโรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ (Interstitial Lung Disease)

อาการของ Interstitial Lung Disease

Interstitial Lung Disease ส่วนใหญ่ทำให้เกิดอาการอย่างเรื้อรัง ผู้ป่วยมักจะมีอาการหายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบาก ออกแรงหรือใช้กำลังได้น้อยลง ไอแห้ง และน้ำหนักลด ซึ่งอาการมักรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากพบสัญญาณดังกล่าว ผู้ป่วยควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยให้ปอดไม่เกิดความเสียหายมากขึ้นจนกระทบต่อการหายใจ

สาเหตุของ Interstitial Lung Disease

โดยปกติแล้ว เมื่อปอดได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการอักเสบภายในปอด ร่างกายจะมีการซ่อมแซมฟื้นฟูตามปกติ แต่ในผู้ป่วย Interstitial Lung Disease กระบวนการซ่อมแซมอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นภายในปอดมีความผิดปกติไป โดยร่างกายของผู้ป่วยจะสร้างเนื้อเยื่อรอบถุงลมจนกลายเป็นพังผืดหนาหรือรอยแผลเป็นในปอด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Interstitial Lung Disease) 

นอกจากนี้ อาจเป็นผลจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ

  • การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ โดยอาจสัมผัสในชีวิตประจำวันหรือในระหว่างการทำงาน เช่น แร่ใยหิน ฝุ่นจากถ่านหิน ฝุ่นละออง ผงซิลิกา (Silica Dust) ควันจากยาสูบหรือบุหรี่ เชื้อรา มูลสัตว์หรือรังสี 
  • การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้เนื้อเยื่อปอดเสียหายได้ เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยาปฏิชีวนะ ยาต้านการอักเสบ ยาเคมีบำบัด หรือสารเสพติด 
  • การป่วยด้วยโรคภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune Diseases) อย่างกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's Syndrome) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Polymyositis) โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) หรือโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผสม 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิด Interstitial Lung Disease ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีหรือสารพิษเป็นประจำ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคกรดไหลย้อน ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด ผู้ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ และผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรค Interstitial Lung Disease บางชนิด เช่น โรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis) หรือโรคโกเช่ร์ (Gaucher Disease) 

การวินิจฉัย Interstitial Lung Disease

แพทย์จะวินิจฉัย Interstitial Lung Disease ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

การตรวจเลือด

แพทย์จะตรวจร่างกาย สอบถามถึงอาการป่วยอื่น ๆ และการสัมผัสกับสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งอาจเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติบอดี้ โปรตีนบางชนิด หรือสาเหตุของการเกิดการอักเสบหรือโรคภูมิต้านทานตนเอง

การตรวจทางภาพถ่าย

การตรวจทางภาพถ่ายจะทำให้เห็นภาพโครงสร้างภายในปอด ความเสียหายภายในปอดและพังผืดที่เกิดขึ้นได้อย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม เช่น การเอกซเรย์ทรวงอก การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีความละเอียดสูง (High-resolution CT Scan) หรือการทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) ซึ่งเป็นการใช้คลื่นในการตรวจการทำงานของหัวใจและความดันในหัวใจห้องล่างขวา

การตรวจสมรรถภาพปอด (Lung Function Tests) 

เป็นการตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด โดยทำได้หลายวิธี เช่น การใช้เครื่องวัดออกซิเจน (Oximetry) หนีบไว้ที่ปลายนิ้วเพื่อตรวจวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หรือการตรวจสไปโรเมตรีย์ (Spirometry) เพื่อวัดความจุปอดและการวัดอัตราความเร็วในการหายใจ (Diffusing Capacity) ซึ่งจะช่วยประเมินปริมาณการกักเก็บลมภายในปอดและสมรรถภาพในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ป่วย

การตัดเนื้อเยื่อปอดไปตรวจ (Lung Biopsy) 

