ท้องอืด

ความหมาย ท้องอืด

ท้องอืด (Bloated Stomach) คือภาวะที่ท้องเกิดอาการแน่น เนื่องจากมีแก๊สในกระเพาะอาหาร จนทำให้ท้องดูมีลักษณะบวม ท้องอืดสามารถเกิดขึ้นกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อเกิดอาการแล้วจะส่งผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไม่สะดวก เนื่องจากรู้สึกอึดอัดท้อง และบางคนอาจรู้สึกปวดท้องร่วมด้วย 

ท้องอืดเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การที่ลมเข้าไปในท้องขณะที่หัวเราะ พูดคุย หรือรับประทานอาหาร โรคระบบทางเดินอาหารและโรคประจำตัวอื่น ๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และการใช้ยาบางชนิด ซึ่งวิธีการรักษาจะแตกต่างกันตามสาเหตุ หากมีอาการท้องอืดเป็นเวลานานโดยที่อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

ท้องอืด

อาการท้องอืด

เด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการท้องอืดมักมีอาการดังต่อไปนี้ 

  • รู้สึกไม่สบายท้อง แน่นท้อง เนื่องจากมีลมในกระเพาะอาหารเป็นจำนวนมาก 
  • เรอ หรือผายลมบ่อย
  • มีเสียงโครกครากภายในท้อง 
  • มีอาการปวดท้อง

ผู้ป่วยควรสังเกตความถี่ของอาการ และรีบไปพบแพทย์หากเกิดอาการท้องอืดเรื้อรัง ร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ เช่น อาเจียนไม่หยุด อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด หมดสติ

สาเหตุของอาการท้องอืด 

ท้องอืดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากการปัญหาสุขภาพ หรือเกิดจากอาการการกิน โดยสาเหตุที่ทำให้ท้องอืดมีดังนี้

การกลืนอากาศเข้าไปในปริมาณที่มาก

การอ้าปาก พูดคุย หัวเราะ รับประทานอาหารมากหรือเร็วเกินไป หรือแม้แต่หายใจทางปากจะทำให้ลมเข้าไปอยู่ในท้องเป็นจำนวนมาก และจะไหลไปตามระบบลำไส้ จากนั้นจะถูกปล่อยออกด้วยการผายลม ซึ่งถ้าหากลมภายในช่องท้องมีมากเกินไปอาจทำให้เกิดท้องอืดและมีอาการสะอึกร่วมด้วยได้

การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแก๊สหรือก่อให้เกิดแก๊ส

อาหารเช่น ถั่ว บรอกโคลี เครื่องดื่มอัดแก๊ส หรือเบียร์ จะทำให้เกิดการสะสมแก๊สในกระเพาะอาหารจนกลายเป็นอาการท้องอืด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพระบบย่อยอาหารของแต่ละคนด้วย

ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร

ท้องผูกเป็นสาเหตุของท้องอืดที่พบได้บ่อย แต่จะไม่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ผู้มีโรคต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ เช่น 

การรับประทานยาบางชนิด

อาหารเสริมหลาย ๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็น ยาระงับอาการปวดชนิดเสพติด (Narcotic Pain Medications) วิตามิน อาหารเสริมธาตุเหล็ก หรือยารักษาอาการท้องผูกอีกหลาย ๆ ชนิด สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการท้องอืดได้

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงของผู้หญิงสามารถก่อให้เกิดภาวะก่อนมีประจำเดือน ซึ่งหนึ่งในอาการของภาวะนี้จะทำให้ร่างกายมีน้ำเพิ่มขึ้น จนเป็นสาเหตุของอาการท้องอืดนั่นเอง

ความอ่อนแอของผนังช่องท้อง

ผนังช่องท้องที่อ่อนแอเนื่องมากจากการคลอดบุตรหรือการผ่าตัดช่องท้องสามารถก่อให้เกิดอาการท้องอืดได้

ไม่เพียงเท่านั้น อาการท้องอืดยังอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ได้ เช่น

  • การตั้งครรภ์
  • โรคอ้วน
  • ภาวะผิดปกติด้านการรับประทานอาหาร เช่น บูลิเมีย (ฺBulimia Nervosa) และอะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa)
  • การแพ้หรือร่างกายตอบสนองต่ออาหารบางอย่างผิดปกติ เช่น โปรตีนนม (Lactose Intolerance)
  • ภาวะทางจิต เช่น โรคเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า
  • ความปกติของตับอ่อนที่ทำให้ไม่สามารถผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยอาหาร

การวินิจฉัยอาการท้องอืด

แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามอาการ และประวัติสุขภาพเบื้องต้น เช่น อาหารที่รับประทาน ยาที่ใช้ ปัญหาสุขภาพที่มี และถามถึงอาการอื่น ๆ ที่อาจมีร่วมกับอาการท้องอืด หลังจากนั้น แพทย์จะทำการตรวจดูอาการบวมบริเวณท้อง ฟังเสียงการทำงานของระบบย่อยอาหาร และใช้มือกดที่บริเวณท้องเพื่อทดสอบความแข็งและอาการเจ็บปวด หากแพทย์ต้องการทราบเกี่ยวกับอาการมากขึ้น อาจสั่งให้มีการตรวจอื่น ๆ เช่น

