ขมปาก เป็นอาการผิดปกติทางการรับรสชนิดหนึ่งที่ผู้ที่ป่วยจะรู้สึกขมหรือรู้สึกถึงรสที่คล้ายเหล็กอยู่ในช่องปาก รวมถึงอาจพบว่ารสชาติของอาหารเปลี่ยนไป โดยอาการนี้ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง แต่ก็อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรืออาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารรได้
ขมปากเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุไม่รุนแรงที่เกิดเพียงชั่วคราวและมักดีขึ้นได้จากการแปรงฟันทำความสะอาดช่องปาก อย่างการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มรสขม ไปจนถึงปัญหาสุขภาพบางชนิดที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ โดยวิธีการรักษาอาการนี้ จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและดุลยพินิจของแพทย์
สาเหตุของขมปาก
ขมปากเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในบางครั้งอาจเป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่รับประทานหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสขมเท่านั้น แต่ในบางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพบางอย่างได้ เช่น
- กรดไหลย้อน ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหารเนื่องจากหูรูดส่วนปลายของปลอดอาหารทำงานผิดปกติไป
- ไซนัสอักเสบ ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดจากการที่ไซนัส หรือโพรงอากาศที่อยู่บริเวณใบหน้าเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อ
- ปากแห้ง ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายผลิตน้ำลายออกมาน้อยเกินไป
- วัยทอง วัยทองเป็นภาวะที่ผู้หญิงเริ่มเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน
- ไวรัสตับอักเสบ บี โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการที่ตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV)
- ขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะวิตามินบี 12 และสังกะสี
นอกจากนี้ นอกจากสาเหตุเหล่านี้ อาการขมปากยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น การสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคหรืออาหารเสริมบางชนิด การทำเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา
อาการขมปาก
อาการขมปากเป็นอาการที่ผู้ป่วยจะรู้สึกได้รับรสขมอยู่ในปาก โดยบางคนอาจพบว่ามีอาการเบื่ออาหาร รสชาติอาหารเปลี่ยนไป หรือปากแห้งร่วมด้วย
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการนี้ยังอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย โดยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดอาการขมปาก เช่น ผู้ที่มีสาเหตุมาจากภาวะกรดไหลย้อนก็อาจจะพบอาการแสบร้อนกลางอก โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร อาการกลืนลำบาก และอาการไอแห้งได้
สัญญาณสำคัญของอาการขมปากที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีอาการขมปากควรไปพบแพทย์ หากเห็นว่าอาการเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าอาการขมปากไม่ดีขึ้นเองหลังจากที่แปรงฟันทำความสะอาดช่องปากแล้ว หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย
การวินิจฉัยอาการขมปาก
ในการวินิจฉัยอาการขมปาก แพทย์จะสอบถามอาการของผู้ป่วยที่เกิดขึ้น ตรวจสอบประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย ประวัติการใช้ยาต่าง ๆ รวมถึงตรวจร่างกายในเบื้องต้น จากนั้น แพทย์จะพิจารณาวิธีการตรวจอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยูกับความเป็นไปได้ของสาเหตุและดุลยพินิจของแพทย์
การรักษาอาการขมปาก
สำหรับการรักษาอาการขมปาก แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น หากอาการขมปากของผู้ป่วยเกิดขึ้นจากภาวะกรดไหลย้อน แพทย์ก็อาจแนะนำให้รับประทานยาลดกรด หรือหากอาการขมปากเกิดจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์ก็อาจปรับเปลี่ยนชนิดของยาที่ใช้เป็นยาชนิดอื่นแทน
ภาวะแทรกซ้อนของอาการขมปาก
หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่มีอาการขมปากอาจมีอาการเบื่ออาหารและรับประทานอาหารน้อยลงจนเสี่ยงเกิดการขาดสารอาหาร หรือขาดน้ำได้
การป้องกันอาการขมปาก
การป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการขมปากสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- รักษาความสะอาดให้เพียงพอด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟัน