ความหมาย การติดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter Infection)
Campylobacter (เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์) เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ โดยร่างกายได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคเจือปน ทำให้อาจเกิดปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย หรือมีไข้ เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
โดยทั่วไป อาการติดเชื้อในทางเดินอาหารมักไม่ร้ายแรงและดีขึ้นได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยควรดูแลตนเองร่วมด้วยเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายและรุนแรงกว่าคนทั่วไป
อาการของการติดเชื้อ Campylobacter
ผู้ที่ได้รับเชื้อ Campylobacter อาจไม่มีอาการใด ๆ หรืออาจมีอาการไม่รุนแรงนัก และอาการมักดีขึ้นภายใน 2–3 วัน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเหล่านี้หลังได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อภายใน 2–5 วัน
โดยอาการของการติดเชื้อ Campylobacter ที่พบได้ คือ คลื่นไส้หรืออาเจียน ท้องเสีย อาจถ่ายเป็นเลือดในบางกรณี ปวดเกร็งท้อง ท้องอืด มีไข้ และอ่อนเพลีย ทั้งนี้ ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อก่อนแสดงอาการอาจใช้เวลาตั้งแต่ 1 วัน ไปจนถึง 11 วัน และผู้ป่วยมักหายดีภายใน 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไปและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที ได้แก่
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคลมชัก หรือกลุ่มโรคทางเดินอาหารอักเสบ (IBD) เป็นต้น
- มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์ หรือรับการรักษามะเร็งด้วยการทำเคมีบำบัดเป็นเวลานาน
- มีประวัติคลอดก่อนกำหนด หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน
หากพบอาการของภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยอาการของภาวะขาดน้ำที่ควรสังเกต เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำมาก ปัสสาวะมีสีเข้ม มีอาการเซื่องซึม อ่อนเพลีย อาเจียนถี่หรืออาเจียนติดต่อกันนานกว่า 2 วัน ท้องเสียนานกว่า 4 วัน อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส หรือพบอาการผิดปกติอื่น
สาเหตุของการติดเชื้อ Campylobacter
โดยส่วนมาก ร่างกายมักได้รับเชื้อแบคทีเรีย Campylobacter โดยตรงจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โดยมักพบในอาหารและเครื่องดื่มต่อไปนี้
- เนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก โดยเฉพาะเนื้อไก่และอาหารทะเล
- น้ำนมดิบที่ไม่ผ่านฆ่าเชื้อด้วยกระบวนการพาสเจอไรซ์
- น้ำประปาที่ใช้บริโภค ล้างผักผลไม้ หรือทำน้ำแข็ง
ทั้งนี้ การใช้มีดหรือเขียงหั่นเนื้อสัตว์ดิบและไม่ได้ล้างให้สะอาดก่อนนำไปหั่นผักหรือผลไม้ อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนผักผลไม้นั้นได้เช่นกัน ในบางกรณีเชื้อ Campylobacter อาจมาจากสัตว์เลี้ยง อย่างสุนัขและแมว หรือสัตว์อื่น ๆ ในฟาร์มปศุสัตว์ จึงทำให้ผู้ที่สัมผัสกับสัตว์เหล่านี้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ เชื้อ Campylobacter อาจเข้าสู่ร่างกายได้จากการดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคจากมูลสัตว์ โดยพบบ่อยในผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศหรือต่างถิ่นที่ยังไม่มีระบบสุขาภิบาลรองรับ
โดยทั่วไป การติดเชื้อ Campylobacter มักไม่แพร่จากคนสู่คน แต่การสัมผัสอุจจาระของผู้ติดเชื้อ มูลสัตว์ที่มีเชื้อโรค หรือของใช้ของสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อ อาจทำให้เชื้อ Campylobacter เข้าสู่ร่างกายจนเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ หรืออาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนอื่นภายในร่างกาย
การวินิจฉัยการติดเชื้อ Campylobacter
แพทย์จะวินิจฉัยจากการสอบถามอาการ ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ และประวัติของผู้ป่วย ได้แก่ อาชีพที่ทำประวัติการเข้ารับการรักษาหรือการรับประทานยา การรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม ประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ และตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น วัดอุณหภูมิร่างกาย ชีพจร ความดันโลหิต ตรวจอาการกดเจ็บบริเวณหน้าท้อง หรือตรวจอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น อย่างการตรวจอุจจาระเพื่อหาเชื้อโรคด้วยกล้องจุลทรรศน์ การตรวจในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีอื่น ๆ เมื่อพบว่ามีเลือดปนในอุจจาระ หรืออาจตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยเพิ่มเติมในบางกรณี
การรักษาการติดเชื้อ Campylobacter
โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นได้เองโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา และควรดูแลตนเองด้วยวิธีดังนี้
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากอาการท้องเสียหรืออาเจียน ควบคู่กับการรับประทานอาหารตามปกติ ในกรณีเด็กเล็กสามารถให้ดื่มนมแม่หรือนมผงได้ตามปกติ
- ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่หรือ ORS ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุบางชนิดที่สูญเสียไปจากอาการท้องเสียหรือการอาเจียน โดยให้จิบบ่อย ๆ ทีละน้อยจนกว่าอาการท้องเสียจะดีขึ้น หากมีอาการอาเจียน ควรเว้นระยะเวลาประมาณ 5–10 นาที แล้วค่อยเริ่มจิบต่ออีกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลม นม หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการท้องเสียมากขึ้น
- ไม่ควรซื้อยาแก้อาเจียนหรือยาแก้ท้องเสียมารับประทานเอง เนื่องจากยาดังกล่าวจะยับยั้งการกำจัดเชื้อแบคทีเรียออกจากร่างกาย หากต้องการใช้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- หากมีไข้อาจรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อช่วยลดไข้
หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เป็นเด็กเล็ก มีอายุมากกว่า 65 ปี กำลังตั้งครรภ์ หรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ยาลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) และยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)
ในกรณีที่มีภาวะขาดน้ำรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำด้วยการให้น้ำเกลือและยาบรรเทาอาการท้องเสีย อาการอาเจียนตามความเหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ Campylobacter
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม การติดเชื้อแบคทีเรีย Campylobacter อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น
- ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่จากการอาเจียนหรือท้องร่วง เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยเมื่อผู้ป่วยไม่ได้ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผสมผงเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปอย่างเพียงพอ หากมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรงจะทำให้ระดับความดันโลหิตต่ำลง ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดลดลง และอาจทำให้ไตวายได้หากปล่อยให้มีอาการขาดน้ำโดยไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์อาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเมื่อมีภาวะเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง
- ภาวะถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) อาจพบในระยะแรกของการติดเชื้อ
- ภาวะข้ออักเสบ (Arthritis) ผิวหนังอักเสบ หรือตาอักเสบ อย่างโรคตาแดงหรือภาวะม่านตาอักเสบ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อในลำไส้ แต่อาจพบได้น้อย
- การติดเชื้อในกระแสเลือด ตับ ตับอ่อน หรือการติดเชื้อในบริเวณอื่นของร่างกาย แต่พบได้น้อย
- โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) จากอาหารเป็นพิษ และภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสผิดปกติ (Lactose Intolerance) ที่มักพบในผู้ป่วยเด็ก
- กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain Barre Syndrome) หรือการอักเสบของเส้นประสาท ทำให้แขนขาอ่อนแรง
- ประสิทธิภาพของยาที่ใช้รักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ ลดลง เนื่องจากปริมาณการดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกายจะน้อยลงเมื่อมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานยาเมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษ
การป้องกันการติดเชื้อ Campylobacter
การรักษาความสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกอย่างถูกสุขอนามัยเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ Campylobacter ซึ่งอาจทำได้ดังนี้
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดและเช็ดมือให้แห้งทุกครั้ง โดยเฉพาะก่อนการรับประทานอาหาร ก่อนและหลังการประกอบอาหาร หลังการเข้าห้องน้ำ การสัมผัสสัตว์เลี้ยงและสิ่งของในที่สาธารณะ
- รับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกใหม่เสมอ โดยใช้ความร้อนที่อุณหภูมิอย่างน้อย 74 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ปีกหรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปา ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้ำต้มสุกหรือน้ำบรรจุขวด และดื่มนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ
- แยกอุปกรณ์ทำอาหาร อย่างมีด เขียง หรือช้อนส้อม ที่ใช้กับเนื้อสัตว์ดิบออกจากผัก ผลไม้ และอาหารอื่น ๆ รวมทั้งเปลี่ยนผ้าเช็ดอุปกรณ์ในครัวเป็นประจำ
- หากรับประทานอาหารไม่หมด ควรเก็บอาหารในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 0–5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เมื่อต้องการรับประทานอีกครั้งจึงนำมาอุ่นให้ร้อนก่อน แต่ไม่ควรอุ่นอาหารซ้ำหลายครั้ง
- ทำความสะอาดบ้านและเครื่องใช้ในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะห้องน้ำที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค