กล่องเสียงอักเสบ คือ ภาวะอักเสบของกล่องเสียงที่ทำให้ผู้ป่วยมีเสียงแหบ เจ็บคอ ไอ และอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมา ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้เสียงมากเกินไป การระคายเคือง การติดเชื้อ เป็นต้น โดยภาวะนี้เกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง หากสาเหตุของโรคไม่รุนแรงมากนักอาจหายได้เองโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรังอาจต้องใช้ยาหรือการรักษาวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย
อาการของกล่องเสียงอักเสบ
ผู้ป่วยกล่องเสียงอักเสบส่วนใหญ่มีอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและแย่ลงภายในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งอาการหลัก ๆ ที่พบ คือ เสียงแหบ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- เสียงหาย
- พูดไม่ชัด
- เจ็บคอ ไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำ
- ไอ
- ระคายเคืองคอ รู้สึกอยากกระแอมไอตลอดเวลา
ทั้งนี้ ภาวะกล่องเสียงอักเสบมักเกิดขึ้นร่วมกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากข้างต้นด้วย เช่น ปวดหัว คัดจมูก ต่อมน้ำเหลืองบวม เจ็บคอขณะกลืน รู้สึกเหนื่อยและปวดตามร่างกาย เป็นต้น
นอกจากนี้ หากเกิดภาวะกล่องเสียงอักเสบในเด็กอาจส่งผลให้กล่องเสียงบวมจนหายใจลำบากด้วย เนื่องจากเด็กมีทางเดินหายใจแคบและเล็กกว่าผู้ใหญ่ แต่อาจพบอาการนี้ในผู้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน
สาเหตุของกล่องเสียงอักเสบ
กล่องเสียงอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการที่ปรากฏ ดังนี้
กล่องเสียงอักเสบชนิดเฉียบพลัน เป็นภาวะอักเสบบริเวณเส้นเสียงที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และมีอาการติดต่อกันเพียงไม่กี่วัน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบ ได้แก่
- ติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้เสียงมากเกินไปหรือใช้เสียงผิดวิธี
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
กล่องเสียงอักเสบชนิดเรื้อรัง เป็นการอักเสบนานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป และมีความรุนแรงมากกว่าแบบเฉียบพลัน ซึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะกล่องเสียงอักเสบชนิดนี้ ได้แก่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ได้รับสารพิษจากมลพิษทางอากาศ หรือสูดดมควันบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ไออย่างเรื้อรัง
- กรดไหลย้อน
- มีอาการระคายเคืองอย่างเรื้อรังที่เส้นเสียงจนเกิดติ่งเนื้อหรือตุ่มเล็ก ๆ ที่เส้นเสียง ทำให้เส้นเสียงไม่สามารถสั่นได้ตามปกติและเกิดอาการเสียงแหบตามมา
- ใช้เครื่องพ่นยาทางจมูกติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ใช้เสียงมากเกินความจำเป็น หรือใช้เสียงผิดวิธีติดต่อกันบ่อยครั้ง
- ป่วยด้วยภาวะเส้นเสียงอัมพาต หรือเป็นมะเร็งกล่องเสียง
การวินิจฉัยกล่องเสียงอักเสบ
หากมีอาการของกล่องเสียงอักเสบอย่างเรื้อรังเป็นเวลานาน หรือมีอาการป่วยที่รุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างละเอียด โดยในเบื้องต้นแพทย์จะคลำตรวจบริเวณลำคอว่ามีอาการเจ็บหรือมีก้อนบวมหรือไม่ รวมทั้งตรวจดูความผิดปกติอื่น ๆ บริเวณจมูก ปาก และคอ โดยใช้กระจกขนาดเล็กส่องดูภายใน หากแพทย์สันนิษฐานว่าผู้ป่วยอาจมีอาการกล่องเสียงอักเสบ แพทย์อาจซักถามอาการและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในช่วงที่ผ่านมาเพื่อประเมินสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดโรคได้ หรือแพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
- การส่องกล้อง วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์เห็นการเคลื่อนไหวของเส้นเสียงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยใช้ท่อชนิดพิเศษที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่ส่วนปลายสอดเข้าไปทางปากหรือจมูก เพื่อตรวจดูความผิดปกติของเส้นเสียงหรือกล่องเสียง
- การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ เป็นการตรวจหาเชื้อที่อาจก่อให้เกิดภาวะกล่องเสียงอักเสบ โดยแพทย์จะนำสำลีก้านขนาดใหญ่ป้ายเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งออกมาส่งตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ
- การตรวจเลือด เป็นการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการอักเสบที่กล่องเสียง
ทั้งนี้ หากมีอาการเสียงแหบโดยไม่มีสาเหตุติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจถูกส่งตัวไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านหูคอจมูก เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมและหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
การรักษากล่องเสียงอักเสบ
ภาวะกล่องเสียงอักเสบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและไม่รุนแรงนั้นอาจหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ โดยรับประทานยาและดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
- ผู้ใหญ่ควรกลั้วคอด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือหรือใช้ยาอมเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ
- หลีกเลี่ยงการพูดในกรณีที่ไม่จำเป็น หากต้องพูดก็ควรพูดด้วยเสียงธรรมดา และไม่ควรกระซิบ เพราะจะยิ่งทำให้เส้นเสียงได้รับการกระทบกระเทือนมากขึ้น
- รับประทานยาแก้ปวดอย่างยาไอบูโพรเฟนหรือพาราเซตามอลในกรณีที่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหัว เป็นไข้ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้คัดจมูก เนื่องจากยาชนิดนี้อาจทำให้คอแห้งยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ
- ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นภายในห้องหรือใช้น้ำมันหอมระเหยเมนทอล เพื่อช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น
สำหรับผู้ที่มีอาการกล่องเสียงอักเสบชนิดเรื้อรัง แพทย์จะรักษาตามสาเหตุ และในบางกรณีอาจให้ใช้ยาบรรเทาอาการอักเสบ เช่น
- ยาปฏิชีวนะ ในผู้ป่วยที่มีภาวะกล่องเสียงอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยาปฏิชีวนะจะช่วยกำจัดเชื้อและลดการอักเสบได้ ทว่าการรักษาด้วยวิธีนี้มักใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นยาที่แพทย์อาจให้ใช้เพื่อลดอาการอักเสบของเส้นเสียง แต่มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้เสียงอย่างเร่งด่วน หรือในผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีภาวะกล่องเสียงอักเสบร่วมกับอาการไอแบบมีเสียงก้อง
ภาวะแทรกซ้อนของกล่องเสียงอักเสบ
โดยทั่วไป ภาวะกล่องเสียงอักเสบมักไม่เป็นอันตราย แต่หากการอักเสบมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อก็มีความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจายไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนอื่นได้ ส่วนกรณีที่กล่องเสียงอักเสบเกิดจากภาวะเส้นเสียงเป็นอัมพาตนั้น อาจส่งผลกระทบต่อการกลืน ทำให้อาหารหรือเครื่องดื่มเข้าไปในกล่องเสียงและปอดจนเกิดอาการไอ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะปอดอักเสบจากการลำลักได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อนเรื้อรังและไม่ได้รักษาให้หายขาด กรดจากกระเพาะอาหารอาจไหลย้อนผ่านกล่องเสียงหรือเข้าไปที่ปอดจนเกิดภาวะปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบได้เช่นกัน
สำหรับผู้ป่วยเด็ก ภาวะกล่องเสียงอักเสบอาจส่งผลให้ไอแบบมีเสียงก้อง หายใจลำบาก หายใจเสียงดัง หายใจตื้น หรือมีไข้ร่วมด้วย เนื่องจากกล่องเสียงบวมและแคบลง อีกทั้งกระดูกอ่อนบริเวณกล่องเสียงของเด็กยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่จึงอาจเกิดการยุบตัว ซึ่งภาวะดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับเด็กวัย 6-7 ปี หรือเด็กที่มีกระดูกอ่อนไม่แข็งแรง และอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน
การป้องกันกล่องเสียงอักเสบ
ภาวะกล่องเสียงอักเสบป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและดูแลรักษาเส้นเสียงด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อลดมูกหรือเสมหะภายในลำคอและช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การสูดดมควันบุหรี่ หรือการรับมลพิษทางอากาศ เพราะจะทำให้คอแห้งและเกิดการระคายเคืองที่เส้นเสียงได้
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เพราะนอกจากจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้นอีกด้วย
- หลีกเลี่ยงการตะโกนหรือพูดเสียงดังเป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้เส้นเสียงและกล่องเสียงกระทบกระเทือนจนเกิดความเสียหาย
- หลีกเลี่ยงการขากเสมหะ เนื่องจากจะทำให้เส้นเสียงสั่นผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการบวมและอักเสบตามมาได้ ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้มีเสมหะในคอมากขึ้นและเพิ่มความรู้สึกระคายเคืองคอจนทำให้อยากขากเสมหะบ่อย ๆ ต่อไป
- หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล่องเสียงอักเสบ โดยควรหมั่นล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดหรือผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเผชิญโรคนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วนตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะธัญพืช ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินเอ อี และซีอย่างเพียงพอ ซึ่งวิตามินเหล่านี้จะช่วยให้เยื่อเมือกภายในคอชุ่มชื้นอยู่เสมอ
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป เพราะอาจส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือหลอดอาหารจนเกิดภาวะกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกและกล่องเสียงอักเสบตามมาได้