การจดบันทึกอาหารที่รับประทาน

แพทย์จะให้ผู้ป่วยจดบันทึกอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อทุก ๆ วัน และช่วงเวลาที่เกิดอาการท้องอืด เพื่อวินิจฉัยว่าอาการท้องอืดเกิดจากสาเหตุใด

การตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)

การตรวจลำไส้ใหญ่จะใช้ตรวจสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือมีครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของก้อนเนื้อ เนื้อเยื่อที่อักเสบ หรืออาการเลือดออก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องอืด 

โดยแพทย์จะทำการสอดกล้องเข้าไปในลำไส้ผ่านทางช่องทวารหนักเพื่อดูลักษณะของลำไส้ใหญ่ และเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจเพื่อหาวิธีในการรักษาต่อไป

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Sigmoidoscopy)

เป็นการตรวจส่องกล้องที่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก ซึ่งจะช่วยให้เห็นความผิดปกติของลำไส้ได้ดียิ่งขึ้น โดยอุปกรณ์จะมีขนาดเล็กกว่าการตรวจด้วยวิธี Colonoscopy

การกลืนแบเรียม (Barium Swallow)

การกลืนแบเรียมเป็นหนึ่งในวิธีตรวจความผิดปกติของช่องท้อง โดยเมื่อกลืนสารแบเรียมเข้าไปแล้ว แพทย์จะนำตัวผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์ ผลที่ได้จะช่วยให้เห็นภาพรวมของระบบย่อยอาหารทั้งหมด และวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการท้องอืดต่อไป

การตรวจการตั้งครรภ์

บางครั้งการตั้งครรภ์ช่วงแรกอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด หากแพทย์สันนิษฐานว่าอาจเป็นการตั้งครรภ์ แพทย์อาจมีการสั่งตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือด เพื่อระบุว่าว่าผู้ป่วยตั้งครรภ์หรือไม่

การรักษาอาการท้องอืด

การรักษาอาการท้องอืดมักจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แพทย์จะใช้ยาบรรเทาอาการ และให้ผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออาการท้องอืด เช่น

  • ลดปริมาณอากาศที่กลืนเข้าร่างกาย เช่น การเคี้ยวอาหารช้า การเคี้ยวหมากฝรั่ง และการใช้หลอดในการดูดเครื่องดื่ม 
  • จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มอัดแก๊ส และมีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม โซดา และน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลมาก 
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ และผักที่มีลักษณะเป็นหัว สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการท้องอืดจากการแพ้โปรตีนกลูเตน ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของข้าวสาลีทุกชนิด หากมีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส ควรงดผลิตภัณฑ์จากนมเช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยสารให้ความหวานที่ควรงดคือซอร์บิทอล (Sorbitol) เพราะผลิตจากน้ำตาลฟรุกโตสที่เป็นสาเหตุของอาการท้องอืด
  • งดสูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดการกลืนอากาศเข้าร่างกายมากเกินไป อีกทั้งยังช่วยให้อาการท้องอืดหายไปได้

นอกจากนี้ เพื่อบรรเทาอาการท้องอืดและแก๊สในกระเพาะอาหาร แพทย์มักจะสั่งยาไซเมทิโคน (Simethicone) ซึ่งเป็นยาลดกรดและแก๊สในกระเพาะอาหาร สามารถช่วยลดอาการท้องอืด และอาการอึดอัดในช่องท้องได้ โดยยาดังกล่าวจะเข้าไปผลักให้แก๊สเคลื่อนตัวไปตามระบบทางเดินอาหาร

ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องอืด

ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่รู้สึกท้องอืด โดยอาการที่พบ ได้แก่ เรอ มีเสียงโครกครากในท้อง ผายลมมากขึ้น รู้สึกอยากอาหารลดลง และอาหารไม่ย่อย นอกจากนี้ ในบางรายอาการท้องอืดที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโรคซ่อนอยู่อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงมากขึ้น เช่น อาการหัวใจวาย 

การป้องกันอาการท้องอืด

การป้องกันอาการท้องอืดสามารถทำได้ตั้งแต่ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการท้องอืด หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้กลืนอากาศเข้าไปมากจนผิดปกติ หากมีอาการท้องอืดบ่อย ๆ เนื่องจากรับประทานอาหารมากเกินไป ควรลดปริมาณอาหารลง หรือแบ่งรับประทานเป็นมื้อย่อยจากวันละ 3 มื้อ เป็น 5–6 มื้อ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างเป็นปกติ 

นอกจากนี้ ควรสำรวจความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และควรรีบปรึกษาแพทย์หากมีอาการท้องอืดผิดปกติ