การตัดเนื้อเยื่อปอดไปตรวจสามารถใช้ในการวินิจฉัยแยกโรค โดยแพทย์อาจใช้วิธีการส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) ด้วยการสอดท่อยืดหยุ่นได้เข้าไปทางจมูกหรือปากเพื่อตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างขนาดเล็กออก หรือการผ่าตัดเพื่อนำตัวอย่างออกมาตรวจ โดยในระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะส่องกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางซี่โครง เพื่อให้แพทย์สามารถเห็นภาพปอดในระหว่างผ่าตัดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

การรักษา Interstitial Lung Disease

การรักษา Interstitial Lung Disease จะไม่สามารถคืนสภาพปอดหรือยับยั้งการแพร่กระจายของโรคได้ทั้งหมด แต่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติเพราะวิธีการรักษาต่าง ๆ จะชะลอการแพร่กระจายของโรคได้บางส่วน ซึ่งวิธีการรักษาของแต่ละบุคคลจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ความรุนแรงของอาการ และการจัดการอาการที่เกิดขึ้น

การดูแลตนเอง

ผู้ป่วยกลุ่มโรค Interstitial Lung Disease ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการเลิกสูบบุหรี่และไม่ควรอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเพราะการติดเชื้ออาจทำให้อาการของโรค Interstitial Lung Disease รุนแรงขึ้นได้ 

นอกจากนั้น ควรให้ครอบครัวหรือผู้ที่ใกล้ชิดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม 

การใช้ยา

แพทย์จะใช้ยาในการรักษาเพื่อเสริมการทำงานให้กับปอด เพราะตัวยาจะลดการเกิดพังผืด ลดการอักเสบภายในปอด และช่วยชะลอการแพร่กระจายของโรค ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษา เช่น ยาที่ช่วยชะลออาการของโรค อย่างยาเพอร์เฟนิโดน (Pirfenidone) ยานินเทดานิบ (Nintedanib) หรือยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) 

รวมทั้งแพทย์อาจใช้ยารักษาโรคกรดไหลย้อนอย่างยาแลนโซพราโซล (Lansoprazole) หรือยาแพนโทพราโซล (Pantoprazole) ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อย่างยาริทูซิแมบ (Rituximab) ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) หรือยาทาโครลิมัส (Tacrolimus)

การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด (Pulmonary Rehabilitation)

วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยจะเน้นที่การดูแลเรื่องการรับประทานอาหารและการรับสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย ฝึกการออกกำลังกาย ฝึกการหายใจอย่างเหมาะสม และการดูแลสภาพจิตใจโดยผู้เชี่ยวชาญ 

การรักษาด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy)

การบำบัดด้วยออกซิเจนจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ลดความดันภายในกล้ามเนื้อหัวใจด้านขวา ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจหรือออกกำลังกายได้มากขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้ตามปกติ โดยจะเป็นการใส่ท่อออกซิเจนในระหว่างการนอนหลับ การออกกำลังกาย หรืออาจต้องใส่อยู่ตลอดเวลา

การผ่าตัด

แพทย์จะผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายปอดในกรณีที่ผู้ป่วย Interstitial Lung Disease มีอาการรุนแรงหรือไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ การปลูกถ่ายอวัยวะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการไอเป็นเลือด หายใจลำบากเมื่อนอน การเกิดโรคปอดอักเสบที่มีหลอดลมขนาดเล็กตีบตัน หรืออาจเกิดภาวะต่อต้านอวัยวะใหม่ได้

ภาวะแทรกซ้อนของ Interstitial Lung Disease

Interstitial Lung Disease อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะการหายใจล้มเหลว (Respiratory Failure) ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension) หรือภาวะหัวใจห้องขวาล้มเหลว (Cor-Pulmonale) ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

การป้องกัน Interstitial Lung Disease

แม้ว่า Interstitial Lung Disease จะเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ทั้งหมด แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยกรองฝุ่นเมื่อต้องอยู่กลางแจ้งหรือในที่ที่มีการปนเปื้อนของสารพิษในอากาศ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเพื่อเสริมสร้างควางแข็งแรงให้แก่ระบบทางเดินหายใจ และเลิกสูบบุหรี่