กินยาเกินขนาด

กินยาเกินขนาด

กินยาเกินขนาดเป็นภาวะที่ผู้ป่วยได้รับสารเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเกินไป ทั้งจากการได้รับยาตามที่แพทย์สั่ง ใช้ยาที่หาซื้อได้ทั่วไป และการใช้สารเสพติด ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ก็ได้ การกินยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือเสี่ยงเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากกินยาเกินขนาด ผู้ป่วยต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที

Drug Overdose

อาการของการกินยาเกินขนาด

การกินยาเกินขนาดสามารถส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้ทุกระบบ โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับชนิดของยา ปริมาณยาที่กินเข้าไป รวมถึงประวัติทางการแพทย์และสุขภาพของตัวผู้ป่วยด้วย

ตัวอย่างอาการที่อาจพบจากการกินยาเกินขนาด ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ตัวเย็นและมีเหงื่อออก หรือตัวร้อนและผิวแห้ง
  • ง่วงซึม หมดสติ
  • สับสน กระสับกระส่าย ก้าวร้าว
  • รูม่านตาขยาย
  • สัญญาณชีพผิดปกติ โดยมีอุณหภูมิร่างกาย ชีพจร ความดันโลหิต และอัตราการหายใจเปลี่ยนแปลงไป
  • มีปัญหาในการหายใจ เช่น หายใจไม่อิ่ม หายใจถี่ หรือหายใจช้า เป็นต้น
  • มีอาการหลงผิดหรือเห็นภาพหลอน
  • เดินลำบาก ตัวสั่น หรือชัก

หากกินยาเกินขนาดหรือพบอาการข้างต้นหลังกินยาเกินขนาด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

สาเหตุของการกินยาเกินขนาด

การกินยาเกินขนาดเกิดจากการใช้ยาในปริมาณมากเกินไปทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ดังกรณีต่อไปนี้

กินยาเกินขนาดโดยไม่ตั้งใจ

  • ไม่กินยาตามที่แพทย์สั่งหรือไม่ใช้ยาตามข้อมูลที่ระบุไว้บนฉลาก โดยกินยาเกินปริมาณที่กำหนด หรือกระทั่งกินยาในช่วงเวลาที่ใกล้กันมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มียาอยู่ในร่างกายในระดับที่เป็นอันตรายได้
  • เก็บรักษายาอย่างไม่เหมาะสม โดยอาจเก็บยาไม่เป็นที่หรือไม่ปิดบรรจุภัณฑ์ให้มิดชิดจนทำให้เด็กเล็กนำยาเข้าปากได้

กินยาเกินขนาดโดยตั้งใจ

  • เสพติดยา ทั้งยาทั่วไปและยาเสพติดต่าง ๆ ซึ่งอาจเสี่ยงกินยาเกินขนาดมากขึ้นหากกินยาหลายชนิดพร้อมกัน หรือกินยาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์
  • มีปัญหาทางจิตใจ เช่น กำลังเผชิญภาวะซึมเศร้าหรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น

การวินิจฉัยการกินยาเกินขนาด

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจร่างกายและซักประวัติผู้ป่วย โดยครอบครัวและผู้ที่ใกล้ชิดอาจช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินยาเกินขนาดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาได้ เช่น ผู้ป่วยกินยาชนิดใด กินยาปริมาณมากเพียงใด และกินยาเกินขนาดมานานเพียงใด เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อหาระดับสารในร่างกายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วย และอาจตรวจเฉพาะทางในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อตรวจความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ จากการกินยาเกินขนาดด้วย

การรักษาการกินยาเกินขนาด

ผู้ป่วยที่กินยาเกินขนาดมักไม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองที่บ้าน เพราะสารในยาอาจตกค้างในร่างกายจนเกิดอันตราย จึงต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที และหากยิ่งรักษาเร็วขึ้นก็อาจช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นไปด้วย

โดยการรักษาภาวะกินยาเกินขนาดขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของยาที่ผู้ป่วยกินเข้าไป รวมถึงอาการป่วยที่เกิดขึ้น ซึ่งแพทย์อาจมีวิธีการรักษา ดังนี้

  • ให้ถ่านกัมมันต์ซึ่งเป็นแร่ธาตุสังเคราะห์แก่ผู้ป่วย เพื่อช่วยดูดซับยาที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร
  • ให้ยาต้านพิษ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยรับยารักษาอื่น ๆ เพื่อต้านผลกระทบที่เกิดจากการกินยาเกินขนาด และป้องกันอันตรายจากฤทธิ์ของยา
  • ล้างท้อง โดยใช้วิธีใส่สายทางจมูกหรือปากให้เข้าไปถึงกระเพาะอาหาร เพื่อกำจัดยาที่ไม่ถูกดูดซึมให้ออกมาจากกระเพาะอาหาร
  • ใส่ท่อช่วยหายใจแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาการหายใจ
  • ให้ยากล่อมประสาทในผู้ป่วยที่มีอาการก้าวร้าว เพื่อให้ผู้ป่วยสงบลง โดยผู้ป่วยต้องรักษาตัวอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของการกินยาเกินขนาด

นอกจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เป็นผลจากการกินยาเกินขนาด ในบางครั้งผู้ป่วยก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • อวัยวะได้รับความเสียหายอย่างถาวรจนทำให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานผิดปกติ เช่น ตับ ไต และสมอง เป็นต้น
  • หากผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตไม่ได้รับการรักษาอาการทางจิตอย่างเหมาะสม หรือผู้ที่ติดยาเสพติดไม่ได้รับการบำบัดให้หายขาด อาจเสี่ยงกลับมากินยาเกินขนาดซ้ำอีก
  • อาจเจ็บป่วยรุนแรงจนเสียชีวิตได้

การป้องกันการกินยาเกินขนาด

แม้การกินยาเกินขนาดโดยตั้งใจอาจเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก แต่โดยทั่วไปแล้วสามารถป้องกันการกินยาเกินขนาดได้ ดังนี้

  • เก็บยาไว้ในที่ที่ปลอดภัยและพ้นจากมือเด็ก
  • ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งหรือตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด ทั้งด้านขั้นตอน วิธีการใช้ยา และปริมาณยา
  • ไม่ใช้ยาหลายชนิดร่วมกันโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ไม่กินยาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์
  • หากเสพติดยาต่าง ๆ ใช้ยาอย่างผิดจุดประสงค์ หรือใช้สารเสพติดใด ๆ อยู่ ให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าวทันที และหากไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม
  • หากกำลังเผชิญภาวะซึมเศร้าหรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ให้รีบปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากแพทย์ทันที
  • เพื่อน ครอบครัว และผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรช่วยเหลือดูแลให้ผู้ป่วยใช้ยาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ป่วยวัยชราและผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ควรได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