ความหมาย กล้ามเนื้ออักเสบ
กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) เป็นภาวะอักเสบที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อและใยกล้ามเนื้อ ซึ่งมักมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและล้ามากหลังเดินหรือยืนเป็นเวลานาน อาการเจ็บและบวมที่กล้ามเนื้อ โดยอาจเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ หรือเป็นอาการเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาก็ได้
กล้ามเนื้ออักเสบมีหลายประเภท ซึ่งส่งผลต่อการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกลุ่มต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยมักส่งผลต่อกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหว เช่น แขน ไหล่ ขา สะโพก และส่วนอื่น ๆ เช่น บริเวณดวงตา หลอดอาหาร และกะบังลม การรักษากล้ามเนื้ออักเสบจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ยาปฏิชีวนะ กละกรณีที่อาการรุนแรงอาจต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล
อาการของกล้ามเนื้ออักเสบ
อาการของกล้ามเนื้ออักเสบส่วนใหญ่จะแสดงในลักษณะของกล้ามเนื้ออ่อนแรงและปวดกล้ามเนื้อ บางครั้งผู้ป่วยอาจสังเกตได้เอง แต่บางครั้งก็อาจรู้ได้จากการตรวจเท่านั้น ซึ่งความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นนี้มักจะค่อย ๆ แย่ลงเมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน และส่งผลต่อกลุ่มกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ เช่น คอ หัวไหล่ หลัง ขา และสะโพก
ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคนี้มักพบความลำบากในการลุกขึ้นหลังจากหกล้มหรือตกจากเก้าอี้ นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ที่สามารถเกิดร่วมกับการอักเสบ ได้แก่
- มีผื่นแดง หรือผิวหนังหนาขึ้น มักเกิดที่บริเวณรอบดวงตา ใบหน้า ลำคอ และหลังมือ ในกรณีที่มีผิวหนังอักเสบร่วมด้วย
- อ่อนเพลีย
- มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
- กลืนลำบาก และหายใจลำบาก
- อาการของการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นไข้ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ คลื่นไส้ ท้องเสีย ในกรณีที่เป็นกล้ามเนื้ออักเสบจากการติดเชื้อไวรัส
- ปวดกล้ามเนื้อ ส่วนมากเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อตึง หรือเป็นอาการจากโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่
สาเหตุของกล้ามเนื้ออักเสบ
โรคกล้ามเนื้ออักเสบอาจเกิดจากปัจจัยใด ๆ ก็ตามที่นำไปสู่การอักเสบของกล้ามเนื้อ แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
การอักเสบ
ภาวะที่ก่อให้เกิดการอักเสบไม่ว่าบริเวณใดของร่างกายก็สามารถส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อ และมักตามมาด้วยการอักเสบอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อที่จำเป็นต้องรับการรักษาระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการอักเสบที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติที่ร่างกายหันมาทำลายตัวเอง เช่น โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบหลาย ๆ แห่งในร่างกาย และโรคกล้ามเนื้ออักเสบชนิด IBM (Inclusion Body Myositis)
นอกจากนี้ โรคเอสแอลอี (SLE) โรคผิวหนังแข็ง และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เองก็สามารถทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบอ่อน ๆ ชนิดไม่รุนแรงได้เช่นกัน
การติดเชื้อ
การติดเชื้อที่เป็นต้นเหตุของกล้ามเนื้ออักเสบส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไวรัสโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสเอชไอวี การที่กล้ามเนื้ออักเสบอาจเกิดจากเชื้อไวรัสเหล่านี้บุกเข้าไปยังเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อโดยตรงหรือมีการปล่อยสารที่ไปทำลายใยกล้ามเนื้อให้เสียหาย
ยารักษาโรค
ยารักษาโรคหลากหลายชนิดที่สามารถส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเสียหาย เช่น
- ยาสแตติน (Statins) ซึ่งใช้สำหรับลดไขมันในเลือด
- ยาโคลชิซิน (Colchicine) ซึ่งใช้รักษาโรคเก๊าท์
- ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน สำหรับรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ โรคลูปัส และโรคมาลาเรีย
- ยาอัลฟาอินเทอร์เฟอรอน รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ
- ยาที่มีส่วนผสมของสารเสพติด เช่น โคเคน แอลกอฮอล์
ผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากเริ่มรับประทานยาหรือเกิดขึ้นตามมาภายหลังเมื่อรับประทานเป็นเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปีก็ได้ และบางครั้งก็เป็นผลจากยา 2 ชนิดที่รับประทานเข้าไปแล้วทำปฏิกิริยาต่อกัน อย่างไรก็ตาม โรคกล้ามเนื้ออักเสบจากการใช้ยานี้มักพบได้น้อย
การได้รับบาดเจ็บ
การออกกำลังกายอย่างหักโหมเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การปวด บวม และอ่อนแรงของกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกาย โดยอาจเกิดขึ้นนานเป็นชั่วโมงไปหรือเป็นวัน ๆ และทำให้เกิดการอักเสบตามมาในที่สุด แต่ก็มักจะหายไปเมื่อหยุดพักหรือเมื่อร่างกายได้รับการฟื้นฟู
นอกจากนี้ กล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงอย่างเฉียบพลันอาจนำไปสู่เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ที่ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อบวม อ่อนแรง และอักเสบในที่สุด โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีแดงร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออักเสบ
แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยการซักถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากผู้ป่วยมีแนวโน้มจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบจึงอาจวินิจฉัยขั้นต่อไปด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
การตรวจเลือด
การตรวจเลือดเป็นการวัดระดับของเอนไซม์และสารภูมิคุ้มกันในเลือด ค่าเอนไซม์กล้ามเนื้อที่อยู่ในระดับสูงอาจหมายถึงการอักเสบของกล้ามเนื้อได้ ส่วนระดับสารภูมิคุ้มกันที่ผิดปกตินั้นจะสามารถบ่งบอกถึงโรคภูมิแพ้ตัวเองที่เป็นสาเหตุของกล้ามเนื้ออักเสบ
การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG)
การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อเป็นการสอดขั้วกระแสไฟฟ้ารูปร่างคล้ายเข็มผ่านผิวหนังเข้าไปภายในกล้ามเนื้อ วิธีนี้จะช่วยตรวจหากล้ามเนื้อที่อ่อนแอหรือถูกทำลายจากการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบ โดยเครื่องจะบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของปลายเส้นประสาท เพื่อให้แพทย์สามารถดูว่ามีรูปแบบการทำงานผิดปกติหรือไม่
การทำ MRI Scan
MRI Scan เป็นการวินิจฉัยโดยใช้กระแสแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูงถ่ายภาพกล้ามเนื้อของผู้ป่วย สามารถช่วยระบุหากล้ามเนื้อบริเวณที่มีการอักเสบหรือมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีนี้มักไม่ค่อยนำมาใช้
การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อไปตรวจ
การตรวจเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อเป็นการตรวจวินิจฉัยการอักเสบของกล้ามเนื้อที่แม่นยำที่สุด และมักนำมาใช้เป็นการวินิจฉัยวิธีสุดท้าย โดยแพทย์จะระบุหากล้ามเนื้อที่อ่อนแอ แล้วใช้การผ่าตัดนำเอาตัวอย่างของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อดังกล่าวออกมาเพื่อส่งตรวจหาการอักเสบ การบาดเจ็บ หรือความผิดปกติใด ๆ
การรักษาโรคกล้ามเนื้ออักเสบ
การเลือกใช้วิธีรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบในผู้ป่วยรายนั้น ๆ กล้ามเนื้ออักเสบที่เกิดจากอาการอักเสบอื่น ๆ อาจต้องรักษาด้วยยากดระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ได้แก่ ยาเพรดนิโซน (Prednisone) ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) และยาเมโธเทรกเซต(Methotrexate)
กล้ามเนื้ออักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อซึ่งโดยมากพบว่าเป็นเชื้อไวรัสนั้นไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียก็มักจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะwww.pobpad.com/ยาปฏิชีวนะ-กินอย่างไรให เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อที่อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ด้านกล้ามเนื้ออักเสบที่เป็นผลจากการใช้ยา วิธีรักษาคือการหยุดให้ยาชนิดนั้น ๆ เช่น การใช้ยาสแตตินเพื่อลดไขมันในเลือด หลังหยุดรับประทานยาชนิดนี้ 2–3 สัปดาห์ อาการอักเสบของกล้ามเนื้อก็จะบรรเทาลงในที่สุด
ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลายเกิดขึ้นตามมาจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ แม้พบได้ไม่บ่อยแต่สามารถทำให้ไตได้รับความเสียหายไปอย่างถาวรได้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อรับสารน้ำผ่านเข้าหลอดเลือดจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแพทย์จะเฝ้าดูการทำงานของไต และอาจจำเป็นต้องฟอกไตหากมีอาการรุนแรง
นอกจากนี้ แพทย์และนักกายภาพบำบัดอาจแนะนำให้ผู้ป่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อและออกกำลังกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงมีความยืดหยุ่นและแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวด ความแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ และป้องกันการเกิดอาการของโรคในอนาคต
ภาวะแทรกซ้อนโรคกล้ามเนื้ออักเสบ
ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออักเสบบางรายอาจมีการตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดี และได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันจากอาการกล้ามเนื้ออักเสบที่เป็น รวมถึงภาวะไตวายที่อาจเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยได้รับน้ำไม่เพียงพอ
นอกจากนี้โรคกล้ามเนื้ออักเสบชนิดที่เกิดขึ้นหลายแห่งและชนิดกล้ามเนื้ออักเสบร่วมกับผิวหนังอักเสบที่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลต่อการหายใจและการกลืนอาหาร จนอาจต้องใช้การบำบัดด้านการพูดและการใช้ภาษาหากอาการดังกล่าวมีผลต่อการสื่อสาร และยังอาจเชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็งได้ แพทย์ที่ทำการรักษาโรคกล้ามเนื้อชนิดนี้จึงอาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับการตรวจหามะเร็งร่วมด้วย
การป้องกันโรคกล้ามเนื้ออักเสบ
กล้ามเนื้ออักเสบหลายชนิดยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้ไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลแน่นอน แต่กล้ามเนื้ออักเสบชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อ การใช้ยารักษาโรค และการได้รับบาดเจ็บนั้นสามารถป้องกันได้ตามสาเหตุที่ทำให้เกิด ดังนี้
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
- ไม่ฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือดหรือเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนยารักษาโรคที่จำเป็นต้องใช้การฉีด ก่อนฉีดควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้น ๆ ให้สะอาด
- หากจำเป็นต้องใช้ยาที่อาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ ควรใช้ในปริมาณที่แพทย์อนุญาตให้ใช้ได้ รวมทั้งควรตรวจเลือดเพื่อดูว่ายาที่ใช้มีผลทำให้กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บหรือไม่
- ออกกำลังกาย แต่พอดี อย่าหักโหม เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